posttoday

สงขลายามนี้ ‘งามนัก’

16 ธันวาคม 2560

เวลาลงเครื่องบินที่หาดใหญ่จะลืมไปว่าที่นี่คือ “สงขลา” จังหวัดทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีความเจริญด้านการค้ากับพ่อค้าชาวเปอร์เซียและอินเดียมาตั้งแต่ 400 ปีก่อน

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ

เวลาลงเครื่องบินที่หาดใหญ่จะลืมไปว่าที่นี่คือ “สงขลา” จังหวัดทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีความเจริญด้านการค้ากับพ่อค้าชาวเปอร์เซียและอินเดียมาตั้งแต่ 400 ปีก่อน

 จากนั้นถูกพัฒนาให้เป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น กระทั่งในรัชกาลที่ 6 ถูกยกฐานะเป็นจ.สงขลา และยังคงเป็นเมืองการค้าตลอดมา

 ปัจจุบันสงขลาเป็นหนึ่งในจังหวัดศูนย์กลางเศรษฐกิจ การลงทุน และธุรกิจไมซ์* ภาคใต้ โดยมีศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เป็นศูนย์ประชุมระดับนานาชาติรองรับผู้เข้าร่วมงานไมซ์ได้ 4,000 คน ซึ่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้

 รวมถึงยังมีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน และมีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้เป็น “เมืองแห่งไมซ์” หลังผลักดันภูเก็ตให้เป็นไมซ์ซิตี้หลักของภาคใต้แล้ว

 นอกจากนี้ สงขลายังมีอีกบทบาทกับการเป็น “เมืองท่องเที่ยว” ที่ได้รับความนิยมมากของชาวมาเลเซีย ซึ่งคนมาเลย์ใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินจากกัวลาลัมเปอร์ถึงหาดใหญ่เร็วกว่าคนกรุงเทพฯ บวกกับไม่มีทัศนคติด้านลบกับภาคใต้ ทำให้พี่น้องเพื่อนบ้านเห็นสงขลาเป็นจุดหมายปลายทาง

ม.ร.ว.สวัสดิวุฒิ สวัสดิวัตน์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์  จึงขอพาทัวร์เพื่อให้รู้ว่าสงขลามีดีกว่าตลาดกิมหยง มีดีกว่าโชคดีติ่มซำ และมีดีกว่าตัวเมืองหาดใหญ่มาก!

สงขลายามนี้ ‘งามนัก’

ชุมชนกลางทะเลสาบ

 เกาะโดดเดี่ยวกลางทะเลสาบสงขลานาม “เกาะยอ” มีฐานะเป็นตำบลแบ่งเป็น 9 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 15 ตร.กม. โดยสภาพทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเนินเขา มีที่ราบเชิงเขาติดทะเล และมีที่ราบกว้างทางตอนใต้เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยมีสะพานติณสูลานนท์เชื่อมระหว่างเกาะยอกับตำบลใกล้เคียง

 กิจกรรมที่ถูกจริตผู้ใหญ่ต้องนำเสนอการไหว้พระ เพราะบนเกาะยอมีหลายวัดศักดิ์สิทธิ์และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้ง วัดแหลมพ้อ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ วัดท้ายยอ วัดเก่าแก่ที่มีโบราณสถานล้ำค่า คือกุฏิเรือนไทยปั้นหยา 3 หลังติดกัน อายุกว่า 200 ปี มีเอกลักษณ์ตรงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ และเสาเรือนกุฏิที่ไม่ฝังลงดินแต่ตั้งอยู่บนตีนเสา อันเป็นลักษณะเฉพาะของบ้านชาวไทยในภาคใต้เท่านั้น

 วัดเขากุฏิ ตั้งอยู่บนยอดเขากุฏิซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเกาะยอ มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์สมเด็จเจ้าเกาะยอ เป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชาวเกาะยอ โดยในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานห่มผ้าเจดีย์เพื่อนมัสการสมเด็จเจ้าเกาะยอ

 และยังเป็นจุดชมวิวเมืองใหญ่ 2 ทะเล คือ ทะเลสาบและทะเลอ่าวไทย นอกจากนี้ ยังมีวัดโคกเปี้ยว ตั้งอยู่ติดทะเลสาบ ภายในวัดมีโบสถ์เก่าแก่ และต้นละมุด 100 ปี ส่วนวัดเขาบ่อ วัดที่มีความเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับช้างขุด ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสและมักขอพร

 รอบเกาะยอมีถนนลาดยางให้สัญจรและยังมีอีกหลายเสน่ห์ให้ค้นหา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำสวนผลไม้แบบ “สุมรุม” หรือสวนสมรม คือการปลูกผลไม้หลากชนิดภายในสวนเดียว ทำให้มีผลไม้ผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปี เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน และผลไม้ที่มีชื่อของเกาะยออย่าง จำปาดะ ลักษณะคล้ายขนุนแต่ลูกเล็กกว่า รสชาติหวาน กลิ่นหอมไม่แรงมาก สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขก หรือกินสดก็ได้ ซึ่งที่นี่เน้นการปลูกโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำให้นอกจากจะได้ชิมผลไม้สดๆ จากสวน ก็จะได้รับความรู้เรื่องการทำเกษตรปลอดภัยกลับไป

 นอกเหนือจากเกษตรกรรม แน่นอนว่าชุมชนกลางทะเลสาบต้องทำประมง โดยเกาะยอเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย เนื้อแน่น จนกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อที่ต้องสั่งมารับประทาน

 จากนั้นหากกำลังมองหาของฝาก ผ้าทอเกาะยออาจเป็นทางเลือกที่ดี มีลายเอกลักษณ์คือ ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล และดอกพะยอม ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทยมาก

 ต.เกาะยออยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.เมืองสงขลา การเดินทางมายังเกาะยอมีสะพานติณสูลานนท์ 2 ช่วงเชื่อมเกาะยอกับฝั่ง อ.เมืองสงขลาและสิงหนคร

สงขลายามนี้ ‘งามนัก’

เหล่เมืองเก่า

 กลับมาเยือนเมืองเก่าสงขลาครั้งนี้มีเรื่องให้ตื่นตาตื่นใจ ไม่ใช่แค่สตรีทอาร์ตที่ซ่อนตัวอยู่ตามตรอกซอกซอย แต่เป็นความร่วมมือของรัฐและเอกชนที่ช่วยกันอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอย่างสร้างสรรค์ผ่านการท่องเที่ยว

 ทางเทศบาลนครสงขลาเปิดให้บริการรถรางชมเมืองฟรี ทุกวัน วันละ 5 รอบ (songkhlacity.go.th) โดยจะพาไปแวะตามจุดที่น่าสนใจ 9 จุดเพื่อให้รู้จักและเห็นภาพรวมของเมืองเก่าสงขลาทั้งหมดภายในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง

 ยกตัวอย่าง ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ สร้างขึ้นบริเวณชายหาดสมิหลาเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวและชาวสงขลา พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ (บ้านของตระกูลติณสูลานนท์) เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 จากนั้นยังพาไปแชะภาพที่ ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ท่าเรือที่ล้อมรอบด้วยตึกเก่า ทางเดินปูด้วยอิฐ ล้อมรอบด้วยต้นไม้ จนกลายเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ต่อด้วยบ้านสงครามโลก ลักษณะเป็นอาคารสูงแบบจีน โดยในปี 2488 ที่นี่ถูกกองทัพอากาศอังกฤษทิ้งระเบิดใส่ เพราะคิดว่าเป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น

 และที่พลาดไม่ได้คือ หับ โห้ หิ้น โรงสีข้าวทาสีแดงสด อายุร่วม 100 ปี ในอดีตเคยเป็นโรงสีขาวที่ทันสมัยที่สุดและอยู่ติดแม่น้ำทำให้ค้าขายสะดวก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ผู้ปลุกกระแสการท่องเที่ยวสงขลาให้กลับมาคึกคัก

 นอกจากนี้ รถรางจะพาไปหยุดที่ สตรีทอาร์ต ใหญ่ๆ อย่างภาพคนดื่มชายามเช้า และภาพวิถีคนประมง ซึ่งภาพตามผนังอาคารจะซุกซ่อนอยู่บนถนน 3 สายไล่เรียงจากริมทะเลสาบสงขลาเข้ามา ได้แก่ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม

 แต่ที่ต้องเขียนตัวหนาปักหมุดว่าสำคัญต้องยกให้ “บ้านนครใน” พิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งแรกของเมืองสงขลาที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านเรือนเมื่อศตวรรษที่แล้ว เช่น เตียงไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี เซรามิกจีน และรูปถ่ายเมืองสงขลาตั้งแต่ยุคที่สงขลายังมีประตูเมืองจนไปถึงยุคสงครามโลก รวมทั้งมีห้องจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะ

 กระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ เจ้าของธุรกิจร้านทองหยงเตียนเป็นผู้ลงทุนในการปรับปรุงอาคารเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน อาคารอยู่ในกลุ่มอาคารทรงชิโน-ยูโรเปี้ยน 2 หลัง ได้แก่ อาคารไม้สองชั้น และอาคารปูนสูง 4 ชั้นสีขาว โดยพิพิธภัณฑ์ยังเปิดให้เข้าชมแค่อาคารไม้และชั้นล่างของอาคารปูน ส่วนนิทรรศการเต็มรูปแบบมีกำหนดเปิดให้เข้าชมปลายปี 2561

 นอกจากอาคารเก่าแก่ ในย่านเมืองเก่าสงขลายังเด่นเรื่อง ขนมและอาหารทั้งไทย จีน ฝรั่ง โดยเฉพาะบนถนนนางงามที่มีทั้งร้านขนมไทย เช่น ร้านสอง-แสน ขายสำปันนี ขี้มอด ทองเอก ข้าวฟ่างกวน ขนมเทียนสด ซึ่งเป็นขนมโบราณหากินยาก ร้านไอศกรีม ร้านกาแฟโบราณ ร้านซาลาเปา ร้านโจ๊กเกาะลอย ร้านเกียดฟั่ง (โกยาว) ขายข้าวสตู หรือจะเปิดประสบการณ์ใหม่ลองกิน ก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้ว ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา

สงขลายามนี้ ‘งามนัก’

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา

 เป็นศาลเจ้าแห่งเดียวในโลกที่ประดิษฐานทั้งเสาหลักเมือง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติพราหมณ์ และเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามคติจีนอยู่ร่วมกันในอาคารเดียว โดยเสาหลักเมืองสงขลา คือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นที่เป็นสิริมงคลของเมืองสงขลาที่บ่อยาง

 แต่เดิมเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 3 และเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า ได้แก่ เทวดาฟ้าดิน (ถี่ก้อง)เจ้าพ่อหลักเมือง พระเสื้อเมือง เจ้าแม่ทับทิม พระครูหมอ พระทรงเมือง เจ้าแม่กวนอิม และหมึงสิน (ทวารบาล)

เงือกสาวสมิหลา

 มาเยือนสงขลา แล้วไม่ได้มาสัมผัสหาดสมิหลาถือว่ามาไม่ถึง งดงามด้วยชายหาดยาว ทรายละเอียดดังสมญานามทรายแก้ว ร่มรื่นด้วยแนวต้นสนริมหาด และมองเห็นทิวทัศน์ของเกาะหนูเกาะแมวที่มีตำนานเล่าขานมาช้านาน

 ไฮไลต์สำคัญคือ “ประติมากรรมเงือกทอง” สร้างขึ้นปี 2509 หล่อขึ้นจากบรอนซ์รมดำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของหาดสมิหลา โดยเหตุที่ต้องเป็นนางเงือกนั้น เป็นเพราะนิทานปรัมปราไทยเรื่องหนึ่งเล่าว่า ในคืนท้องฟ้างาม ณ ชายหาดสวยแห่งหนึ่ง จะมีนางเงือกขึ้นมาจากทะเลมานั่งหวีผม จึงปั้นนางเงือกขึ้นบนหาดสมิหลา และมีความเชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวว่า หากลูบคลำอกนางเงือกจะได้กลับมาสงขลาอีก ทำให้จากบรอนซ์รมดำกลายเป็นสีทองเฉพาะจุด ซึ่งหากนางเงือกมีชีวิตคงหนีลงน้ำเหมือนในนิทาน

สงขลายามนี้ ‘งามนัก’

เขาคอหงส์ชมวิว

 เย็นย่ำยามอัสดง ผู้คนทั้งคนโสด คู่รัก และครอบครัวต่างเดินทางไปยัง “เขาคอหงส์” เพื่อชมพระอาทิตย์ตกฟ้าและดาวบนดินของเมืองหาดใหญ่ ซึ่งทุกคนจะหันหน้าออกไปทางเดียวกับพระพุทธมงคลมหาราช พระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่เขาคอหงส์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางประทานพรที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ หล่อด้วยทองเหลือง สูง 19.90 ม. หนัก 200 ตัน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวหาดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2542 และที่นี่ยังมีเคเบิลคาร์พาขึ้นเขาไปรอชมฉากฟินาเล่ปิดท้ายวันสุดอลังการ

 ขากลับขณะรอขึ้นเครื่องบินที่หาดใหญ่ ความทรงจำที่เก็บเกี่ยวมาตลอดทางทำให้ไม่อาจลืมได้แล้วว่า สงขลาหน้าตาเป็นอย่างไร แม้ความมั่งคั่งในอดีตจะเลือนไป แต่ความร่ำรวยเสน่หากลับมาแทนที่ ทั้งภาพชุมชน ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ล้วนประกอบร่างสร้างเป็นตัวตนของสงขลาเมืองงาม