posttoday

หยุดทั้งที ต้องได้เที่ยวและเรียนรู้ ‘ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ’

09 ธันวาคม 2560

หมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนสกลนคร สาวกสายกรีนต้องไปเช็กอินที่ ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โดย /ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย 

 หมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนสกลนคร สาวกสายกรีนต้องไปเช็กอินที่ ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้วิถีพอเพียงตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เห็นและสัมผัสของจริงผ่านฐานเรียนรู้

 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานถือเป็นหัวใจของภาคอีสาน เพราะเป็นสถานศึกษา ทดลอง และพัฒนาการอาชีพด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ชุมชนรรอบศูนย์ฯ และเกษตรกรทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้และยืนได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง

 ปัจจุบันนับเป็นเวลา 33 ปีที่ศูนย์ฯ ได้ดำเนินงานมา มีผลการศึกษาทดลองกว่า 200 เรื่อง และมีผลสำเร็จจากการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่มีความโดดเด่น 19 เรื่อง ซึ่งสามารถนำไปขยายผลเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของเกษตรกรได้ โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นไฮไลต์ผ่านการนั่งรถรางพร้อมผู้บรรยายที่จะให้ข้อมูล

หยุดทั้งที ต้องได้เที่ยวและเรียนรู้ ‘ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ’

 สถานีแรกรถรางจะจอดที่ “การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์” ซึ่งเป็นการเลี้ยงปลาในพื้นที่จำกัด น้ำไม่เสีย และยังได้ปลาคุณภาพดี รวมถึงการเลี้ยงปลาคราฟในบ่อซีเมนต์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาผ่านขวดนม ดูความแสนรู้ของปลาสีสวย

 จากนั้นรถรางยังพาไปทัวร์ในเรื่องของปลาต่อที่สถานี “การเลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับเป็ดบาบาลี” แนวคิดนี้ทางศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้ราษฎรได้เรียนรู้เพื่อน้ำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพเสริมในลักษณะการผสมผสาน เนื่องจากปัจจัยหลักของการเกษตรต้องมีแหล่งน้ำ เช่น สระหรือบ่อเลี้ยงปลา

 โดยเฉพาะปลานิลแดงที่เหมาะแก่สภาพพื้นที่ภาคอีสาน ใน 1 บ่อสามารถเลี้ยงปลานิลแดงได้ 1 รุ่น ใช้เวลา 8 เดือน ขณะเดียวกันก็สามารถเลี้ยงเป็ดบาบาลีลูกผสมได้ 2 รุ่น ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากทั้งปลานิลและเป็ด

หยุดทั้งที ต้องได้เที่ยวและเรียนรู้ ‘ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ’

 ทว่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคงต้องกล่าวถึง “3 ดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน” รถรางจะพาไปเรียนรู้ ไก่ดำภูพาน สุกรดำภูพาน และโคเนื้อทาจิมะภูพาน

 ไก่ดำภูพานจัดเป็นอาหารบำรุงสุขภาพและได้รับความนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งไก่ดำภูพานเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์ฯ ได้ศึกษาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ไก่ดำพันธุ์ดี ทนโรค เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง รวมถึงยังขายได้ราคาดีกว่าไก่เนื้อทั่วไปถึง 3 เท่า

 ส่วนการเลี้ยงสุกรภูพาน เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์จากสุกร 4 สายพันธุ์ที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน คือ พันธุ์เหมยซาน พันธุ์พื้นเมืองสกลนคร พันธุ์ดูร็อกเจอร์ซี่ และพันธุ์แลนด์เรซ เพื่อให้ได้สุกรที่มีคุณสมบัติพิเศษ เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ลูกดก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์การเลี้ยงของเกษตรกรได้อย่างดี

หยุดทั้งที ต้องได้เที่ยวและเรียนรู้ ‘ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ’

 โดยปัจจุบันสามารถผลิตสุกรภูพานได้ 2 สายพันธุ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่หลากหลาย

 ปิดท้ายที่โคทาจิมะภูพาน เป็นโคสายพันธุ์ที่ให้เนื้อคุณภาพดีที่สุดในโลก มีความนุ่ม ไขมันแทรกเกรดสูง และมีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวกรดไขมันอิ่มตัวสูงกว่าโคทั่วไป ทำให้เนื้อโคทาจิมะปลอดภัยต่อการบริโภค

 ปัจจุบันการพัฒนาโคเนื้อทาจิมะยังมุ่งเน้นการใช้โคแม่พันธุ์ที่ราษฎรมีอยู่แล้วมาผสมกับน้ำเชื้อโคทาจิมะภูพาน แล้วทำการขุนลูกโคเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

 นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้กับโคทาจิมะภูพาน ยังเป็นสถานที่เลี้ยง “กวางรูซ่า” ซึ่งทางศูนย์ฯ จะแปรรูปเขาอ่อนกวางไปทำแคปซูลเพื่อสุขภาพ และที่สำคัญที่สุด รถรางจะพาไปหยุดที่ “เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งดินและน้ำที่มีอยู่จำกัดในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง เน้นวิถีแห่งการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ด้วยปัจจัยที่มีอยู่ในพื้นที่ลดพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้มากที่สุดเช่นกัน

หยุดทั้งที ต้องได้เที่ยวและเรียนรู้ ‘ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ’

 ด้วยวิธีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังพอมีพอกินไม่อดอยาก ร่วมแรงร่วมใจในเรื่องของการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม ศาสนา และร่วมมือกับแหล่งเงินและพลังงาน เช่น การตั้งบริการโรงสี ตั้งบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน และช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกันของชุมชน 

 ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้าไปเรียนรู้เรื่องเกษตรและวิถีพอเพียง ซึ่งสิ่งที่ได้รับกลับมาไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้และความประทับใจ เพราะยังสามารถซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปเป็นของฝากช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน

 ศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. โทร. 0-4274-7458-9, 0-4271-2975