posttoday

ตามหาแรงโน้มถ่วง ปั้นหม้อบ้านทุ่งหลวงสุโขทัย

19 พฤศจิกายน 2560

ใครที่นั่งเครื่องบินไปสุโขทัยแล้วมองเห็นแผ่นดินรูปหัวใจ คงสงสัยว่าที่นั่นคือที่ไหน และไม่แคล้วต้องฉงนใจถ้าเฉลยว่าที่นั่นคือ แก้มลิง

โดย/ภาพ กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ใครที่นั่งเครื่องบินไปสุโขทัยแล้วมองเห็นแผ่นดินรูปหัวใจ คงสงสัยว่าที่นั่นคือที่ไหน และไม่แคล้วต้องฉงนใจถ้าเฉลยว่าที่นั่นคือ แก้มลิง

ในวิชารักแรงโน้มถ่วง 1 ใน 9 วิชา ๙ หน้า ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สอนให้รู้จัก “โครงการแก้มลิงในพระราชดำริ ทุ่งทะเลหลวง” ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย หรือแก้มลิงตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9

เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนสุโขทัยเมื่อปี 2535 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “แม่น้ำยมในฤดูฝนมีน้ำมาก ในฤดูแล้งเกือบไม่มีน้ำ ให้พิจารณากั้นน้ำเป็นช่วงๆ เพื่อผันน้ำเข้าคลองธรรมชาติที่มีอยู่เดิมทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำยมและขุดลอกให้สามารถส่งน้ำไปกักเก็บไว้ตามหนองบึงตามธรรมชาติได้”

ตามหาแรงโน้มถ่วง ปั้นหม้อบ้านทุ่งหลวงสุโขทัย

อันเป็นที่มาของโครงการพัฒนาและจัดการแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ทุ่งทะเลหลวง โดยได้น้อมนำตำราแก้มลิงมาใช้เพื่อให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ กักเก็บน้ำไว้ในช่วงหน้าแล้ง และบรรเทาอุทกภัยในช่วงหน้าฝน ด้วยการเป็นแหล่งรับน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหล่บ่าล้นตลิ่งฝั่งขวา น้ำห้วยท่าแพ น้ำแม่มอก ที่ไหลมาจากสวรรคโลก และน้ำแม่รำพัน น้ำแม่กองค่าย จากบ้านด่านลานหอย ให้ไหลมารวมกันบริเวณที่ลุ่มซึ่งเป็นหลักการตามธรรมชาติของแรงโน้มถ่วงโลก

การทำแก้มลิง คือ การจัดหาพื้นที่ เช่น สระ คลอง บึง หรือพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่เพื่อชะลอและรองรับมวลน้ำที่จะไหลบ่าลงมาเป็นการชั่วคราว เมื่อน้ำในทะเลลดลงจึงค่อยๆ ระบายน้ำในแก้มลิงลงสู่ทะเลตามหลักแรงโน้มถ่วง โดยทฤษฎีนี้ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้มองเห็นจากพฤติกรรมของลิงทรงเลี้ยงสมัยพระเยาว์ เพราะเวลาที่ยื่นกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือกแล้วเคี้ยวอย่างรวดเร็ว แต่แทนที่จะกลืนลงไปกลับกักอาหารไว้จนเต็มกระพุ้งแก้ม พอถึงเวลาจึงค่อยดุนกล้วยมากินทีละนิดในภายหลัง

แก้มลิงในทุ่งทะเลหลวงมีความบังเอิญตามลักษณะภูมิประเทศทำให้มีลักษณะเป็นรูปหัวใจขนาดใหญ่ ส่วนเกาะที่ยื่นออกมาได้ถูกออกแบบเป็นรูปหัวใจตามนั้น ในปี 2553 มีการทำบุญพิธีกลั่นแผ่นดิน ทุกครอบครัวในแต่ละหมู่บ้านจำนวน 843 หมู่บ้านได้นำดินจากหมู่บ้านมาที่บริเวณเกาะกลางน้ำ แล้วตั้งปณิธานร่วมกันว่า จะร่วมกันสร้างแผ่นดินนี้ให้เจริญรุ่งเรือง จากนั้นได้นำดินของทุกคนไปวางรองรับพระพุทธรัตนสิริสุโขทัย ณ มณฑปทรงจตุรมุข และเรียกพื้นที่นี้ว่า “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ” เพื่อสื่อถึงแผ่นดินที่เป็นศูนย์รวมแห่งความรัก ความปรองดองของชาวสุโขทัยและเชื่อมโยงความผูกพันกับบรรพบุรุษสมัยสุโขทัยด้วย

พระพุทธรัตนสิริสุโขทัย ที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปทรงจตุรมุขบนเกาะกลางน้ำนั้น เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 700 ปี ทำจากสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย คาดว่า สร้างมาตั้งแต่ปี 1845 ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ซึ่งเคยจมอยู่ในแม่น้ำยมก่อนถูกค้นพบในปี 2546 และได้อัญเชิญมาประดิษฐานบนมณฑปกลางน้ำ

ตามหาแรงโน้มถ่วง ปั้นหม้อบ้านทุ่งหลวงสุโขทัย

นอกจากนี้ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุโขทัย บนเส้นทางเดินรอบมณฑปท่ามกลางสวนต้นไม้และความสวยงามของผืนน้ำที่จะยิ่งสวยงามขึ้นในช่วงพระอาทิตย์ตก

ห่างจากทุ่งทะเลหลวงไปไม่ไกลจะมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจตามวิถีใกล้ชิดกับแหล่งน้ำและดิน ณ “บ้านทุ่งหลวง” อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา บ้านหน้าวัดลาย ที่ชาวบ้านได้นำดินจากแหล่งน้ำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผานานนับร้อยๆ ปี

หนองทองเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ของบ้านทุ่งหลวงที่ชาวบ้านจะใช้ดินจากแหล่งน้ำนี้ไปผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในจดหมายที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ได้บันทึกเมื่อครั้งเดินทางมาสำรวจมณฑลพิษณุโลก เมื่อปี 2544 ว่า

“วันที่ 18 เวลาตื่นนอนเช้า พระยาสุโขทัยเอาหม้อกรันมาให้ 3 ใบ เป็นหม้อที่ตั้งใจทำอย่างประณีต ภาษาบ้านนอกเขาทำที่บ้านทุ่งหลวงอยู่ใต้เมืองสุโขทัยตะวันตก หม้อใหญ่กระพุงเกือบ 2 ศอก เขาก็ทำมีชุมพละสีหะสมคราม ให้มาแต่วังไม้ขรก็มี”

ตามหาแรงโน้มถ่วง ปั้นหม้อบ้านทุ่งหลวงสุโขทัย

ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบ้านทุ่งหลวง มีการปั้นเครื่องปั้นดินเผามานานนับร้อยปี ซึ่งหม้อกรันที่ถูกบันทึกไว้นั้นเป็นหม้อน้ำโบราณ คนโบราณเชื่อว่า หากมีไว้ในบ้านจะช่วยเสริมสิริมงคล จึงมักให้เป็นของขวัญหรือของชำร่วยในงานพิธีขึ้นบ้านใหม่ ตามคำพ้องเสียง กรัน และ กัน นอกจากนี้ องค์ประกอบของหม้อกรันยังมีความหมายที่ดี ฝาปิด หมายถึง มีกินมีใช้ กระพุงตรงกลาง หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ และฐาน หมายถึง ความมั่นคงในการดำรงชีวิต

บ้านทุ่งหลวงมีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่แตกต่างจากที่อื่น คือ นอกจากดินเหนียวจะมีสีดำสนิทแล้ว ยังมีการผสมทรายลงไปเพื่อทำให้แข็งแกร่ง ทนความร้อนได้มากขึ้น เมื่อเผาจะได้สีแดงมันวาว ซึ่งในอดีตเตาเผาจะเป็นเตาสุมแบบเปิดโล่ง แต่ปัจจุบันมีการก่อกำแพงอิฐล้อมรอบ ใช้ความร้อน 1,250 องศาเซลเซียส เผานานถึง 2 วันจะเสร็จสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวสามารถชมกระบวนการทำและซื้อเครื่องปั้นดินเผาราคาไม่แพงได้ที่ “วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน” โดยมีชาวบ้านมาสาธิตการทำหม้อกรัน การพิมพ์ลายด้วยไม้แกะสลัก หรือจะลองลงมือปั้นหม้อด้วยเครื่องปั้นโบราณก็จะได้เรียนรู้และซึมซับวิถีชาวบ้านไปในตัว ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงทุกชิ้นถือว่ามีชิ้นเดียวในโลก เพราะกระบวนการทำด้วยมือหรือแฮนด์เมดทั้งหมดทำให้ทุกชิ้นจะมีความแตกต่างบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์

ตามหาแรงโน้มถ่วง ปั้นหม้อบ้านทุ่งหลวงสุโขทัย

สำหรับใครที่เดินจนติดลมและติดใจก็สามารถพักค้างแรมแบบโฮมสเตย์ได้ในบ้านทุ่งหลวง โดยมีกลุ่มท่องเที่ยวโฮมสเตย์เป็นผู้จัดการ ราคาโฮมสเตย์เริ่มต้นที่ราคา 600-1,000 บาท พร้อมอาหารพื้นบ้าน และหากไปในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวก็อาจมีกิจกรรมเสริมเป็นการเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมเพิ่มเติมจากหัตถกรรมด้วย

ติดต่อ วันชัย โมรัษเฐียร ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงและประสานงานการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ โทร. 08-1281-1367