posttoday

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน'

11 พฤศจิกายน 2560

หากกล่าวถึงทะเลบัวแดงของไทย ต้องยกให้ "ทะเลบัวแดงหนองหาน" จ.อุดรธานี

 โดย/ภาพ : จำลอง บุญสอง

 หากกล่าวถึงทะเลบัวแดงของไทย ต้องยกให้ "ทะเลบัวแดงหนองหาน" จ.อุดรธานี พื้นที่ทะเลสาบน้ำจืดที่มีชื่อติดอันดับโลก สถานที่ที่อุดมไปด้วยดอกบัวสีชมพูหรือบัวสาย หรือที่เราเรียกกันว่าบัวแดงตามธรรมชาติขนาดหลายพันไร่ โดยมันจะชูช่อในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.ค. ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเดินทางสู่ภาคอีสานจำนวนมาก

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' ทะเลบัวแดงหนองหาน

 หนองหานคือทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขต อ.กุมภวาปี และพื้นที่บางส่วนใน อ.ประจักษ์ศิลปาคม ของ จ.อุดรธานี โดยทะเลบัวแดงจะค่อยๆ บานตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. บานเต็มที่ช่วงเดือน ม.ค. และค่อยๆ โรยในปลายเดือน ก.พ. จนกระทั่งหมดฤดูกาลทะเลบัวแดงราวเดือน มี.ค. บัวแดงหรือบัวสายนั้นจะบานในช่วงเช้าตรู่จนถึงเวลาประมาณ 11.00 น. ก่อนแสงแดดจะร้อนจัดจนกลีบดอกต้องหุบตัว

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 10 บัวสาย

 นักท่องเที่ยวสามารถชมบัวแดงอย่างใกล้ชิด โดยการนั่งเรือท้องแบนของชาวบ้านไปตามร่องน้ำ เพื่อถ่ายภาพกับเหล่าบัวสาย ชมฝูงนกท้องถิ่นและนกอพยพ รวมถึงแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนวัดกลางน้ำ โดยใช้เวลาล่องเรืออย่างจุใจได้ถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 01 ทะเลภูเขาหินปูนยามเช้าเหนือหมู่บ้านชนเผ่าหยีที่ตั้งอยู่ริมน้ำ

 อีกฟากหนึ่งของอีกประเทศ ณ “ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย” ที่ตั้งอยู่ในอำเภอชิวแป๊ะ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้รับการโปรโมทจากสื่อในประเทศจีนว่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีบัวหลวงยิ่งใหญ่และสวยงาม จนทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับขึ้นมา

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 02 ล่องเรือชมทิวทัศน์สองข้างทาง

 ทุกวันนี้มีชาวจีนนับล้านๆ คนเดินทางมาท่องเที่ยวพื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 388 ตร.กม.แห่งนี้ เพื่อชมความยิ่งใหญ่ของทะเลบัวหลวง ซึ่งในพื้นที่นั้นประกอบด้วยทะเลสาบน้อยใหญ่รวมกันมากถึง 54 ทะเลสาบติดต่อกัน ท่ามกลางภูเขาหินปูนที่เรียงรายล้อมรอบพื้นที่

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 03 ฝักบัวหลวง

 ทว่า เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คณะคาราวานไทย-จีนมีโอกาสได้ไปเยือนพื้นที่ดังกล่าว แต่น่าเสียดายที่ดอกบัวหลวงไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ทิ้งไว้เพียงใบบัวนับล้านๆ ใบพลิ้วลมฝนเพื่อรอลมหนาวมาเยือนในไม่อีกกี่เพลาข้างหน้า ช่วงนี้จึงเป็นช่วงพักตัวของมัน โดยใบบัวทุกใบมีรอยหนอนบุ้งเจาะกินตามวงจรชีวิตธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างนี้ในทุกๆ ปี

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 08 นกกระสาแดงที่มาหากินในหนองหาน

 แม้ว่ามันจะดูไม่สวยงามเหมือนตอนมีดอกบัวหลวงสีชมพูและสีขาว แต่เมื่อเห็นใบบัวพลิ้วรวมกันนับพันๆ ไร่ ทุกคนก็สามารถจินตนาการได้ถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ในยามที่มันออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือน ก.ค. หรือช่วงฤดูฝนของยูนนาน ซึ่งหวังว่าคงได้มีโอกาสกลับมาชื่นชมสักครั้งในยามฤดูบัวบาน

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 11 นักท่องเที่ยวไทยบนเรือท้องแบนของชาวบ้านบ้านเดียม

 อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปชมทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮยทำได้ 2 ทาง คือ ใช้รถไฟฟ้าที่บรรทุกคนได้กว่า 20 คน พาไปยังจุดที่มีบัวอยู่รอบๆ เกาะขนาดย่อมที่รัฐบาลท้องถิ่นตระเตรียมสะพานข้ามไว้ให้นักท่องเที่ยวไปดู หรือใช้เรือยนต์ขนาดใหญ่ บรรทุกคนได้ประมาณ 50 คน วิ่งไปตามเส้นทางน้ำในทะเลบัวหลวง (แบบที่คนไทยเช่าเรือท้องแบนชมทะเลบัวแดงหนองหาน) ซึ่งงานนี้ก็ย่อมต้องเสียเงินค่าบริการกันไป แต่ได้อรรถรสของธรรมชาติบนผืนน้ำอย่างใกล้ชิด

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 07 ล่องเรือชมทะเลบัวแดง

 ในช่วงที่บัวหลวงไม่ออกดอกก็ไม่ต้องลงเรือไปดู จะเสียเงินเปล่า ให้นั่งรถไปดีกว่าเพราะราคาถูก แถมยังมีโอกาสได้ถ่ายรูปบรรยากาศทะเลใบบัวกับทิวเขาหินปูน 312 ยอด โดยยามเช้าของฤดูหนาวเช่นช่วงนี้ บริเวณยอดบึงจะอบอวลไปด้วยหมอกหนาวของฤดูกาลแบบภาคเหนือของไทย แต่เสียดายอีกที่อยู่รอไม่ได้!

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน' 09 วันดีคืนดีก็จะมีช่างภาพเอานางแบบมาถ่ายรูปในทะเลบัวแดง

 นอกจากนี้ บริเวณรอบพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าหยี ชนเผ่าที่หากินอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำมานานนม ไม่ต่างอะไรกับชาวไตลื้อที่อยู่ริมน้ำโขงนั่นแหละ แต่ตอนนี้ดูไม่ออกแล้วว่าคนไหนเป็นชนเผ่าหยี คนไหนเป็นฮั่น เพราะพวกฮั่นเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่จนเกือบหาชนเผ่าหยีแท้ๆ ไม่ได้แล้ว

 หลังจากขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นเหนือทะเลบัวหลวง ตกสายหน่อยนักท่องเที่ยวมักออกไปนั่งเรือพายที่ชนเผ่าหยีเป็นคนพายให้ไปชมตามลำน้ำ ระหว่างที่พายเรือจะมีการเอาขันหรือกระป๋องเล็กๆ สาดใส่กัน เอาไม้พายตีน้ำใส่กันเป็นที่สนุกสนาน จึงไม่แปลกว่าทำไมระหว่างเดินทางมาขึ้นเรือ มีถังน้ำพลาสติกกับขันน้ำพลาสติกขายพร้อมกับอาหารพื้นเมืองของชนเผ่าหยี โดยทุกคนเต็มใจที่จะเล่นโดยเฉพาะเด็กๆ และหนุ่มสาวที่ซื้อถังน้ำและขันไปในมือ ส่วนช่างภาพที่ถือกล้องอย่างพวกเราก็ไม่ต้องห่วง เขาจะไม่สาดเราแน่ เขารู้ว่าไม่ได้มาเล่น เพราะไม่มีถังและขันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมเล่นอยู่ในมือ

'ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย' ปะทะ 'ทะเลบัวแดงหนองหาน'

 ไกด์ยังให้ข้อมูลต่อว่า พื้นที่อุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำ 388 ตร.กม. มีพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวได้จริงเพียง 165 ตร.กม.เท่านั้น เพราะนอกนั้นเป็นภูเขาหินปูน พื้นที่อยู่อาศัย (ริมน้ำและบ้านบนน้ำ) และพื้นที่นา แต่ในพื้นที่ร้อยกว่าตารางกิโลเมตรนั้นก็มีแหล่งท่องเที่ยวมากถึง 265 แห่งทีเดียว และความที่เป็นภูเขาหินปูน มันจึงกำเนิดถ้ำใหญ่จากการกัดเซาะของฝนถึง 83 ถ้ำ มีสัตว์บก 16 ชนิด ครึ่งบกครึ่งน้ำ 6 ชนิด ปลา 18 ชนิด มีนกทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพรวมแล้ว 142 ชนิด โดยอุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ซึ่งเป็นอุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งเดียวของมณฑลยูนนาน มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400-1,500 เมตร

 ผมไปแล้วก็นึกถึงทะเลบัวแดงบ้านเรา น่าจะเป็น “สถานที่ท่องเที่ยวพี่น้อง” กันได้ แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันก็ต้องบอกว่ามันคนละบริบทกัน เพราะที่นั่นคือทะเลบัวหลวงที่สีสันอาจจะไม่สวยสดเท่าทะเลบัวแดงที่มีสีสดใสฉูดฉาดกว่า แต่ถ้าเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยทะเลภูเขาหินปูนแล้วที่ยิ่งใหญ่แล้ว เราอาจจะสู้เขาไม่ได้ ทางที่ดีไทยและจีนควรจะจัด 2 บึงนี้ให้เป็นบึงคู่แฝดกัน แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวกันน่าจะดีกว่า วิน-วินด้วยกันทั้งสองประเทศ และก็นั่งยันนอนยัน ตีลังกายันเลยว่า สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่คู่แข่งทางการตลาดของบัวแดงไทย เพราะมันต่างวัฒนธรรมภาษาและบริบทของพื้นที่กัน

 ทั้งนี้ การจัดคาราวานสานสัมพันธ์ไทย-จีน เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2557 ภายใต้ชื่อ อัลไตสู่ประเทศไทย โดยครั้งนั้นมีรถเข้าร่วมเพียง 6 คัน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2558 ใช้ชื่อว่า 1,500 ไมล์ เส้นทางสายไหมตามรอยพุทธศาสนา มีจำนวนรถที่เข้าร่วมโครงการครั้งนั้น 10 คัน ครั้งที่ 3 เป็นโครงการคาราวานรถยนต์สานสัมพันธ์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจากดินแดนเจงกิสข่านมองโกเลียในเมืองออโดส สู่เหนือ อีสาน กลางของไทย และในปีนี้เป็นครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ โครงการคาราวานรถยนต์ สานสัมพันธ์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวล้านช้างแม่โขง ไทย-จีน ครอบคลุมเส้นทางเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง เข้าสู่ลาว ไทย กัมพูชา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 31 วัน

...........ใต้ภาพ..........

00 (รูปเปิด) ทะเลบัวหลวงผูจื่อเฮย แฝดคนละฝากับทะเลบัวแดงหนองหาน

01 ทะเลภูเขาหินปูนยามเช้าเหนือหมู่บ้านชนเผ่าหยีที่ตั้งอยู่ริมน้ำ

02 ล่องเรือชมทิวทัศน์สองข้างทาง

03 ฝักบัวหลวง

04 เล่นสาดน้ำกันระหว่างนั่งเรือไปชมทิวทัศน์ โดยต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักกัน

05 สะพานข้ามเกาะที่ไปยืนชมทะเลบัวหลวงได้

06 เรือนับพันลำรอนักท่องเที่ยว ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวนับล้านคน

07 ล่องเรือชมทะเลบัวแดง

08 นกกระสาแดงที่มาหากินในหนองหาน

09 วันดีคืนดีก็จะมีช่างภาพเอานางแบบมาถ่ายรูปในทะเลบัวแดง  

10 บัวสาย

11 นักท่องเที่ยวไทยบนเรือท้องแบนของชาวบ้านบ้านเดียม