posttoday

ก้าวตามตำราพ่อ วิชาธรรมชาติ (สามัคคี)

28 ตุลาคม 2560

ศาสตร์พระราชา คือ ของขวัญล้ำค่าของแผ่นดินไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

 ศาสตร์พระราชา คือ ของขวัญล้ำค่าของแผ่นดินไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประทานไว้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งจะเป็นตำราของแผ่นดินไทยไปตลอดกาล

 "วิชา ๙ หน้า" ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ เป็นโครงการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้คัดเลือก 9 วิชา นำเสนอผ่าน 9 บุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิดในแวดวงต่างๆ ให้ลงไปสัมผัสในชุมชนที่ได้น้อมนำหลักการและแนวคิดของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตและพัฒนาชุมชนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างในพื้นที่ “พิษณุโลก” ที่ตั้งของวิชาธรรมชาติ (สามัคคี) บทที่กล่าวถึงป่าไม้และชาวเขาที่พลิกปัญหาสู่ความยั่งยืน 

ก้าวตามตำราพ่อ วิชาธรรมชาติ (สามัคคี) 01 ปลูกกาแฟใต้ต้นสน

วิชาธรรมชาติ (สามัคคี)

 สายหมอก ดอกไม้ และป่าใหญ่ เป็นความสมบูรณ์และสวยงามที่เกิดขึ้นหลังการก่อตั้ง โครงการพัฒนาป่าไม้ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก ที่หยิบยกแนวทางพระราชดำริมาเป็นฐานเพื่อแก้ไขปัญหาจนสามารถพลิกเขาหัวโล้นให้เป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่าง “คนกับป่า” อย่างสามัคคี

 ในอดีตภูหินร่องกล้า เคยเป็นฐานบัญชาการของกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก อ.ด่านซ้าย จ.เลย และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ บวกกับสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทำให้ผู้ก่อการยึดพื้นที่เป็นสมรภูมิสำคัญ

 ต่อมารัฐบาลไทยได้ประกาศใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ทำให้ผู้ก่อการจำนวนมากเคลื่อนพลออกจากป่า มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สมรภูมิรบจึงถูกทิ้งร้าง ซึ่งหลังจากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้ภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติอันดับที่ 48 ของไทย

 อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการบุกรุกแผ้วถางป่ายังคงเกิดขึ้น เนื่องจากชาวบ้านบนภูเขาส่วนใหญ่เป็นชาวม้งที่ยึดอาชีพปลูกฝิ่น กะหล่ำปลี และไร่เลื่อนลอย จนลุกลามกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชนเผ่า

 ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจึงต้องเร่งแก้ไข โดยนำแนวพระราชดำริเข้ามาใช้ คือ สนับสนุนให้ชาวม้งและชาวบ้านเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น กาแฟพันธุ์อะราบิก้า และสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 ประกอบกับให้ความรู้เรื่องป่าไม้ สอนวิธีดูแลแหล่งน้ำ กระทั่งทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกันป่า และภูหินร่องกล้าก็กลับมาอุดมสมบูรณ์

 เช่นเดียวกับในพื้นที่โครงการพัฒนาป่าไม้ฯ ที่มีชาวไทยภูเขาอยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มของการบุกรุกป่าและทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการยังชีพด้วยความไม่รู้เพิ่มขึ้น จึงได้แก้ไขสถานการณ์ด้วยการปฎิบัติงานตามแนวพระราชดำริด้านงานพัฒนาป่าไม้ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในปี 2522

ก้าวตามตำราพ่อ วิชาธรรมชาติ (สามัคคี) 02 ดื่มกาแฟอะราบิก้าคั่วใหม่ใต้ต้นสน

 โดยส่งเสริมให้ชาวม้งที่บ้านใหม่ร่องกล้า หมู่ 10 อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เปลี่ยนอาชีพจากปลูกฝิ่นและกะหล่ำปลีหันมาปลูกสตรอเบอร์รี่และกาแฟ โดยนำต้นกล้าจากโครงการพัฒนาป่าไม้ฯ ไปปลูกในพื้นที่ของตน เริ่มต้นจาก 3 ไร่ จนปัจจุบันมีชาวม้งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมาปลูกสตรอเบอร์รี่และกาแฟไม่ต่ำกว่า 30 ไร่แล้ว

 ศุภกุล จันทร์ลา หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ภูหินร่องกล้า กล่าวว่า ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ฯ คือสามารถปลูกกาแฟอะราบิก้าใต้ต้นสนได้ เป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย ช่วยลดปัญหาการโค่นล้มต้นสนทิ้งโดยไร้ค่าเพราะชาวบ้านเข้าใจว่าปลูกพืชใต้ต้นสนไม่ได้

 “บนพื้นที่เขาของภูหินร่องกล้ามีต้นสนสามใบตามธรรมชาติมากมาย โครงการพัฒนาป่าไม้ฯ จึงทดลองปลูกกาแฟใต้ต้นสนจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี จากนั้นได้ให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่ว่า กาแฟสามารถปลูกได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเผาถางป่า เพราะหากมีความสูงเพียงพอ อากาศเย็น และมีร่มเงา ไม่ว่าจะอยู่ใต้ต้นอะไรก็ปลูกขึ้นและให้ผลผลิตได้”

 รวมถึงแปลงสตรอเบอร์รี่ที่ได้ทดลองปลูก โดยใช้หญ้าแห้งปกคลุมดินแทนแผ่นพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะย่อยสลายยาก ชาอัสสัมที่ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองปลูก หากได้ผลดีจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเป็นอาชีพต่อไป

 ไฮไลต์ในฤดูกาลท่องเที่ยวอย่าง ทุ่งดอกกระดาษ (ช่วง ธ.ค.-มี.ค.) ที่ให้ทั้งความสวยงามดึงดูดใจและสามารถตัดดอกขายเพื่อนำไปประดับตกแต่งก็ได้ราคา ซึ่งทั้งมวลเกิดขึ้นจากการนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติให้เกิดผล เรียกว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับชีวิตและรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ร่วมกัน

 นอกจากนี้ โครงการพัฒนาป่าไม้ฯ ยังสร้างอาชีพให้ชาวม้งเข้ามาทำงานด้านเกษตรกรรม และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาวที่กำลังมาแรง เพราะนอกจากทุ่งกระดาษที่จะเบ่งบานรับลมหนาวแล้ว ที่นี่ยังมีแนวผาหินทราย 6 จุด ได้แก่ ผาไททานิก ผาพบรัก ผาบอกรัก ผาคู่รัก ผารักยืนยง และผาสลัดรัก สร้างเรื่องราวให้ธรรมชาติ และนั่งจิบกาแฟปลอดสารเคมีจากฝีมือชาวม้ง ที่หอมกรุ่นเข้มลึกใต้ทิวสนสามใบให้นึกถึงความมหัศจรรย์เหมือนแหล่งปลูกของมัน

บ้านเข็กน้อย พอเพียงมาก

 ชุมชนม้งขนาดใหญ่ที่สุดในสยามตั้งอยู่ที่ บ้านเข็กน้อย ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ (ห่างจากโครงการพัฒนาป่าไม้ภูหินร่องกล้าประมาณ 1 ชม.) ปัจจุบันมีชาวม้งอาศัยอยู่ 12 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 1.4 หมื่นคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกพืชไร่ตามแนวภูเขา กะหล่ำปลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกาแฟ

ก้าวตามตำราพ่อ วิชาธรรมชาติ (สามัคคี) 03 นักท่องเที่ยวยืนชมหมอกใต้ต้นสนสามใบ

 ประจวบ ฤทธิ์เนติกุล อดีตกำนันตำบลเข็กน้อย เล่าว่า ในอดีตภูเขาทั้งลูกกลายเป็นสีแดงด้วยดอกฝิ่น และทั้งหมู่บ้านก็อบอวลไปด้วยควันสีขาวจากปล้องไม้ไผ่ จนกระทั่งวันที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เขาค้อวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง

 “พ่อหลวงไม่เคยกล่าวโทษพวกเราว่าทำผิดกฎหมาย ไม่เคยบอกว่าพวกเราเป็นคนร้าย ไม่เคยไล่เราออกจากแผ่นดินไทย แต่ท่านสอนเราว่าฝิ่นไม่ดีอย่างไร สอนเราว่าต้องปลูกอะไร และทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนตอนนี้หมู่บ้านเข็กน้อยไม่มีฝิ่นเหลืออยู่แล้ว รวมถึงชีวิตเราก็ดีขึ้นเพราะไม่ติดยาเสพติด ทำมาหากินจากการทำเกษตร และไม่อดอยากจากการปลูกพืชผักกินเอง ชีวิตเรามีความสุขขึ้นมากเพราะพ่อหลวง” ประจวบน้ำตารื้น

 นอกจากนี้ บ้านเข็กน้อยยังถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแก้ปัญหาสารเคมีในแปลงเกษตร ธวัชชัย แซ่หยาง ตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านใช้สารเคมีปริมาณมากในการปลูกกะหล่ำปลีเพื่อให้ใบสวยงามตามความต้องการของพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาขายกับราคาสารเคมี บวกลบแล้วชาวบ้านแทบไม่เหลือเงินเข้ากระเป๋าเลย

 “ถ้าใบไม่สวย พ่อค้าจะไม่รับซื้อ” ชาวม้งรุ่นใหม่กล่าวต่อ

 “ขนาดเราเองยังไม่กินผักที่เราขาย เพราะรู้ว่ามันอันตราย แต่ไม่ทำก็ขายไม่ได้ มันเลยกลายเป็นความรู้สึกผิดในใจที่เรามีมานาน ทำให้ตอนนี้ผมกับเพื่อนๆ และมูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับ ททท. กำลังส่งเสริมให้ทุกบ้านที่ปลูกกะหล่ำปลีหันมาปลูกแบบปลอดสาร เพื่อเราจะได้ขายให้นักท่องเที่ยวโดยตรงซึ่งได้ราคาดีกว่า และจะเปิดเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย”

 ตอนนี้มีแนวโน้มว่าชาวบ้านจะหันมาปลูกกะหล่ำปลีแบบปลอดสารมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะดูแลยากกว่า แต่เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ปลูกเองก็ถือว่าคุ้มค่ามาก

 อย่างไรก็ตาม บ้านเข็กน้อยมีชื่อเสียงเรื่องวันปีใหม่ม้งอยู่แล้ว โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 18-26 ธ.ค. 2560 หมู่บ้านจะมีงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ต่อเนื่อง 7-9 วัน โดยหนุ่มสาวจะแต่งตัวเต็มที่ออกมาเล่นโยนลูกช่วง เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวสามารถเกี้ยวพาราสีกัน ซึ่งหลังจบงานอาจมีหลายคู่ที่แต่งงานกัน อันเป็นประเพณีที่สืบทอดมามากกว่าร้อยปีไม่เคยขาด

ก้าวตามตำราพ่อ วิชาธรรมชาติ (สามัคคี) 04 ไร่สตรอเบอร์รี่หุ้มด้วยหญ้าแห้งแทนแผ่นพลาสติก

 วิชาธรรมชาติ (สามัคคี) และวิถีชีวิตของชาวบ้านเข็กน้อย เป็นเพียงปฐมบทในตำราของพ่อที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ในสถานที่จริงและชีวิตจริง ซึ่งบทเรียนจากครูของแผ่นดินจะเป็นหนทางสู่ความเข้าใจ แก้ไข และพัฒนา นำไปสู่การใช้ชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน

..........ล้อมกรอบ.........

 ผู้ที่สนใจสามารถชมวิดีโอสารคดีทั้ง 9 ตอนได้ทางเพจเฟซบุ๊ก เที่ยวไทยเท่ สามารถรับหนังสือฟรีได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทั่วประเทศ และสถานีบริการน้ำมันบางจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 20 สาขาที่เข้าร่วม หรือดาวน์โหลดฟรีที่ www.tourismthailand.org สอบถามโทร. 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย

..........ใต้ภาพ...........

00 รูปเปิด ความสมบูรณ์ ณ โครงการพัฒนาป่าไม้ภูหินร่องกล้า

01 ปลูกกาแฟใต้ต้นสน

02 ดื่มกาแฟอะราบิก้าคั่วใหม่ใต้ต้นสน

03 นักท่องเที่ยวยืนชมหมอกใต้ต้นสนสามใบ

04 ไร่สตรอเบอร์รี่หุ้มด้วยหญ้าแห้งแทนแผ่นพลาสติก

05 หน้าผาหินทรายรูปร่างแปลกตาในโครงการพัฒนาป่าไม้ภูหินร่องกล้า

06 ต้นกล้าสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80

07 ไร่กาแฟอะราบิก้าสีเขียวครึ้ม

08 นักท่องเที่ยวถ่ายภาพสายหมอกที่พ่นออกมาจากป่า

09 ต้นสนสามใบ พืชที่พบเห็นมากบนภูหินร่องกล้า

10 ประจวบ ฤทธิ์เนติกุล ชาวม้งหมู่บ้านเข็กน้อยที่ตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินไทย

11 พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ภายในบ้านของประจวบ

12 ดอกกระดาษ

13 แปลงสาธิตปลูกชาอัสสัม

14 สายหมอกฟุ้งออกจากป่า

15 ความเขียวชอุ่มของป่าภูหินร่องกล้า

16 วิถีชีวิตชาวม้งที่บ้านเข็กน้อย

17 ต้นแมคคาเดเมียปลูกแทรมกับต้นสน

ภาพในล้อมกรอบ