posttoday

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา

06 สิงหาคม 2560

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม พร้อมทั้ง อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ไปวางศิลาฤกษ์อาคารจัดแสดงเครื่องทองอยุธยาแห่งใหม่

โดย...ส.สต

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม พร้อมทั้ง อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ไปวางศิลาฤกษ์อาคารจัดแสดงเครื่องทองอยุธยาแห่งใหม่ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ผู้เขียนร่วมคณะกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากรไปด้วย เมื่อเสร็จพิธีได้เข้าชมห้องแสดงเครื่องทอง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พบข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย และสารเสรี ฉบับ พ.ศ. 2499 และ 2500 ที่ใส่กรอบติดไว้ในห้องให้ผู้สนใจได้ศึกษา เมื่ออ่านดูก็พบที่มาของทองคำสมัยอยุธยานั้นพบแบบไหนอย่างไร เช่น หนังสือพิมพ์ไทย วันศุกร์ที่ 31 ส.ค. 2499 ลงภาพข่าวกรุสมบัติขุนหลวงพะงั่ว (พ.ศ. 1913-1931) บรรยายภาพว่า สภาพต้นโพรงที่ขุดลึกลงไปใต้พระปรางค์วัดมหาธาตุ ตรงที่เห็นในภาพนี้ เป็นที่พบพระเครื่องทอง 44 องค์ (ตามรูปล่าง) ปรากฏว่ากรุแตกมีกลิ่นหอมกำจายไปทั่วบริเวณ หนังสือพิมพ์ไทยอาทิตย์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2592 วันอาทิตย์ที่ 29 ก.ย. 2500 ตีพิมพ์ข่าวว่า อยู่ข้างกรุขุนหลวงพะงั่ว พระแสงดาบ เทวรูปทองคำล้วน รายละเอียดข่าวว่า กรุมหาสมบัติที่อยุธยาถูกค้นพบอีกกรุหนึ่งแล้ว คราวนี้ล้วนแล้วไปด้วยทองคำทั้งสิ้น แม้แต่กระโถน ก็ทำด้วยทองคำ ซึ่งจะขนกันเป็นกระสอบๆ ที่สำคัญคือพระแสงดาบทำด้วยทองคำประดับพลอย อร่าม เทวรูปทองคำและเครื่องประดับแขน ทองคำ เป็นมหาสมบัติที่ถูกฝังไว้หนีพวกพม่า เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาถูกเผา

หนังสือพิมพ์สารเสรี วันจันทร์ที่ 3 ก.ย. 2499 พาดหัวข่าวว่าสมบัตินเรศวร ใช้เครื่องมือพิสูจน์แร่เข้าช่วย พบสมบัติมหึมาซ่อนอยู่ มีภาพขุดกรุ และมีภาพคนงานกำลังคุ้ยเขี่ยหาเศษเล็กๆ ของสมบัติโบราณซึ่งอาจติดมากับโคลนจากพื้นข้างล่างอีกข่าวหนึ่งเขียนว่าขุดกรุสมบัติพบอุปสรรคอีก น้ำท่วมต้องชะงัก

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา

หนังสือพิมพ์ไทย วันที่ 3 ต.ค. 2500 เสนอข่าวว่า รวบสองปลัดตำรวจทั้งโรงพัก อม มหาสมบัติในกรุอยุธยา พร้อมกับมีภาพช้างทองคำ บรรยายภาพว่าช้างทอง สมบัติของพระอินทรราชา ซึ่งปรากฏว่าคนร้ายแย่งกัน ถึงคอกับตัวไปคนละทิศ เจ้าหน้าที่ตามจับมาต่อกันเรียบร้อย เป็นช้างทรงที่สง่างามทองทั้งตัว (ขวา) สมบัติเดียวกันนี้เป็นทองล้วน (และซ้าย) แซ่ พัดโบก ทีทำด้วยทอง ส่วนอีกข่าวหนึ่งเขียนว่ารวบตำรวจพลเรือนขนทอง3 กระสอบจากกรุ

อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ที่บอกความเป็นมาของเครื่องทองอยุธยา ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงสุด ก็อยากได้ภาพด้วย จึงอนุญาตเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพมาเสนอท่านผู้อ่านเป็นเพียงบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา กล่าวว่า เครื่องทองอยุธยานี้ พบที่กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ดังนั้นจึงเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ในเวลาต่อมา

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา

นอกจากนั้น ก็พบที่กรุพระปรางค์องค์ใหญ่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ด้วย

ต่อไปเครื่องทองทั้งหลายนี้ อาจต้องย้ายไปตั้งแสดงในสถานที่ใหม่ ที่อยู่ติดๆ กัน ตามข่าวดังนี้

กรมศิลปากรใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท สร้างอาคารจัดแสดงเครื่องทองอยุธยาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตสู่ประชาคมอาเซียน ผ่านการนำเสนอด้วยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทเรื่องทองในประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องทองอยุธยา โดยเล่าความเป็นมาว่าในปี 2559 กรมศิลปากรภายใต้การนำของอธิบดีกรมศิลปากร (อนันต์ ชูโชติ) มีนโยบายให้จัดสร้างอาคารจัดแสดงหลังใหม่ขึ้นภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอาคารที่รวบรวมเครื่องทองสมัยอยุธยาทั้งหมดที่พบในประเทศไทย โดยเฉพาะที่มีบางส่วนเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มาจัดแสดงในที่เดียวกัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เพื่อให้ ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีโอกาสได้เห็นเครื่องทองเหล่านั้นได้ชื่นชมและศึกษาร่วมกัน อันจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการอนุรักษ์ และดูแลศิลปวัฒนธรรมของชาติต่อไป

ในโอกาสเดียวกันนี้ กรมศิลปากรยังมีนโยบายปรับปรุงอาคารเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และภูมิทัศน์ภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาและจัดทำบทจัดแสดงนิทรรศการเครื่องทอง และดำเนินการจัดสร้างอาคารจัดแสดงเครื่องทองระยะที่ 2 ปรับปรุงอาคารจัดแสดงหลังที่ 1 เพื่อจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาขอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงอาคารจัแสดงหลังที่ 2 เป็นคลังของพิพิธภัณฑ์ระยะที่ 3 ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดสำหรับอาคารจัดแสดงเครื่องทองหลังใหม่นี้ จะตั้งอยู่ด้านหลังของอาคารจัดแสดงหลังที่ 1 โดยมีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารจัดแสดงทั้งสอง แต่กว่าจะสร้างเสร็จเปิดให้ประชาชนชมได้ประมาณปี พ.ศ. 2565

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม และอนันต์ ชูโชติ วางศิลาฤกษ์ อาคารจัดแสดงเครื่องทองอยธุ ยา

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา นสพ.พ.ศ.2500 ตีพิมพ์ข่าวพบกรุมหาสมบัติที่อยุธยา

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา

พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา