posttoday

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง

15 กรกฎาคม 2560

ทุกคำถามบนโลก ล้วนตอบได้ด้วยหลักฐานทางธรณีวิทยา ทั้งการกำเนิดโลก ประวัติศาสตร์มนุษย์ และอารยธรรมโบราณ

โดย...กาญจน์ อายุ

 ทุกคำถามบนโลก ล้วนตอบได้ด้วยหลักฐานทางธรณีวิทยา ทั้งการกำเนิดโลก ประวัติศาสตร์มนุษย์ และอารยธรรมโบราณ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะธรณีวิทยาย่อมส่งผลต่อวิวัฒนาการของสังคมและอารยธรรม เช่น บน "ที่ราบสูงโคราช" แหล่งค้นพบซากฟอสซิลปะการังและสัตว์ทะเลในยุคเริ่มแรกราว 300 ล้านปี และทำให้เกิดวิถีของผู้คนและวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

อีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน

 การเดินทางครานี้ได้เริ่มต้นจากการค้นหาแหล่งปะการังโบราณที่ บ้านซับพริก และ วัดหัวโกรก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อสำรวจซากฟอสซิลปะการังและสัตว์ทะเลในยุคเริ่มแรกราว 300 ล้านปี ก่อนตั้งแต่ยุคที่สัตว์บนบกยังไม่มี ซึ่งน่าสนใจตรงที่สิ่งมีชีวิตที่ปรากฏนี้มีความร่วมสมัยกับแผ่นดินสตูล!

 ฟอสซิลเหล่านี้ทับถมกันและถูกชั้นตะกอนใต้ทะเลทับถมจนเป็นหินปูน จากนั้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวมาเบียดชนกันทำให้แผ่นดินที่เคยอยู่ใต้ท้องทะเลถูกดันโป่งขึ้นมาเป็นภูเขา จึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงพบฟอสซิลทะเลดึกดำบรรพ์บนยอดเขา

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง สวนไม้กลายเป็นหิน

 นอกจากนี้ การเบียดชนกันของแผ่นเปลือกโลกยังทำให้เทือกเขาเพชรบูรณ์และดงพญาเย็น กลายเป็นขอบที่ราบสูงโคราชทางทิศตะวันตก โดยเริ่มจากเหนือสุดที่ผามอง ยาวต่อลงมาทางทิศใต้ตามแนวของภูยาอู่ ภูพานคำ ภูแลนคา และภูพังเหยจนถึงเขื่อนลำตะคอง ส่วนขอบที่ราบสูงโคราชทางทิศใต้ประกอบด้วยทิวเขาสันกำแพงและพนมดงรัก และขอบแอ่งทางทิศเหนือและตะวันออกเป็นแนวเทือกเขาใน สปป.ลาว

 การก่อเกิดที่ราบสูงโคราชนี้ ทำให้บริเวณกลางแอ่งมีการแทรกดันของเกลือหินกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะแหล่งเกลือที่ ต.หนองสรวง ที่มีการผลิตเกลือด้วยกรรมวิธีสูบน้ำบาดาลเค็มมาขังในแปลงนา ตากแล้วปล่อยให้ระเหย ทำให้พบว่ามีลำดับการตกผลึกตั้งแต่เกลือแคลเซียม เกลือโซเดียม และเกลือแมกนีเซียม เหมือนการตกผลึกจากน้ำทะเล แสดงว่าภาคอีสานเคยเป็นแอ่งแผ่นดินที่มีน้ำทะเลเข้ามาท่วมขังและระเหยแห้งมาก่อน

 สำหรับจุดชมขอบที่ราบสูงโคราช หรือเขาเควสตา หรือเขาอีโต้หินทราย ที่อย่างชัดเจนอยู่บน วัดป่าภูผาสูง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวเขาเควสตาเรียงรายกัน และพบร่องรอยหนอนชอนไชบนหินทรายด้วย และบนจุดชมวิว เขายายเที่ยง ที่สามารถมองเห็นเขาเควสตาสุดสวยงาม และวิวเขื่อนลำตะคองอลังการที่จะงดงามมากที่สุดในยามเย็น

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง เงาของกระดูกไดโนเสาร์จำลองบนเพดานพิพิธภัณฑ์

 ทั้งนี้ ที่ราบสูงโคราชมีเนื้อที่ 1.5 แสน ตร.กม. หรือประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย โดยมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเรียบ และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 130-250 ม.

หินทรายจารึกประวัติศาสตร์

 อารยธรรมขอมบาปวน ถูกสืบทอดอย่างแข็งแกร่ง ณ ปราสาทพนมวัน เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย ปรางค์สร้างจากหินทราย สีเนื้อและสีจำปาอ่อนของมหายุคมีโซโซอิกอายุ 210-66.5 ล้านปี ร่วมยุคสมัยกับไดโนเสาร์ ถือเป็นสิ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าคนโบราณรู้จักเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ในการก่อสร้าง โดยมีการพบลานหินตัดหรือลานหินทรายที่ปรากฏร่องรอยการตัดหินในแนวสี่เหลี่ยม เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างปราสาทหินด้วย

 เช่นเดียวกับภาพเขียนสีโบราณอายุ 4,000 ปีที่ วัดเขาจันทน์งาม ที่ปรากฏร่องรอยการแตกออกจากกันของลานหินทรายจนภายในกลายเป็นเพิงผาหิน ซึ่งบนผาหินทรายได้ปรากฏภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ชัดเจน มีรายละเอียดที่เน้นความสมจริง เช่น มีลักษณะทางกายวิภาคที่ถูกต้อง วาดน่องมนุษย์ได้สมจริง มีอากัปกิริยาของการนั่งล้อมวง สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม และมีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน อันเป็นพัฒนาการของภาพเขียนโบราณที่น่าจะมีอายุรุ่นหลังกว่าภาพเขียนผาแต้ม และเป็นแหล่งศิลปะถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบเพียงแห่งเดียวในนครราชสีมา

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน

 ธรณีวิทยาอย่างหินทราย จึงสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์มนุษย์และอารยธรรมโบราณได้ ซึ่งยังปรากฏให้เห็นที่ เมืองเสมา แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ และเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร รวมถึงพระนอนหินทรายขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ วัดธรรมจักรเสมาราม ที่คาดว่าได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดีปะปนกับศิลปะพื้นเมือง

มหานครแห่งบรรพชีวิน

 ด้วยความสำคัญและความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม จึงทำให้พื้นที่ 5 อำเภอในนครราชสีมาถูกประกาศให้เป็น "อุทยานธรณีโคราช" หรือโคราชจีโอพาร์ค (ระดับจังหวัด) มาตั้งแต่ปี 2558 โดยครอบคลุม อ.สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมี "หินทราย" เป็นตัวเชื่อมร้อยเรื่องราวเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน

 อัตลักษณ์ของอุทยานธรณีโคราช คือดินแดนประตูของที่ราบสูงโคราช ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง โดยมีสัณฐานภูมิประเทศเด่นเป็นเขาเควสตาหรือเขาอีโต้ที่เป็นหินทราย กับลำตะคอง ที่เป็นธารน้ำบรรพกาลไหลกัดกร่อนบนพื้นที่ที่หินฐานส่วนใหญ่เป็นหินทราย

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง จุดชมวิววัดป่าภูผาสูง

 ทว่าสิ่งที่เป็นความพิเศษเฉพาะพื้นที่ทางธรณีวิทยา คือ ฟอสซิลไดโนเสาร์ และสัตว์ร่วมยุคจำนวนมากในชั้นหินกรวดมนปนปูนที่แทรกสลับชั้นอยู่กับหินทรายในเขต อ.เมืองนครราชสีมา รวมถึงไม้กลายเป็นหินที่สะสมตัวอยู่ในชั้นตะกอนร่อนกรวดทราย ในเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.เมืองนครราชสีมา จนกล่าวได้ว่า เมืองโคราชคือ มหานครแห่งบรรพชีวิน หรือพาลีออนโตโปลิสของโลก!

 แหล่งท่องเที่ยวประเภทซากดึกดำบรรพ์ถูกรวบรวมไว้ในที่เดียวที่ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน-พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์-พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ (ในที่เดียวกัน) ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นตำบลที่ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน ไดโนเสาร์ และเพื่อนร่วมยุคอย่างซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุ 16 ล้านปี รวมถึงช้างดึกดำบรรพ์ถึง 10 สกุล จาก 55 สกุล ที่พบทั่วโลก

 นอกจากนี้ สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในพื้นที่โคราช คือการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ในมหายุคมีโซโซอิกและมหายุคซีโนโซอิกจำนวน 10 ชนิด โดยพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงด้วยแสง สี เสียง และมัลติมีเดีย ซึ่งน่าเซอร์ไพรส์มาก เพราะแค่ฟังชื่อและดูแต่อาคารภายนอกมันไม่สามารถบอกได้เลยว่า ข้างในนั้นทันสมัยและเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่น่าเบื่อเลยสักนิดเดียว

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ภาพเขียนสีเขาจันทน์งามอายุ 4,000 ปี

 แน่นอนว่า อุทยานธรณีโคราชกำลังถูกผลักดันให้ไปสู่ระดับโลก โดยการเสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโกให้ประกาศพื้นที่ 5 อำเภอในโคราชให้เป็น อุทยานธรณีโลก ซึ่งในตอนนี้อุทยานธรณีสตูลกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาจากยูเนสโก ทำให้อุทยานธรณีโคราชต้องรอคิว (ตามเงื่อนไขที่สามารถเสนออุทยานธรณีได้เพียงครั้งละ 1 แห่งเท่านั้น) ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการและผู้บริหารสำนักงานอุทยานธรณีโคราชต้องทำงานกับชุมชนท้องถิ่น พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรณี และโปรโมทคำว่า อุทยานธรณีโคราช ให้เป็นที่รู้จัก

อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า อุทยานธรณีโคราช คือ "ดินแดนแห่งเควสตาและฟอสซิล" และด้านอัตลักษณ์จะนึกถึง "ดินแดนแห่ง 1 เขา 1 หิน 1 ลำ 1 วัฒนธรรม และ 3 ซาก" หมายถึง เขาเควสตา หินทราย ลำตะคอง วัฒนธรรมไทยโคราช ซากไม้กลายเป็นหิน ซากช้างดึกดำบรรพ์ และซากไดโนเสาร์ อันจุดเด่นที่จะทำให้อุทยานธรณีโคราชแตกต่างและสมฐานะกับการเป็นอุทยานธรณีโลก

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ตะไคร่น้ำเกาะหินขนาดมหึมาบริเวณที่พบภาพเขียนสีโบราณ

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ปราสาทหินพนมวัน

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง นักท่องเที่ยวชมวิวบนวัดป่าภูผาสูง

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง นักท่องเที่ยวยกกล้องเก็บภาพเขียนสีโบราณ

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง แนวที่ราบสูงโคราช

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ดูฟอสซิลผ่านแว่นขยาย

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ฟอสซิลโคราโตซูคัส จินตสกุไล จระเข้ชนิดใหม่ของโลก

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ซากฟอสซิลปะการังและสัตว์ทะเลบริเวณที่ราบสูงโคราช

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ซากฟอสซิลปะการังและสัตว์ทะเลบริเวณที่ราบสูงโคราช

ค้นหา ‘ทะเลโบราณ’ บนแผ่นดินที่ราบสูง ซากฟอสซิลปะการังและสัตว์ทะเลบริเวณที่ราบสูงโคราช