posttoday

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ

11 มีนาคม 2560

การเดินทางอันแสนยาวนานจากตัวเมืองลำพูนถึงอำเภอ "ลี้" ทำให้ตาสว่างในขณะที่จะหลับเป็นรอบที่สามว่า

โดย...กาญจน์ อายุ

 การเดินทางอันแสนยาวนานจากตัวเมืองลำพูนถึงอำเภอ "ลี้" ทำให้ตาสว่างในขณะที่จะหลับเป็นรอบที่สามว่า จังหวัดที่คิดว่าเล็กมากแท้จริงแล้วกว้างขวางกว่าที่คิด

 เช่นเดียวกับปลายทาง ณ "บ้านพระบาทห้วยต้ม" ที่แม้แต่ชื่อยังไม่เคยได้ยิน แต่กลับน่าตามหาเพื่อสัมผัสความสุข ความงาม และความอร่อยแบบมังสวิรัติ

 บ้านพระบาทห้วยต้ม เป็นชุมชนขนาดย่อมของชาวปกาเกอะญอที่มีความพิเศษต่างจากปกาเกอะญอที่อื่น พวกเขาอาศัยอยู่บนพื้นราบ (ที่อื่นอยู่บนภูเขา) นับถือศาสนาพุทธ (ที่อื่นนับถือผี) และรับประทานอาหารมังสวิรัติตลอดชีวิต

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ เครื่องประดับปกาเกอะญอ เป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวทุกวัย

 เมื่อสืบประวัติกลับไปในวันแรกของการตั้งถิ่นฐานชาวบ้านที่นี่ อพยพมาตามความศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อหลวงปู่ครูบาวงศ์

 วิมล สุขแดง หรือ หนานวิมล ประธานกลุ่มการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม เล่าว่า ในปี 2514 ชาวปกาเกอะญอหรือชาวกระเหรี่ยงจากหลากหลายพื้นที่ทั้งจากตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน มารวมตัว โดยทุกคนต่างมาด้วยความศรัทธาในองค์หลวงปู่ครูบาวงศ์และความศรัทธาในพุทธศาสนา

 ทว่าการอยู่ที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องรับประทานมังสวิรัติ ห้ามเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เพื่อกินและจำหน่าย อันเป็นข้อกำหนดของการอยู่ร่วมกัน

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ รอยยิ้มของชาวบ้านน้ำบ่อน้อยแทนคำทักทายแก่นักท่องเที่ยว

 “หลักสำคัญคือ การดำเนินชีวิตของคนที่นี่ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนา ต้องช่วยกันดูแล และเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นทุกเช้าชาวบ้านจะไปร่วมทำบุญตักบาตรที่วัด และทุกเย็นจะไปร่วมสวดมนต์ ในส่วนของวันพระก็จะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่พิเศษออกไป อย่างเช่นการถวายสังฆทานผัก หรือการเวียนเทียนที่จะทำทุกวันพระไม่ใช่แค่วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น”

 ลักษณะพื้นที่ยังมีความพิเศษ คือเมื่อขุดลงไปใต้ดิน 1 เมตร จะพบศิลาแลง ทำให้ชุมชนมีสภาพร้อนแล้ง น้ำน้อย ดินไม่ดี ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งในช่วงแรกที่ตั้งถิ่นฐานไม่สามารถทำการเกษตรได้ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ได้เสด็จฯ มาเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรเห็นว่า ที่นี่มีความลำบาก ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงรับสั่งให้สร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง และทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการหลวงขึ้น ซึ่งเป็นโครงการหลวงแห่งเดียวในไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่มีดอกไม้หรือต้นไม้ที่สวยงาม แต่เป็นการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและเกษตรกร

 “ชาวปกาเกอะญอสามารถทอผ้าเป็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว” หนานวิมล กล่าวต่อ

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ หนานวิมล ไกด์กิตติมศักดิ์พาเดินชมหมู่บ้าน

 “เพราะทุกคนต้องทอผ้าไว้ใส่เอง โดยเฉพาะผู้หญิงเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป ต้องทอผ้าเป็น นอกจากต้องทอใส่เองยังต้องทอให้เจ้าบ่าว ผู้หญิงที่ทอผ้าไม่เป็นจะมีความลำบากนิดหนึ่ง เพราะผู้หญิงปกาเกอะญอต้องสู่ขอผู้ชาย ดังนั้นสิ่งที่โดดเด่นในชุมชนนี้ นอกเหนือจากวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมแล้ว ยังมีเรื่องของการทอผ้าแบบกี่เอว รวมถึงเครื่องเงินที่ทำในชุมชนด้วย”

 วิถีชีวิตของชาวบ้านพระบาทห้วยต้มก่อให้เกิดเป็นคำขวัญประจำตำบลว่า เครื่องเงินลือเลื่อง ถิ่นเมืองครูบา ผ้าทองามตา เด่นสง่าพระบาทห้วยต้ม โดยปัจจุบันชุมชนประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่จำนวนกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่าง บ้านน้ำบ่อน้อย ที่เลือกที่จะไม่ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาในการดำรงชีวิต

บ้านน้ำบ่อน้อย ศรัทธาในธรรมชาติ

 “ขอให้ทุกท่านอยู่ในความสงบ” หนานวิมล ประกาศเป็นประโยคแรกเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่บ้านน้ำบ่อน้อย

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ กลุ่มแม่บ้านสาธิตการทอผ้าแบบเรียบง่าย โดยไม่ต้องใช้กี่ทอผ้า

 ที่แห่งนี้ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา ชาวบ้านรักความสงบ อยู่กับธรรมชาติ และพูดเพียงภาษาปกาเกอะญอ บ้านเรือนมุงด้วยใบตองตึงและหญ้าคา ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่ มีห้องนอนห้องเดียว โดยชาวบ้านเข้ามาอยู่ครั้งแรกเมื่อปี 2541 จากเริ่มต้น 18 ครอบครัวตอนนี้มีถึง 50 ครอบครัว

 เดิมทีที่ตั้งของบ้านน้ำบ่อน้อยเป็นแอ่งศิลาแลง มีคนเข้ามาขุดจำนวนมากจนพบกับบ่อน้ำ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคและปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นมงคลออกไปได้ เคยมีการนำน้ำในบ่อไปตรวจตามหลักวิทยาศาสตร์ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อแบคทีเรียหรือสารปนเปื้อนใดๆ แม้จะอยู่ในบ่อดินลึก 1 ฟุต

 “ในบ่อจะมีน้ำตลอดทั้งปี ซึ่งไม่ใช่ตาน้ำหรือน้ำผุดด้วย เพราะพอน้ำสูงขึ้นมาถึงขอบบ่อจะไม่ล้นออกมา ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่สำหรับผม คิดว่าน้ำบ่อน้อยมีความมหัศจรรย์ตรงที่สามารถนำคนห้าสิบหลังคาเรือนมาอยู่รวมกันได้โดยที่ไม่ต้องกลัวอันตราย บ้านไม่ต้องมีรั้วกั้น ประตูไม่ต้องปิด เพราะมีเพื่อนบ้านอยู่รอบตัวอยู่แล้ว ผมว่านี่แหละคือความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำน้อย” หนานวิมล พูดไปพลางตักน้ำให้ดื่มไปพลาง ซึ่งผู้ที่ตักน้ำได้ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย

 อย่างไรก็ตาม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชมบ้านพระบาทห้วยต้ม อันเป็นศูนย์รวมใจของชาวปกาเกอะญอทุกคน ประดิษฐานอยู่ที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย พุทธสถานของวัดพระบาทห้วยต้ม ที่สร้างขึ้นโดยเจตนาของหลวงปู่ครูบาวงศ์ และสานต่อจนสมบูรณ์โดยชาวบ้าน

ศรัทธาในพระพุทธศาสนา

 พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย สร้างจากศิลาแลงทั้งองค์และปิดทับด้วยแผ่นทองคำเปลว โดยหลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้นเพื่อจำลองเจดีย์ชเวดากอง ในประเทศเมียนมา ให้ชาวปกาเกอะญอได้มีโอกาสสักการะ เริ่มสร้างในปี 2538 แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี หลวงปู่ครูบาวงศ์ได้ถึงแก่มรณภาพในปี 2543 จากนั้นชาวบ้านจึงช่วยกันสานต่อจนแล้วเสร็จ

 ภายในองค์พระมหาธาตุเจดีย์ได้บรรจุพระพุทธรูปจำนวน 8.4 หมื่นองค์ รายล้อมด้วยดอกบัวและเจดีย์ 49 องค์ โดยความตั้งใจของหลวงปู่ยังมีนัยตั้งแต่ถนนในหมู่บ้านที่เป็นเส้นตรงทุกสาย ตามคำสอน ถ้าทางเดินยังไม่ตรง แล้วจิตใจของคนจะตรงได้อย่างไร ถนนเส้นหลักจะไปสิ้นสุดที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย และเมื่อเดินทางตรงดิ่งต่อไปจะนำไปสู่เจดีย์ชเวดากององค์จริงที่เมียนมา

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ สีสันและความน่ารักของชาวบ้านน้ำบ่อน้อย

 ทุกเช้าของทุกวัน ชาวบ้านจะเข้าวัดไปทำบุญใส่บาตรที่วัดพระบาทห้วยต้ม และพระจะมีการถวายสังฆทานผักและเวียนเทียนรอบพระมหาเจดีย์ ทว่าการตักบาตรของที่นี่จะแตกต่างจากที่อื่นคือ พระสงฆ์จะไม่เดินบิณฑบาต แต่ชาวบ้านจะมาใส่บาตรที่วัด หนานวิมลยังได้กล่าวถึงหลวงปู่ครูบาวงศ์ หรือครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ที่ตอนนี้ร่างของหลวงปู่ยังนอนสงบในโลงแก้วภายในพระวิหาร

 “หลวงปู่ไม่ใช่ชาวกะเหรี่ยงแต่เป็นคนเหนือ ท่านธุดงค์ในป่าผ่านหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ซึ่งแต่ก่อนเรานับถือผี ต้องฆ่าสัตว์ไปเซ่นผีหรือสิ่งที่เราไม่เคยเห็น หลวงปู่ได้นำคำสอนของพระพุทธศาสนามาแนะนำ สอนจนชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พอทราบว่าหลวงปู่จะมาบูรณะวัดพระบาทห้วยต้ม เราก็เริ่มจากการมาช่วยงานก่อน จนกระทั่งได้เข้ามาอยู่อาศัยและก่อตั้งเป็นหมู่บ้าน สำหรับคนปกาเกอะญอแล้ว เราศรัทธาหลวงปู่เสมือนเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้าน้อย เพราะหลวงปู่ท่านได้ออกแบบทุกอย่างแม้แต่วิถีชีวิตของคนที่นี่ ท่านเน้นหลักง่ายๆ อย่างศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงวันนี้หลวงปู่ไม่อยู่เป็นเวลาสิบเจ็ดปี แต่ชาวบ้านยังคงมากราบหลวงปู่ ทำบุญตักบาตรทุกเช้า และยังไหว้พระสวดมนต์กันทุกเย็น”

 ตั้งแต่ผู้เฒ่าจนถึงเด็กและวัยรุ่นต่างเดินเท้าเปล่าเข้าวัด พร้อมสำรับอาหารและดอกไม้ ทุกคนใส่ผ้าทอสีสันสดใสสุภาพตามธรรมเนียมและปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างคุ้นเคย

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ ชาวบ้านต่างเข้าวัดทำบุญในวันพระอย่างพร้อมเพรียง

 กล่าวคือสำรับใส่บาตรจะประกอบด้วยข้าวเหนียว อาหารมังสวิรัติ น้ำ และกรวยดอกไม้ เริ่มจากวางกรวยดอกไม้บนพาน นำถุงอาหารใส่บนถาด ปั้นข้าวเหนียวส่วนหนึ่งถวายพระพุทธ และเทน้ำปริมาณหนึ่งใส่คันโธถวายพระพุทธ

 จากนั้นนำข้าวเหนียวส่วนใหญ่ใส่บาตรต่อหน้าพระสงฆ์ โดยเรียงลำดับจากผู้ชาย ผู้ใหญ่ ถึงเด็กสาว พนมมือรับพรและกรวดน้ำอีกค่อนขวดให้หมดเป็นการเสร็จสิ้นพิธี

 “ผมเองเกิดมาก็ทำแบบนี้แล้ว ตื่นมาใส่บาตร ไหว้พระ สวดมนต์ กินมังสวิรัติ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่ต้องมีใครบังคับ เด็กๆ ในชุมชนก็เช่นเดียวกัน เขาได้ซึมซับวิถีจากพ่อแม่ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของชาวบ้านพระบาทห้วยต้มยังคงอยู่ได้ในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ เราชาวปกาเกอะญอมีแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา และมีแรงศรัทธาในการมีชีวิตอยู่ เรามีชีวิตที่มีความสุขได้โดยไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น และเราไม่ต้องการสิ่งฟุ่มเฟือยมากมาย เพราะความสุขเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจอยู่แล้ว”

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ ชาวบ้านต่อคิวใส่บาตรพระสงฆ์ที่วัดพระบาทห้วยต้ม

 3 วัน 2 คืนในชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม สรุปใจความสำคัญได้อย่างที่หนานวิมลกล่าวทิ้งท้ายไว้ และที่นี่เป็นแรงบันดาลใจแห่งศรัทธา 1 ใน 8 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนในโครงการ "เหนือฝันล้านแรงบันดาลใจ แอ่วเหนือครั้งใหม่ ไม่เหมือนเดิม"

 โครงการร่วมมือระหว่างกองตลาดภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และโลเคิล อไลค์ ที่ต้องการบุกตลาดกระตุ้นแรงบันดาลใจผู้หญิงวัยทำงานให้ออกค้นหาความหมายของชีวิตในรูปแบบที่แตกต่าง ผ่านการท่องเที่ยวที่เข้าถึงชุมชนอย่างลึกซึ้ง มีทั้งหมด 8 เส้นทางใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน โดยได้เปิดโปรแกรมให้คนเดินทางจริงผ่านโลเคิล อไลค์ (สอบถามข้อมูลโทร. 08-1139-5593 หรือทีมงานฝ่ายขายที่อีเมล [email protected])

 บ้านพระบาทห้วยต้มเป็นเส้นทางเดียวในลำพูน ที่จะพาไปสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนอย่างลึงซึ้ง อย่างที่โลเคิล อไลค์ ตั้งความหวังไว้ว่า อยากให้นักท่องเที่ยวมีความสุข กลับบ้านพร้อมรอยยิ้ม และมีความทรงจำที่ลึกซึ้งมากกว่าครั้งไหนๆ ผ่านสิ่งที่ประสบและสัมผัสได้จากการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประสบการณ์จะกลายเป็นแรงผลักดันและแรงบันดาลใจต่อไปไม่สิ้นสุด

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ ตลาดเช้าบ้านพระบาทห้วยต้ม

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ น้ำบ่อน้อยไม่เคยเหือดแห้ง

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ ลายผ้าทอมือสีสดใส

บ้านพระบาทห้วยต้ม ปกาเกอะญอพื้นราบ พุทธศรัทธาและมังสวิรัติ วิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้านน้ำบ่อน้อย