posttoday

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

30 ตุลาคม 2559

ในวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเราต่างคุ้นเคยกับชื่อช่องแคบมะละกา ที่มีความยาวกว่า 800 กิโลเมตร

โดย...พาแลง

ในวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเราต่างคุ้นเคยกับชื่อช่องแคบมะละกา ที่มีความยาวกว่า 800 กิโลเมตร เพราะที่นี่คือจุดยุทธศาสตร์การเดินเรือที่สำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิในอดีต กระทั่งชื่อของมะละกา (Malacca) โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อยูเนสโกประกาศให้เมืองมะละกาและจอร์จทาวน์ในมาเลเซียเป็นมรดกโลก

มะละกาเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ตราตรึงใจ สำหรับคนมาเลย์ถือว่าที่นี่เป็นหนึ่งเมืองประวัติศาสตร์สำคัญ ตามตำนานเล่าว่า เจ้าชายปรเมศวร (Parameswara) จากสุมาตรามาค้นพบเมืองแห่งนี้ เพราะเหตุการณ์ที่กระจงถูกฝูงหมาป่าทำร้าย แต่ต้องตายอย่างกล้าหาญ ทำให้เจ้าชายปรเมศวรติดตรึงใจและคิดสร้างเมืองใหม่ ณ สถานที่ซึ่งกระจงตาย นั่นคือบริเวณต้นมะขามป้อม ซึ่งภาษามาเลย์ก็คือมะละกานั่นเอง 

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

เมืองนี้เติบโตจากชุมชนมลายูเป็นเมืองท่าริมทะเล ใน ค.ศ. 1409 จีนได้เริ่มเข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับมะละกา และได้ทำการค้าขายกับมะละกาทางเรือสำเภา ของที่ขายในสมัยนั้นก็มีข้าว เครื่องเทศ ไม้หอม ชามกระเบื้อง เพชร พลอย และเครื่องประดับ เมื่อชาวจีนโพ้นทะเลได้อพยพเข้ามาประมาณ 500-600 ปีที่แล้ว จึงมีการแต่งงานระหว่างชาวมลายูและชาวจีน นี่เองจึงเป็นตำนานบาบ้า-ญวนย่า (Baba-Nyonya) ขึ้น โดยบาบ้า (ผู้ชาย) ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ส่วนญวนย่า (ผู้หญิง) ส่วนใหญ่เป็นสาวพื้นเมืองมลายู     

เนื่องจากช่องแคบมะละกาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยมีเมืองมะละกาเป็นเมืองท่าสำคัญโดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มะละการุ่งเรืองมาก นั่นเป็นเหตุให้เมืองนี้เป็นที่หมายปองของจักรวรรดินิยม จนในที่สุดโปรตุเกสได้เดินทางเข้ามายึดครองใน ค.ศ. 1511-1641 โปรตุเกสได้สร้างเมืองใหม่ สร้างโบสถ์เซนต์ปอล สถานที่ราชการ ขึ้นมาแทนที่พระราชวังของสุลต่านมะละกา ที่ได้เผาทำลายไป และสร้างป้อมปราการ A’ Famosa (The Famous) เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาติอื่น และโปรตุเกสครอบครองมะละกานาน 130 ปี

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

ต่อมาใน ค.ศ. 1640 ฮอลันดา (ประเทศฮอลแลนด์ในปัจจุบัน) ได้เข้ามาตีมะละกา เพื่อยึดต่อจากโปรตุเกส ท้ายที่สุดแล้วฮอลันดาก็เป็นฝ่ายชนะ ฮอลันดาได้สร้างสถานที่สำคัญไว้ในมะละกา ได้แก่ โบสถ์สีแดง (Christ church) ที่ Dutch Square ปัจจุบันโบสถ์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมะละกา ชาติสุดท้ายที่ได้เข้ามาครอบครองมะละกาคืออังกฤษ เนื่องจากฮอลันดาแพ้สงครามต่อฝรั่งเศส จึงมอบมะละกาให้อังกฤษ เพื่อกันไม่ให้ฝรั่งเศสมาครอบครองมะละกา ดังนั้นเมืองแห่งนี้จึงแวดล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมสถาปัตยกรรมตะวันออกสวยงามหลากหลาย

ในการเที่ยวชมรอบเมืองมะละกาสามารถเดินชมได้เพลินๆ ไม่รู้เบื่อ เริ่มต้นที่ใจกลางเมืองมะละกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของจัตุรัสดัตช์ หรือ Dutch Square เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ตั้งแต่สมัยมะละกาถูกปกครองด้วยฮอลันดา (ฮอลแลนด์) สถานที่สำคัญ ได้แก่ โบสถ์คริสต์มะละกา (Christ Church Melaka) สร้างด้วยอิฐที่นำเข้ามาจากฮอลันดา แล้วฉาบด้วยดินสีแดงของมาเลเซีย โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1741 และเสร็จใน ค.ศ. 1753 รวมใช้เวลาสร้าง 12 ปี ส่วนน้ำพุหน้าโบสถ์ สร้างใน ค.ศ. 1904 ทำจากหินอ่อนสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 65 ปี ของพระราชินีวิกตอเรีย ประเทศอังกฤษ

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

ในขณะที่รอบน้ำพุก็เรียงรายไปด้วยรถสามล้อ (ถีบ) ที่แต่ละคันต่างตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้หลากสีสันพร้อมกางร่มกันแดด เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีทีเดียว ราคาค่าบริการจะอยู่ที่ 10-15 ริงกิต/รอบ/คัน นั่งได้ 2 คน หรือคิดเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 40 ริงกิต

นอกจากป้อมเก่าแก่แล้ว ละแวกนี้ยังมีสิ่งชวนชมอีกหลายอย่าง อาทิ ตึกอนุสรณ์ประกาศอิสรภาพ ที่ภายในจัดเก็บข้อมูลเหตุการณ์การประกาศอิสรภาพของชาวมาเลเซีย พระราชวังสุลต่านแห่งมะละกา (จำลอง) ที่ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม เป็นต้น ส่วนใครที่อยากชมอดีตและรู้จักกับความเป็นบาบ้า-ญวนย่าอย่างละเอียดต้องไปที่พิพิธภัณฑ์บาบ้า-ญวนย่า ในไชน่าทาวน์ บนถนน Jalan Tun Tan Cheng Lock ย่านไชน่าทาวน์เต็มไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา ทั้งอาคารบ้านเรือน วัด มัสยิด และวิถีชีวิตที่หลากหลาย แต่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวทางวัฒนธรรม 

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

สิ่งชวนชมในมะละกายังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะเมืองนี้ยังมีของดีอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น จัตุรัสโปรตุเกส มัสยิด Tranquerah วัดจีนเก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย (Cheng Hoon Teng Temple) วัดซำปอกง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ สวนสนุก สวนสัตว์อันหลากหลาย

นอกจากนี้ มะละกายังมีนวัตกรรมทางการท่องเที่ยวใหม่ล่าสุดที่เพิ่งสร้างเสร็จแค่ 2 เดือนกว่าๆ อย่างหอคอยมะละกา (Sky Tower) ที่มีความสูง 110 เมตร จุคนได้ 66 คน ที่แม้นั่งอยู่กับที่ก็สามารถชมวิวได้ 360 องศา เนื่องจากตัวหอคอยจะหมุนเป็นวงกลมเปลี่ยนมุมมองไปอย่างช้าๆ ทำให้สามารถมองเห็นตัวเมืองมะละกาได้รอบทิศทางทั้งเมืองเก่า เมืองใหม่ ท้องทะเล ช่องแคบมะละกา แม่น้ำมะละกา

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน

 

มะละกา เหมือนนาฬิกาหยุดเดิน