posttoday

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

28 สิงหาคม 2559

เมื่อครั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่รู้สึกใจไม่ค่อยดีเลย นอกจากจะห่วงผู้คนทางบ้านแล้ว ลึกๆ ในใจยังรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย

โดย...สืบสิน ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์

เมื่อครั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่รู้สึกใจไม่ค่อยดีเลย นอกจากจะห่วงผู้คนทางบ้านแล้ว ลึกๆ ในใจยังรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยโบราณสถานและโบราณวัตถุอันมีค่า ได้แต่ภาวนาให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

เวลาผ่านไปสิ่งที่กังวลใจรู้สึกคลายเบาบางลง เมื่อเห็นภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุเหล่านั้น ผ่านการบูรณะและซ่อมแซม ยังตระหง่านท้ากาลเวลาดังเดิม หนึ่งในโบราณสถานที่รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่งก็คือ วัดไชยวัฒนาราม นั่นเป็นเพราะวัดตั้งอยู่นอกตัวเมืองและยังติดกับแม่น้ำสายหลักอย่างเจ้าพระยา ที่โดนกระแสน้ำหลากเต็มๆ และ ต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งก็มีการป้องกันโดยการสร้างเขื่อนและวางกระสอบทรายกั้นน้ำไม่ให้โบราณสถานได้รับความเสียหาย จนมาถึงในขณะนี้วัดไชยวัฒนารามก็กลับมาท่องเที่ยวได้อีกครั้งหนึ่ง

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

วัดไชยวัฒนาราม ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระอารามหลวงสมัยอยุธยา ที่สร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาเจริญรุ่งเรือง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2137 ในบริเวณนิวาสสถานของพระราชชนนี เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระราชมารดา วัดตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง ตรงข้ามกับพระตำหนักสิริยาลัย ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา

เดิมวัดไชยวัฒนาราม มีชื่อว่า “วัดชัยวัฒนาราม” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวก (พนมเปญในสมัยนั้น) จึงใช้คำว่า “ชัย” ที่หมายถึงชัยชนะ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วัดไชยวัฒนาราม” เพราะคำว่า “ไชย” หมายถึงไชโย เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และครอบคลุมรวมทั้งหมด รวมถึงชัยชนะด้วย

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

สำหรับการสร้างวัดนั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลาย ทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เนื่องจากพระองค์ทรงได้เมืองเขมรมาอยู่ใต้อำนาจ จึงได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมเข้ามาใช้ในการสร้างพระปรางค์ของวัดไชยวัฒนารามนี้ด้วย โดยตั้งใจจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา

พระปรางค์ประธานนั้นมีชื่อว่า “พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ” ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้ง 4 ทิศ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคดที่เดิมนั้นมีหลังคา แต่ปัจจุบันพังทลายลงมาแล้ว ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย สร้างด้วยหินทรายที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ แต่ปัจจุบันพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยเหล่านั้นไม่มีเศียร เพราะถูกขโมยตัดเศียรไปขาย และหาสมบัติที่เล่ากันว่าซ่อนอยู่ภายในพระพุทธรูป

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

ส่วนที่แปลกจากวัดอื่นๆ อีกก็คือที่นี่มีใบเสมาที่ทำด้วยหินสีเขียว ซึ่งคล้ายกับหินดินดำแต่มีสีเขียว แกะสลักเป็นลวดลายประจำยาม 4 แฉกเหมือนดอกไม้ นอกจากนี้ ยังมีพระอุโบสถที่สร้างอยู่ทางด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุรายนอกระเบียงคด ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ข้างๆ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และมีปรางค์เจดีย์ขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นมาในภายหลัง

ความสำคัญของวัดนี้ นอกจากจะเป็นวัดที่มีความสวยงามและมีการก่อสร้างไม่เหมือนวัดอื่นๆ แล้ว วัดนี้ยังเป็นที่ฝังศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลาย และเจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากเจ้าฟ้ากุ้งไปรักกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ พระชายาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนมีเรื่องที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังต่อกันมาว่า เพลาใดที่เป็นคืนเดือนเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงอาจจะได้เห็นชายหญิงแต่งเครื่องกษัตริย์มาเดินอยู่ในวัดแห่งนี้

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

และยังมีเรื่องเล่ากันอีกว่า สมัยก่อนคนมักศึกษาด้านไสยศาสตร์ คาถาอาคม และเมื่อคราวก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก ทหารที่ต้องออกศึกสงครามก็เป็นห่วงครอบครัว ลูกเมียที่บ้าน เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายจึงได้ใช้คาถาอาคมผนึกบ้านเรือนของตนไว้ พรางตามิให้ข้าศึกศัตรูเห็นได้ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านในละแวกวัดไชยวัฒนารามก็เคยเห็นทหารใส่ชุดนักรบโบราณปรากฏตัวให้เห็นบ่อยครั้ง บ้างก็ถ่ายรูปที่วัดไชยวัฒนารามแล้วติดรูปหญิงสาวในชุดไทย จนเรื่องเล่าเหล่านี้ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครเรื่อง “เรือนมยุรา” เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมานานทีเดียว

รวมพื้นที่ที่ใช้สร้างวัดไชยวัฒนารามแล้วประมาณ 160 เมตร ยาว 310 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รับกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นภูมิทัศน์ที่งดงามยิ่งวัดหนึ่งของ จ.พระนครศรีอยุธยา ทีเดียว

หากมีเวลาไปเที่ยวอยุธยาครั้งใดก็อย่าลืมแวะมาสัมผัสถึงความตั้งใจกับฝีมือช่างครั้งก่อน แล้วคุณจะสัมผัสได้ว่าความศรัทธาที่พวกเขาเหล่านั้นทุ่มเท ยังคงสะท้อนตัวตนของพวกเขามาจนถึงทุกวันนี้

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม

 

วัดไชยวัฒนาราม ความงดงามที่ไม่เคยลืม