posttoday

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ นักล่าตะวัน ภูเขา ทะเล

30 กรกฎาคม 2559

ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดนับพัน ประโยคกินใจเกี่ยวกับช่างภาพที่อาจใช้ไม่ได้กับ นันท์-ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์

โดย...รอนแรม ภาพ... ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์

ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดนับพัน ประโยคกินใจเกี่ยวกับช่างภาพที่อาจใช้ไม่ได้กับ นันท์-ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ ช่างภาพแนวแลนด์สเคปและซีสเคป (Landscape & Seascape) ที่ไม่ได้เพียงถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดความหมาย แต่ยังส่งผ่าน “ความรู้สึก” ของธรรมชาติให้เหมือนกับว่ามันกำลังเกิดขึ้นจริง

นันท์เคยฝากฝีมือการถ่ายภาพไว้บนหน้าปกนิตยสารถ่ายภาพชื่อดัง 15 ฉบับในระยะเวลา 3 ปี ทั้งที่เริ่มจับกล้องนิคอนคู่ใจมาได้เพียง 6 ปีเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ เขาไม่เคยเข้าคอร์สเรียนถ่ายภาพ แต่เรียนรู้เทคนิคจากเพื่อนช่างภาพและพัฒนาทักษะจากประสบการณ์ตัวเอง

เขาเริ่มใช้กล้องฟิล์มครั้งแรกสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ได้คะแนนถ่ายภาพเกรดซี แต่ก็ยังหลงรักมันแบบหยุดรักไม่ได้

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ นักล่าตะวัน ภูเขา ทะเล

 

“ผมชอบความรู้สึกที่คนถูกถ่ายชอบภาพของเรา” เขากล่าว “ซึ่งในตอนนั้นผมถ่ายภาพเพื่อให้คนอื่นมีความสุข ผิดจากปัจจุบันที่เหตุผลเปลี่ยนไป ตอนนี้ผมมีความสุขจึงถ่ายภาพ ความสุขคือการได้ออกไปผจญโลกกว้าง ได้ไปปีนเขา เดินป่า ได้สัมผัสธรรมชาติ โมเมนต์เหล่านั้นคือความสุขที่ได้ถ่ายภาพ ส่วนภาพถ่ายคือสิ่งที่ทำให้เราระลึกถึงความสุขตรงนั้น นั่นคือความสำคัญของภาพ”

เปลี่ยนที่ เปลี่ยนแนว

ในช่วงแรกที่เริ่มถ่ายภาพ เขาให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพบุคคล (Portrait) และแทบไม่เข้าใจความสวยงามของภาพแลนด์สเคปเลย จนกระทั่งได้เดินทางไปศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งที่นั่นทำให้เขาได้สัมผัสความงามของธรรมชาติและได้เรียนรู้ที่จะถ่ายมัน

“ตอนนั้นถามตัวเองตลอดว่ามาเรียนทำไม เพราะมันเครียดมาก งานเยอะ อ่านหนังสือเยอะ ทำให้จิตตกทุกเช้า” นันท์เริ่มเล่าถึงชีวิตในซิดนีย์ “เลยให้คำสัญญากับตัวเองว่า ทุกวันเสาร์จะเดินออกไปถ่ายโฟโต้วอล์ก ให้เวลาตัวเองตั้งแต่ตีห้าถึงเก้าโมงเช้าเพื่อถ่ายรูปอย่างเดียว ทำได้อย่างนั้นได้เกือบเดือนเริ่มมีเพื่อนคนไทยที่ชอบถ่ายภาพเหมือนกัน รวมตัวกันแล้วนัดไปหาที่ถ่ายภาพทุกเสาร์-อาทิตย์”

สถานที่ที่ไปถ่ายบ่อยที่สุด คือ ทะเล เขาสารภาพว่าวันแรกที่ออกไปถ่าย รู้สึกไม่ชอบภาพซีสเคปเสียเลย เพราะถ่ายยาก ถ่ายไม่ได้เรื่อง กระทั่งผ่านไปไม่กี่ทริป เขาก็เริ่มรู้สึกอยากเอาชนะตัวเอง จึงลงมือถ่ายภาพซีสเคปไปเรื่อยๆ ศึกษาเทคนิคจากรุ่นพี่ไปเรื่อยๆ ศึกษาจากความผิดพลาดไปเรื่อยๆ จนฝีมือพัฒนาและเริ่มมีคนชม

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ นักล่าตะวัน ภูเขา ทะเล

 

“ผมศึกษาทั้งจากฮาร์ดแวร์ คือ จากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ไปถ่ายภาพด้วยกัน และจากซอฟต์แวร์ คือ ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ดูวิดีโอสอนในยูทูบ เบ็ดเสร็จกว่าจะเริ่มลงตัว เริ่มรู้สึกว่าตัวเองถ่ายภาพไม่ขี้เหร่ต้องใช้เวลา 2 ปี”

ภาพแลนด์สเคปแยกออกเป็นหลายประเภททั้ง ซีสเคป (ทะเล) วอเตอร์สเคป (เกี่ยวกับน้ำ) ซิตี้สเคป (เมือง) และแลนด์หรือเมาน์เทนสเคป (ภูเขา) ซึ่งมีความท้าทายต่างกัน แลนด์สเคปมีเรื่องของธรรมชาติเป็นอุปสรรค เช่น สภาพอากาศ สภาพแสง ส่วนซีสเคปจะต้องระวังคลื่นทะเลและความยากเรื่องการถ่ายย้อนแสง และสำหรับซิตี้สเคปจะยากเรื่องการเข้าถึงมุม ทั้งนี้เขาได้คัดเลือกภาพและโมเมนต์ที่เป็นที่สุดในการเป็นช่างภาพ

ท้าทายที่สุด

ประสบการณ์ 6 ปีที่เดินทางถ่ายภาพธรรมชาติมา เขายกให้การถ่ายภาพซีเคปเป็นการถ่ายภาพที่ยากที่สุด ครั้งหนึ่งเขาเคยตกน้ำ อุปกรณ์พัง เพราะถูกคลื่นทะเลซัดมาแล้ว

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ นักล่าตะวัน ภูเขา ทะเล

 

“ความท้าทายคือ เราต้องสู้กับความกลัวในขณะที่น้ำกำลังพุ่งเข้ามา กลัวทั้งความแรงของน้ำที่อาจทำให้เกิดอันตราย และกลัวว่าอุปกรณ์ของเราจะเสียหาย ซึ่งนอกจากจะได้รูปสวยแล้ว เราเองก็ต้องปลอดภัยด้วย” โดยเทคนิคการถ่ายภาพทะเลมีสองแบบคือ หนึ่ง จับจังหวะปะทะ ต้องถ่ายภาพให้รู้สึกถึงความรุนแรงของน้ำ และสอง จับจังหวะไหลกลับ ต้องถ่ายภาพให้รู้สึกนุ่มนวล

ยากที่สุด

นอกจากจะเป็นช่างภาพ เขาต้องเป็นนักเดินทางตัวยงด้วย เพื่อไปตามหาแลนด์สเคปขั้นเทพตอบสนองความอยากของตัวเอง ซึ่งเขายกให้ เขตพาตาโกเนีย (Patagonia) รอยต่อระหว่างประเทศชิลีและอาร์เจนตินา เป็นที่สุดในความยากลำบาก เพราะเขาต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ในชิลีโดยใช้เวลา 48 ชม. และยังต้องเดินเท้าท่ามกลางอากาศแปรปรวนเพื่อขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นอีก 4 ชม.

“มันคือนางงามจักรวาลของการถ่ายภาพแลนด์สเคป” เขากล่าว “จุดเด่นคือแนวภูเขาที่มีฟอร์มเฉพาะของตัวเอง ถ้าแสงดี เขาจะเป็นนางงามจักรวาลแบบที่ไม่ต้องมีชุดประจำชาติมาก็ชนะ เหมือนกับว่าเขาโพสท่าให้เราถ่ายรูป สมกับความเหนื่อยความยากที่เดินทางมาไกล คุ้มมากที่ได้เห็นกับตาจริงๆ”

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ นักล่าตะวัน ภูเขา ทะเล

 

งามที่สุด

เขาถ่ายภาพมาไม่รู้กี่หมื่นใบ แต่ต้องยกให้ ดับเบิ้ลเลค ทะเลสาบคู่แฝดในเขตพาตาโกเนีย ฝั่งชิลี เป็นที่สุดของความงาม

“ภาพนี้เป็นวันแรกที่มีแสงลอดออกมา หลังจากฟ้าเน่ามาสามวัน พอเห็นแค่นั้นเราก็รีบขับรถไปที่ดับเบิ้ลเลค ไปรอพระอาทิตย์ขึ้น แต่สิ่งที่งามที่สุดกลับไม่ใช่ภาพดวงอาทิตย์ แต่เป็นภาพหมอกสีชมพูที่ลอยอยู่เหนือทะเลสาบ ก่อนที่จะลอยหายไปเผยให้เห็นภาพทะเลสาบสองแห่ง ซึ่งมันคือ Rare Moment ที่ถือว่าโชคดีมากๆ”

ความสวยงามของธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกเดินทาง เพื่อไปเก็บภาพสถานที่ต่างๆ ในแบบฉบับของตัวเอง “ยุคหนึ่งคนชอบถ่ายภาพสีสด ยุคหนึ่งชอบภาพแนวเอชดีอาร์ ผมก็ถ่ายไปตามยุคสมัย แต่ปัจจุบันผมรู้สึกเอียนกับภาพที่หลอก ผมอยากถ่ายภาพให้กลับมาสู่ความเป็นจริงมากขึ้น เพราะตอนนี้ผมไม่ได้ถ่ายเพื่อให้คนอื่นชื่นชม แต่ถ่ายเพื่อความสุขของตัวเอง”

การถ่ายภาพทำให้คนคน หนึ่งเห็นความหมายของการเดินทาง ทำให้เขาได้เรียนรู้ ได้รู้จักตัวเอง ได้แก้ปัญหา ได้ออกจากกรอบ และได้ค้นพบความจริงในธรรมชาติ และเขาก็หวังว่าภาพของเขาจะสร้างแรงบันดาลใจต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด สามารถติดตามผลงานแลนด์สเคปและซีสเคปได้ทาง www.atomiczen.net และ www.500px.com/atomiczen

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ นักล่าตะวัน ภูเขา ทะเล

 

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ นักล่าตะวัน ภูเขา ทะเล