posttoday

เดินย้อนยุค เจริญกรุง-ทรงวาด

27 มีนาคม 2559

การเดินทางแบบก้าวต่อก้าวทำให้เห็นสองข้างทางชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ ธนิสร หลักชัย

การเดินทางแบบก้าวต่อก้าวทำให้เห็นสองข้างทางชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครที่ทุกคนต่างเร่งรีบจนลืมมองบางอย่างเหมือนที่เกิดขึ้นกับ ธนิสร หลักชัย ช่างภาพและนักเขียนฟรีแลนซ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในเว็บไซต์ www.artoftraveler.com และเฟซบุ๊ก ART of Traveler เขาได้แนะนำเส้นทางเดินบุกกรุงแบบย้อนอดีตจาก เจริญกรุงถึงถนนทรงวาด ถนนสองสายที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความงดงามที่หลงลืม

ก้าวแรกเริ่มต้นในซอยเจริญกรุง 43 ณ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก บ้านไม้สองชั้นที่ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ บอกเล่าความเป็นอยู่ของชาวบางกอกช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แบ่งเป็น 3 อาคาร อาคารหลังแรกเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว หลังที่ 2 เป็นคลินิกของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน และหลังที่ 3 ชั้นล่างแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต ส่วนชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเขตบางรัก เปิดให้เข้าชมฟรี วันพุธ-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 08.00-16.00 น.

เดินย้อนยุค เจริญกรุง-ทรงวาด

 

จากนั้นในซอยเจริญกรุง 32 (ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก) เป็นซอยที่มีงานสตรีทอาร์ตในโครงการบุกรุกมากที่สุด ซึ่งคนที่ชอบถ่ายภาพน่าจะใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเก็บภาพจนจุใจ จากนั้นเดินตรงไปเรื่อยๆ เข้าสู่ย่านตลาดน้อย เดินไปในซอยกรมเจ้าท่าจะพบกับ วัดกาลหว่าร์ โบสถ์คาทอลิกสถาปัตยกรรมกอทิกที่ได้ชื่อว่าอยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2  ภายในโบสถ์มีรูปปั้นสำคัญ 2 รูป คือ รูปแม่พระลูกประคำใช้แห่ในวันฉลองวัด และรูปพระศพของพระเยซูเจ้าใช้แห่ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ทุกปี

จากนั้นออกจากโบสถ์เลี้ยวไปทางซ้าย เดินเพียงไม่กี่ก้าวจะถึงร้านอาหารชื่อดัง ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นกรมเจ้าท่า แวะรับประทานอาหารกลางวันกับเมนูหลากหลายทั้งบะหมี่เป็ดตุ๋น หมี่ผัดผักกระเฉด และเนื้อเป็ดตุ๋นเนื้อนุ่มที่สร้างชื่อเสียงให้ร้าน จากนั้นในตรอกเดียวกันเป็นเส้นทางเดินย้อนอดีตที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ตรอกศาลเจ้าโรงเกือกที่ชาวตลาดน้อยนิยมสักการะ เดินชมสตรีทอาร์ตตามกำแพง (มีขึ้นก่อนโครงการบุกรุก) และเรือนแถวเก่าที่ยังคงใช้งาน

เดินย้อนยุค เจริญกรุง-ทรงวาด

 

“เดินเลาะเข้าไปในชุมชนจะมีมุมถ่ายรูปเยอะมาก” ธนิสร กล่าว “ย่านนั้นเป็นร้านขายอะไหล่เก่าหรือที่เรียกว่าเซียงกง น่าจะถูกใจคนที่ชอบถ่ายรูปแนวสตรีทโฟโต้และแนวฮิปสเตอร์มากเป็นพิเศษ” เขายังกล่าวด้วยว่า ย่านตลาดน้อยมีความหมายทางวัฒนธรรมมากทั้งชุมชนชาวจีน ญวน แขก และไทย ทำให้สถาปัตยกรรม บ้านเรือน อาชีพค้าขาย อาหารการกิน มีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน

จากตลาดน้อยสามารถเดินทะลุไปที่ ถนนทรงวาด ถนนที่มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สองข้างทางยังคงรักษาตึกแถวยุคแรกของพระนคร โดยฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตึกแถวสามชั้น มีหน้าบันโค้งประดับลายปูนปั้น ตรงข้ามกันเป็นตึกสองชั้นประดับปูนปั้นรูปเถา นอกจากนี้ยังจะได้เห็นวิถีชีวิตเรียบง่ายที่พลอยทำให้การก้าวเดินช้าลงจนเกือบหยุดนิ่ง

เดินย้อนยุค เจริญกรุง-ทรงวาด

 

การเดินของเขาสิ้นสุดบนถนนสายนี้ แต่ปลายทางของแต่ละกันอาจไม่เหมือนกัน เพราะจากถนนทรงวาดสามารถเดินเชื่อมไปยังสำเพ็ง พาหุรัด และเยาวราช ใครที่อยากกินอาหารสตรีทฟู้ดมื้อดึกก็ไปจบที่ไชน่าทาวน์ หรือใครอยากซื้อเสื้อผ้าก็จบที่ตลาดสำเพ็ง

ร่วมการเดินในวันนั้นเขาเริ่มต้นแปดโมงเช้าและจบที่เวลาสี่โมงเย็น ซึ่งดูแย้งกับระยะทางที่ยาวไม่ถึง 10 กม. “เพราะการเดินไม่จำเป็นต้องรีบ ยิ่งเราช้า ก็ยิ่งเห็นสิ่งรอบตัวมากและชัดขึ้น” เขากล่าว นั่นเป็นเพราะจุดมุ่งหมายของการเดินทางไม่ใช่แค่ย่างก้าว แต่คือประสบการณ์ได้พินิจบ้านเรือนที่เดินผ่าน แวะสวัสดีคุณป้าที่นั่งอยู่หน้าประตู และหยุดดูสิ่งต่างๆ ที่เคยมองข้ามไป

เดินย้อนยุค เจริญกรุง-ทรงวาด

 

เดินย้อนยุค เจริญกรุง-ทรงวาด

 

เดินย้อนยุค เจริญกรุง-ทรงวาด