posttoday

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป

17 ตุลาคม 2558

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้ได้นำเสนอเรื่องราว จ.นราธิวาสและยะลา ครั้งนี้จึงจะไม่พูดถึง ปัตตานี อีกหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างไร

โดย...กาญจน์ อายุ

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้ได้นำเสนอเรื่องราว จ.นราธิวาสและยะลา ครั้งนี้จึงจะไม่พูดถึง ปัตตานี อีกหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างไร “ปัตตานีเป็นดินแดนริมฝั่งทะเลตะวันออก กอปรด้วยแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรีบรรณาการความสมบูรณ์ให้แก่ผืนดิน” คำอธิบายภูมิศาสตร์ในคู่มือท่องเที่ยวจังหวัด ทำให้เห็นภาพลางๆ เพราะฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้จักปัตตานีด้านอื่นนอกจากข่าวความรุนแรง

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยใช้แคมเปญ ชายแดนใต้วันนี้ดีขึ้นแล้ว แต่หลายคนทักท้วงจึงเปลี่ยนมาใข้คำว่า ดีกว่าที่ผ่านมา หวังดึงนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทยที่ต้องสร้างความเข้าใจเสียก่อน ภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า บรรยากาศความคึกคักน่าจะกลับไปเหมือนก่อนปี 2547 ภายในปี 2559  “ผมมั่นใจเพราะทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน ทำงานร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ความรุนแรงลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 ดังนั้นในขณะที่จังหวัดอื่นพีอาร์ว่าเขามีของดีอะไร แต่เราต้องพีอาร์เรื่องความปลอดภัย แก้ภาพความน่ากลัวกับคนไทยด้วยกันก่อน เพื่อสร้างความคึกคักให้กลับคืนมา เพราะความคึกคักจะอธิบายความปลอดภัยได้เอง”

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป สัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม

 

นักท่องเที่ยวสามารถประสานไปที่ ศอ.บต. เพื่อรับทราบข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ ส่วนการเดินทางที่สะดวกที่สุดคือ นั่งเครื่องบินลงที่เมืองหาดใหญ่ จากนั้นต่อรถตู้โดยสารที่สถานขนส่งหรือตลาดเกษตร ค่าโดยสารคนละ 100 บาท ใช้เวลาเดินทาง 2 ชม. สู่ตัวเมืองปัตตานี หรือไม่ก็เช่ารถยนต์จากหาดใหญ่จะทำให้การเดินทางไปยังสถานที่ที่น่าสนใจง่ายขึ้น เพราะแต่ละจุดอยู่ห่างกัน

ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ตัวเมืองออกไปยังอำเภอต่างๆ จุดแรกคือ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี กล่าวกันว่า เป็นมัสยิดที่สวยที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในปี 2497 หรือ 61 ปีมาแล้ว เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกคล้ายทัชมาฮาลของอินเดีย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ นักท่องเที่ยวสามารถชมความสวยงามได้จากด้านนอก แต่ถ้าบังเอิญพบเจ้าหน้าที่แล้วสามารถขออนุญาตเข้าไปชมด้านในก็ต้องทำตนให้สุภาพเรียบร้อย และผู้หญิงควรหาผ้าคลุมศีรษะเมื่ออยู่ด้านใน

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป จุดสักการะพระพุทธรูปด้านข้างพระใหญ่

 

จากนั้นออกจากตัวเมืองไป 7 กม. สู่บ้านกรือเซะ ไปชมสัญลักษณ์อดีตกาลของเมืองปัตตานีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะ มัสยิดกรือเซะสร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีเสากลมแบบศิลปะตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นความสวยงามที่เรียบง่ายอย่างยิ่ง ทว่าเบื้องหลังสถาปัตยกรรมที่น่าตรึงใจหลังนี้ยังมีบาดแผลที่ได้รับเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 ฝังอยู่ในมัสยิดและจิตใจคนไทย แต่อย่างที่ท่านภาณุกล่าวไว้ว่า อีกไม่นานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะกลับมาเป็นเหมือนก่อนปี 2547 แล้วปัตตานีก็จะเป็นประตูที่เปิดสู่ความสุข เหมือนคำจารึกเหนือประตูมัสยิดกรือเซะ

ติดกันกับมัสยิดเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือศาลเจ้าเล่งจูเกียง ประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เจ้าแม่ทับทิม และพระรูปอื่นๆ โดยในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ไปตามถนนสายต่างๆ ภายในตัวเมือง มีพิธีลุยไฟ และการอุ้มพระว่ายน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป ร้านขายอาหารเช้าหน้าโรงเรียนคึกคัก

 

ทั้งมัสยิดและศาลเจ้าแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของสองศาสนาสองวัฒนธรรมภายในชุมชนกรือเซะ ซึ่งยังพบที่อื่นอีกอย่างบ้านควนลังงา อ.โคกโพธิ์ ห่างจากตัวเมือง 26 กม. สถานที่สำคัญที่ชาวบ้านควนลังงาช่วยกันอนุรักษ์ไว้คือ สุเหร่าโบราณ ที่ตั้งอยู่เคียงคู่กับมัสยิดนัจมุดดีนที่เป็นโครงสร้างสมัยใหม่ สุเหร่าโบราณสร้างเป็นศาลาไม้ชั้นเดียว หลังคาทำจากกระเบื้องอิฐแดง เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย-มุสลิม ซึ่งมีลักษณะโครงการเหมือนศาลาการเปรียญที่วัดทรายขาวในหมู่บ้านเดียวกัน

สุเหร่าโบราณเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎ ดังนี้ หญิงมีประจำเดือนห้ามเข้า หญิงที่ยังไม่อาบน้ำตามหลักศาสนาอิสลามหลังมีประจำเดือนและคลอดบุตรห้ามเข้า ผู้ที่ยังไม่อาบน้ำตามหลักศาสนาหลังร่วมเพศกันห้ามเข้า ผู้ที่ไม่ปกปิดอวัยวะตามหลักศาสนาห้ามเข้า และเมื่ออยู่ในบริเวณสุเหร่าต้องสงบนิ่ง

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป นักศึกษาถ่ายรูปเซลฟี่หน้ามัสยิดกลาง

 

ด้านหลังสุเหร่าจะเห็นทิวเขาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว และในระยะลิบๆ จะเห็นพระพุทธรูปสีทองประดิษฐานอยู่บนยอดเขา ซึ่งสามารถสักการะได้โดยใช้เส้นทางอุทยานฯ ขึ้นไป ในเขตอุทยานฯ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างน้ำตกทรายขาว น้ำตกอรัญวาริน และน้ำตกโผงโผง รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามุนินทโลกนาถองค์สีทองขนาดใหญ่ และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก ท่ามกลางวิวเมืองปัตตานียามโพล้เพล้ได้รอบ 360 องศา

ถัดจาก อ.โคกโพธิ์ ออกไปอีกเล็กน้อยหรือห่างจากตัวเมือง 43 กม. เป็นที่ตั้งของ อ.ปะนาเระ ที่มีหาดทรายงาม 2 แห่ง อย่าง หาดปะนาเระ มีหาดทรายขาวสะอาดและเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงหลายร้อยหลังคาเรือน และหาดแฆแฆ ตั้งอยู่ในเขตหุบเขาเตี้ยล้อมรอบด้วยโขดหิน ทำให้มีลักษณะแปลกตา บนเนินเขามีจุดชมวิวทะเลอ่าวไทยที่สวยงามถึงขนาดที่ท่านภาณุแนะนำให้เป็นชายหาดไฮไลต์ต้องไปเยือน

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป ห้องเรียนศาสนาในมัสยิดกลาง

 

รวมถึงอำเภอที่ติดทะเลอีก 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ยะหริ่ง มีชายหาดตะโละกาโปร์ เป็นชายหาดยาวเลียบชายฝั่งอ่าวไทยและเป็นที่จอดเรือกอและของชาวประมงจำนวนมาก อ.สายบุรี มีชายหาดวาสุกรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาดบ้านปาตาตีมอ เป็นหาดยาวขนานทิวสน และในอำเภอยังมีหมู่บ้านปะเสยะวอที่มีความชำนาญเรื่องการต่อเรือกอและ และทำน้ำบูดูขึ้นชื่อประจำจังหวัด อ. ไม้แก่น ที่นี่มีชายหาดลักษณะพิเศษ เพราะเป็นหาดรอบบึงขนาดใหญ่เรียกว่า หาดทราย-ชายบึงบ้านละเวง เป็นบึงน้ำกร่อยที่ชาวบ้านทำการทดลองเลี้ยงปลาในน้ำกร่อยจนประสบความสำเร็จ และสุดท้าย อ.หนองจิก มีชายหาดที่ไม่สวยงามนัก แต่เป็นสถานที่พักผ่อนริมทะเลใกล้ตัวเมือง เพราะชายหาดเป็นดินปนทราย น้ำทะเลไม่ใส และไม่สามารถลงเล่นน้ำได้

ถ้าพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยใกล้ตัวเมืองแล้ว ขอแวะไปต่อยัง อ.ยะรัง ที่นั่นเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณลังกาสุกะ มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาด 9 ตร.กม. และมีการสร้างเมืองทับซ้อนกัน 3 เมือง ได้แก่ เมืองโบราณบ้านวัด เมืองโบราณบ้านจาเละ และเมืองโบราณบ้านปราแว ซึ่งเป็นลักษณะเมืองตามที่ปรากฏในเอกสารของชาวจีน ชวา มลายู และอาหรับ ครั้งกล่าวถึงเมืองลังกาสุกะอันรุ่งโรจน์

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป แสงส่องกระทบหนังสือศาสนาที่เก็บไว้ในมุมเสา

 

ปัตตานีมีทั้งสิ้น 12 อำเภอ ทุกอำเภอมีสถานที่ที่น่าสนใจทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมผสมผสานที่ถือว่าเป็นจุดแข็งทั้งในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อีกทั้งยังเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสคนท้องถิ่นซึ่งเป็นคนตอบได้ดีที่สุดว่า “ปัตตานีดีขึ้นแล้ว” จริงหรือไม่ สำหรับฉัน ไม่สามารถตอบได้ว่าปัตตานีดีกว่าปีที่ผ่านมาหรือเปล่า แต่ตอบได้เต็มปากว่า ปัตตานีน่ารักและฉันก็รักไปแล้ว

ติดต่อ ศอ.บต. โทร. 073-274-469 หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/Prsbpac (ประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.)

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป พระพุทธมหามุนินทโลกนาถ

 

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป ศิลปะแบบตะวันออก

 

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป สุเหร่าโบราณและมัสยิดนัจมุดดีน

 

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป ถ้ำพญางูภายในอุทยานฯ น้ำตกทรายขาว

 

ปัตตานี โชคดีที่ได้ไป สวนมะพร้าวในตัวเมืองปัตตานี