posttoday

นักบันทึกริมทาง

20 มิถุนายน 2558

คำปิดท้าย “จาก.จินดาโชติ” หลังบันทึกของ “ฌอห์ณ จินดาโชติ” นักเดินทางตัวยงที่ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านภาพถ่าย

โดย...รอนแรม

คำปิดท้าย “จาก.จินดาโชติ” หลังบันทึกของ “ฌอห์ณ จินดาโชติ” นักเดินทางตัวยงที่ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านภาพถ่ายและเรื่องราวสั้นๆ ในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางแล้ว ยังทำให้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตของชายหนุ่มที่พยายามเข้าใจโลก

นักแบกเป้

แต่ละปี ฌอห์ณ จะออกเดินทางไปต่างประเทศราวๆ 3 ครั้ง ทั้งกับเพื่อนและครอบครัว ส่วนต่างจังหวัดไปเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะบ้านอยู่ชานเมืองจึงเดินทางง่าย โดยถ้าไปกับครอบครัวจะเน้นความสะดวกสบายเพื่อรองรับคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว และหลาน แต่หากไปกับเพื่อนจะลุยถึงไหนถึงกัน

นักบันทึกริมทาง

 

“เวลาไปเที่ยวจะไปแบบแบ็กแพ็กเกอร์ ผมเป็นคนอยู่ง่าย นอนที่ไหนก็ได้ แต่ขอให้ได้ไปเที่ยวก็พอใจแล้ว” เขากล่าว โดยทุกครั้งเขาจะวางแผนการเดินทางเองภายในงบประมาณที่ตีกรอบไว้

เขาเล่าให้ฟังถึงทริปล่าสุดที่ไปตะลุยญี่ปุ่นกับเพื่อน “ครั้งนั้นไปหลายที่มาก ทั้งโตเกียว โอซากา ไปดูภูเขาไฟฟูจิ ขึ้นเหนือไปแถบๆ ฮอกไกโด” แต่หากถามถึงประเทศที่ไปบ่อยๆ เขามักไปสหรัฐอเมริกา ทั้งไปคนเดียวและไปกับครอบครัว โดยส่วนใหญ่จะขับรถเที่ยวข้ามรัฐ เวลาอยากหยุดที่ไหนก็หยุด แล้วดื่มด่ำกับสถานที่นั้น

นักบันทึกริมทาง

 

นอกจากนี้ เขายังมีประสบการณ์แย่ๆ “ผมโดนจี้บ่อย” เขาพูดเหมือนเป็นสิ่งปกติ “อย่างครั้งที่ไปอิตาลี ตอนนั้นรู้สึกแย่ รู้สึกผวา และทำให้รู้สึกเพลียกับการเดินทางโดยลำพัง แต่ถ้าถามว่าจะหยุดเที่ยวไหม ก็คงไม่หยุด ผมยังสนุกกับการเดินทางอยู่ และทุกครั้งที่กลับมาจะรู้สึกว่า เฮ้ย เราโตขึ้นอีกแล้ว”

ฌอห์ณ เก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างทางทั้งเรื่องดีและร้าย แต่ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ยังยืนยันว่าการเดินทางเป็นสิ่งที่ดี “การเดินทางมันไม่มีพิษมีภัยเลย” เขากล่าว “มันคือการได้ออกไปใช้ชีวิตและรับประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับตัวคุณเอง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ถ้ามันเป็นที่ที่เราอยากไปแต่แรก มันก็จะสนุกตั้งแต่เริ่ม”

เขายังกล่าวด้วยว่า เวลาไปเที่ยวเพื่อนๆ จะออกไปลุย แต่เขาจะไปเพื่อถ่ายรูป ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการบันทึกเรื่องราวผ่านสายตาของเขาเอง

นักบันทึกริมทาง

 

“การเป็นแบ็กแพ็กเกอร์แผนทุกอย่างจะอยู่ในมือของคุณ” เหมือนเขากำลังอธิบายตัวเอง “ความสนุกมันอยู่ตรงที่เราวางแผนมาแล้ว แต่มันยังมีปัญหาหน้างานอยู่ทุกๆ วัน เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ความสนุกมันอยู่ตรงนี้ครับ อยู่ตรงระหว่างทางก่อนที่จะถึงเป้าหมาย” เขาทำให้คนอยากเป็นแบ็กแพ็กเกอร์

นักเขียน

หากใครติดตามนิตยสารอะเดย์จะทราบว่า ฌอห์ณ เป็นนักเขียนให้เล่มนี้อยู่แล้ว และเมื่อมีโอกาสได้เขียนหนังสือของตัวเอง จึงเกิดเป็นหนังสือรวมความเรียง 29 เรื่อง ที่ไม่เน้นให้กำลังใจ แต่ให้ความจริงของชีวิต ชื่อ PRESENT PERFECT เพราะวันนี้...ดีที่สุดแล้ว ตอนนี้พิมพ์ครั้งที่ 15

“ตอนแรกเราทำเพราะอยากทำ” เขากล่าวถึงจุดเริ่มต้น “ไม่ได้คิดว่าใครจะอ่านหรือเปล่าเพราะมันเป็นสิทธิของเขาที่จะเลือก แต่พอทำไปมีคนอ่านเยอะขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าเขาอ่านแล้วเขาได้อะไรบางอย่างกลับไป ผมเลยรู้สึกดีใจที่ได้เขาได้รับเมสเซจ (Message) จากผม”

นักบันทึกริมทาง

 

การเดินทางมีส่วนช่วยกับหนังสือเล่มนี้ “มันทำให้เห็นมุมมองมากกว่า” เขากล่าวถึงการเดินทาง “ทุกๆ ครั้งที่ออกเดินทางมันจะมีเวลาให้เราขบคิด ผมไม่ต้องอยู่ในภาวะของการทำงานที่ต้องสวมบทบาทเป็นใคร เราจะได้อยู่กับตัวเอง มองสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น มองวิถีชีวิตของผู้คนรอบข้าง มองความเป็นอยู่ของคนอื่น เพราะบรรยากาศในการทำงานมันมีแค่ตัวละครกับไดอะล็อก มันไม่มีโอกาสได้พูดหรือฟังชีวิตของคนอื่นจริงๆ”

นอกจากนี้ ในอินสตาแกรม @seanjindachot ก็เหมือนไดอารี่หนึ่งเล่มที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาอ่านได้ นี่คือหนึ่งในบันทึกของเขา “butterfly affect ความโชคดีมันก็เหมือนการวิ่งไล่จับผีเสื้อ เรามักไม่เคยจับผีเสื้อได้หรอกจากการวิ่ง แต่เราจะได้จากการอยู่นิ่งเสียต่างหาก จาก.จินดาโชติ”

หรือ “Timezone วันเวลาที่เลยผ่านต่างสอนคุณค่าของวันนี้ที่เรามีอยู่ จาก.จินดาโชติ”

หรือ “moon walker เพราะการตัดสินใจในแต่ละครั้งที่เราก้าวเดิน นั้นหมายถึง อนาคตของเราที่กำลังจะไปถึง จาก.จินดาโชติ”

พออ่านแล้วทำให้ต้องพิจารณาใหม่ หรือต้องเรียกเขาว่า “กวี” กันแน่

นักบันทึกริมทาง

 

นักเก็บเกี่ยว

ฌอห์ณ กล่าวไว้ว่า “อย่าตั้งความหวัง” เพราะความคาดหวังทำให้เสน่ห์ของการเดินทางหายไป “ปล่อยให้มันเป็นไป” เขาว่าแบบนั้น “ให้ใช้ชีวิตไปตามแต่ละวันและเก็บเกี่ยวแต่ละวันนั้นแหละ เวลาคุณกลับมา ไม่ว่าคุณจะไปที่เดิมแต่ก็มีเรื่องเล่าที่ไม่เหมือนเดิม เพราะแต่ละวันมันมีความหมายที่แตกต่างกัน”

เขายังกล่าวถึงเมืองไทยที่มีเสน่ห์ให้ไปเก็บเกี่ยวทุกวัน “ประเทศไทยมีครบรส และมีเสน่ห์ที่น่าอิจฉา” เขาพูดในมุมนักท่องเที่ยว “ขึ้นเหนือมีภูเขา ลงใต้มีทะเล และวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทย ไม่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง ทำให้การเดินทางมันเกิดขึ้นได้ทุกซีซั่น” และสำหรับคนไทยจะมีข้อได้เปรียบอยู่อย่าง คือ ถ้าอยากไปวันไหนก็ไปได้เลย ไม่ต้องวางแผนมากเหมือนไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ ฌอห์ณ ยังรู้สึกว่าเวลาเดินทางสิ่งรอบข้างจะมีแรงดึงดูดให้เขาเข้าไปหา ทำให้ไม่ได้อยู่กับตัวเองมากเกินไป และใส่ใจกับสิ่งรอบข้างมากขึ้น

นักบันทึกริมทาง

 

โลกของฌอห์ณ

หากเขามีโลกของตัวเองหนึ่งใบ ฌอห์ณ อยากให้โลกนั้นมี “อิสรภาพ” เขาให้เหตุผลว่าเพราะโลกใบนี้มีกฎเกณฑ์มากมาย และมีข้อจำกัดทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ทำให้มันตีกรอบในการใช้ชีวิต

“ผมอยากให้เกิดมาก็สามารถเลือกอาชีพ เลือกความใฝ่ฝัน กำหนดเวย์และทำได้เลย ไม่ต้องรอ” ถ้าเป็นเช่นนั้นทุกคนก็จะมีโอกาสเท่าเทียมและสามารถทำอะไรก็ได้ที่ฝันไว้ แต่เมื่อโลกใบนี้ยังไม่เกิดขึ้น เราก็ต้องพยายามต่อไปเพื่อความฝันของตัวเอง

ติดตามบันทึกการเดินทางของ ฌอห์ณ จินดาโชติ ได้ที่อินสตาแกรม @seanjindachot