posttoday

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’

29 มีนาคม 2558

ทวีปแอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้ น้อยคนนักที่ชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ไปเยือน แต่ไม่ใช่กับ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์

โดย...ภาดนุ ภาพ (บุคคล) เสกสรร โรจนเมธากุล

ทวีปแอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้ น้อยคนนักที่ชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ไปเยือน แต่ไม่ใช่กับ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีประสบการณ์ในการไปเยือนขั้วโลกใต้มาแล้วถึงสองครั้ง

ตะลุยงานวิจัยครั้งแรก

รศ.ดร.สุชนา หรือเปิ้ล เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักวิจัยไทยเพื่อร่วมเดินทางไปขั้วโลกใต้กับคณะสำรวจจากประเทศญี่ปุ่นรุ่นที่ 51 ในปี 2551 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการทุนวิจัยลอรีอัลฯ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เพื่อร่วมศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

“การได้ไปเยือนขั้วโลกใต้เป็นสิ่งที่ดิฉันใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก เพราะอยากไปเห็นนกเพนกวินตัวเป็นๆ ที่ขั้วโลกใต้จริงๆ เพราะฝังใจตั้งแต่เด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เคยพาไปดูนกเพนกวินซึ่งอยู่ในห้องแอร์ในสวนสัตว์ แล้วดิฉันสังเกตว่ามันจะเป็นผดตุ่มแดงๆ มองแล้วไม่น่ารักเลย (หัวเราะ) ก็เลยอยากจะไปเห็นเพนกวินตัวเป็นๆ ที่ขั้วโลกใต้ว่ามันจะเป็นยังไงบ้าง”

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’

 

เนื่องจากเป็นคนที่ชอบท้องทะเลเป็นทุนเดิม เปิ้ลจึงเลือกเรียนปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จุฬาฯ ต่อด้วยปริญญาโทสาขาชีววิทยา และปริญญาเอกสาขาสัตววิทยา จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐ เมื่อเรียนลึกลงไป ก็พบว่าขั้วโลกใต้เป็นสถานที่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอยากจะไปสำรวจกันทั้งนั้น เพราะมีสัตว์อยู่หลายชนิดที่ยังคงแสดงพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงซึ่งหาดูได้ยาก เหมาะแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ไม่ได้มีแต่นกเพนกวินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้เราเป็นห่วงในเรื่องภาวะโลกร้อนกันอยู่ ที่ขั้วโลกใต้จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะจะไปศึกษาวิจัยอย่างมาก เพราะตอนนี้น้ำแข็งที่ขั้วโลกจะค่อยๆ ละลายมากขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างที่ขั้วโลกใต้ยังถือเป็นสถานที่รองรับมลพิษเลยก็ว่าได้ เวลาที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในอากาศ ก๊าซเหล่านี้ก็จะไหลไปรวมกันอยู่ที่ขั้วโลกใต้เพราะแรงดึงดูดของโลก ทำให้ตอนนี้ขั้วโลกใต้มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดแล้ว การไปขั้วโลกใต้จึงเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ดิฉันทำอยู่”

เปิ้ล เล่าว่า สถานีสำรวจของญี่ปุ่นที่ต้องเดินทางไปนั้นตั้งอยู่บนทวีปแอนตาร์กติกในช่วงที่ไกลมากๆ ไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ ต้องเดินทางโดยเรือจากออสเตรเลีย และต้องเป็นเรือตัดน้ำแข็งเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าสู่สถานีสำรวจได้ ใช้เวลาเดินทางไป 1 เดือน และต้องอยู่ทำการสำรวจที่สถานีอีก 2 เดือน จากนั้นต้องนั่งเรือกลับอีก 1 เดือน รวมแล้วต้องใช้เวลาทั้งหมด 4 เดือน แถมอากาศที่นั่นยังหนาวเย็นจนอุณหภูมิติดลบอีกด้วย

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’

“ก่อนเดินทางไปต้องมีการเช็กความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายต้องมีการเข้าแคมป์เพื่อเทรนก่อน 1 สัปดาห์ โดยต้องวิ่งตอนเช้าทุกวันเพื่อฟิตร่างกาย มีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด รวมทั้งการทดสอบจิตใจโดยแพทย์ผู้เขี่ยวชาญ ซึ่งสำคัญมาก เพราะใน 4 เดือนนี้จะได้เจอแต่คณะนักวิจัยด้วยกัน 80 คนเท่านั้น ไม่สามารถโทรศัพท์คุยกับครอบครัวหรือญาติพี่น้องได้เพราะไม่มีสัญญาณ ถ้าใช้สัญญาณดาวเทียมก็แพงเกินจำเป็น หรือจะส่งอีเมลหาครอบครัวก็เป็นไปได้น้อยมาก

ฉะนั้น จิตใจจึงต้องมั่นคงไม่หวั่นไหวง่าย ซึ่งทุกคนก็ผ่านการทดสอบมาได้ด้วยดี ตอนหลังถึงได้รู้ว่าการที่เขาเทรนเรานั้นมันมีประโยชน์จริงๆ เพราะในการสำรวจขั้วโลกใต้ เราต้องเดินไปตามทุ่งน้ำแข็งวันละ 8-9 ชั่วโมง ทุกคนจึงต้องมีร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังต้องฝึกดูเข็มทิศให้เป็น เพราะถ้าดูเข็มทิศไม่เก่ง ก็อาจหลงทางบนทุ่งน้ำแข็งขาวโพลนจนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้”

เปิ้ล บอกว่า การออกสำรวจไปตามทุ่งน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ นอกจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นอุณหภูมิติดลบแล้ว ลมยังพัดแรงมากๆ บางครั้งลมอาจจะพัดเอาเศษวัสดุต่างๆ เช่น หัวนอต เศษเหล็ก ที่หลงเหลือจากทีมวิจัยก่อนหน้านั้น ปลิวมาใส่เราด้วยความรุนแรงได้ เวลาที่ออกสำรวจจึงต้องใส่หมวกนิรภัยซึ่งลักษณะคล้ายๆ หมวกกันน็อกทุกครั้ง เพื่อป้องกันเศษวัสดุเหล่านี้พัดมาเจาะศีรษะ จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ แล้วการทำงานบนแผ่นน้ำแข็งในแต่ละวันยังต้องสวมชุดและรองเท้าบู๊ต ซึ่งทำจากวัสดุพิเศษที่มีน้ำหนักมาก ทำให้เดินเหินลำบากและต้องระวังตัวทุกฝีเก้า แต่ถึงจะระวังตัวยังไงก็มีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้นจนได้

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’

“วันนั้นดิฉันและเพื่อนร่วมทีมอีกสองคนต้องทำงานบนทะเลน้ำแข็ง (ด้านบนเป็นน้ำแข็ง ด้านล่างเป็นทะเล) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นอันตราย เพราะหากน้ำแข็งเกิดแยกตัวแล้วตกลงไปก็อาจเสียชีวิตได้เลย งานของพวกเราคือการขุดหลุมเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำแข็ง โดยมีดิฉันทำหน้าที่ปักธงเป็นระยะๆ เพื่อทำเครื่องหมาย อุปกรณ์สำคัญที่พวกเราต้องมีติดตัวก็คือ นกหวีด เข็มทิศ และมีดพับ ซึ่งต้องห้อยคอไว้ตลอดเวลา

จำได้ว่าวันนั้นลมพัดแรงมาก ประกอบกับเราใส่หมวกนิรภัย เวลาใครพูดหรือใครเรียกก็จะไม่ได้ยินเลย แต่จริงๆ แล้วดิฉันกับเพื่อนร่วมทีมห่างกันแค่ 50-60 เมตรเท่านั้นเอง ตอนนั้นเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ใกล้จะมืด ขณะที่ดิฉันกำลังเดินเก็บธงตามแนวที่เราสำรวจบนแผ่นน้ำแข็งเพื่อเตรียมตัวกลับสถานี แต่บังเอิญเท้าดิฉันก้าวออกจากแนวสำรวจไปแค่ก้าวเดียวเท่านั้น ก็ทำให้ขาข้างหนึ่งตกยวบลงไปในน้ำแข็งที่ละลาย ด้วยความตกใจทำให้ดิฉันลืมเป่านกหวีดขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีม ดิฉันก็ตะโกนเรียกเพื่อนใหญ่เลย แต่ก็ไม่มีใครได้ยิน”

ขณะที่ขาอีกข้างหนึ่งของ รศ.ดร.สุชนา กำลังจะยวบตามลงไปอีกข้าง ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดบวกกับความโชคดี ทำให้เธอรีบตะเกียกตะกายขึ้นมายืนบนแนวสำรวจได้สำเร็จ และค่อยๆ เดินตามเพื่อนร่วมทีมไปจนทัน “พอเล่าเหตุการณ์ให้เพื่อนฟังเพื่อนก็พากันตกใจใหญ่ พวกเราจึงรีบพากันกลับสถานีทันที เพราะขืนอยู่นานไป อาจทำให้ขาที่ตกลงไปในน้ำแข็งเกิดอาการชาเดินไม่ได้ขึ้นมาแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่”

มิใช่มีแค่เรื่องตื่นเต้นเท่านั้น แต่เปิ้ลยังเก็บความทรงจำที่แสนประทับใจในการเดินทางครั้งนี้กลับมาด้วย “สิ่งที่ดิฉันประทับใจ ก็คือการได้ไปเยือนขั้วโลกใต้เป็นครั้งแรกในชีวิต ได้ไปเห็นนกเพนกวินตัวเป็นๆ ใกล้ๆ แบบที่หวังไว้ ได้เก็บตัวอย่างน้ำแข็งมาวิจัย ได้เห็นแมวน้ำตัวเป็นๆ ในระยะใกล้ๆ รวมทั้งการได้เดินบนทุ่งน้ำแข็งที่ขาวโพลนสวยงาม ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ของขั้วโลกใต้ที่ดิฉันไม่เคยลืม และหวังว่าจะมีโอกาสได้กลับมาอีกครั้ง”

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’

 

เยือนขั้วโลกใต้ครั้งที่สอง

เมื่อต้นปี 2557 รศ.ดร.สุชนา ก็มีโอกาสได้เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้อีกครั้ง กับคณะสำรวจจากประเทศจีน ภายใต้โครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเดินทางครั้งนี้ต้องขึ้นเครื่องบินมาลงที่ประเทศชิลี จากนั้นจึงบินต่อไปยังเกาะคิงจอร์จ ซึ่งตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรของทวีปอเมริกาใต้ อันเป็นที่ตั้งของสถานีสำรวจของจีน และสถานีสำรวจของอีกหลายประเทศ การเดินทางครั้งนี้ไปง่ายและค่อนข้างสะดวกสบายกว่าครั้งแรกมาก

“การมาครั้งหลังนี้ ดิฉันมีโอกาสได้ดำน้ำสำรวจใต้ทะเลแถบขั้วโลกใต้ด้วยค่ะ เพราะตอนเรียนอยู่ที่สหรัฐ ดิฉันเคยเรียนดำน้ำ เคยเป็นครูสอนดำน้ำ และมีประสบการณ์ดำน้ำในเขตหนาวมาพอสมควร ประกอบกับทางคณะสำรวจจากจีนบอกว่า ถึงแม้จะเคยมาสำรวจที่สถานีนี้ถึง 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยมีนักวิจัยคนไหนเคยลงไปดำน้ำสำรวจใต้ทะเลสักที จีนก็เลยอนุญาตให้ดำน้ำได้ เพราะเขาก็อยากรู้เหมือนกันว่าใต้ทะเลแถบนั้นมีอะไรบ้าง” (หัวเราะ)

เปิ้ล บอกว่า ก่อนจะดำน้ำสำรวจใต้ทะเลได้นั้น นอกจากต้องมีการฟิตร่างกายให้พร้อมแล้ว ยังต้องมีการใส่ชุดดำน้ำแบบพิเศษที่เรียกว่า “ดรายสูท” ด้วย ซึ่งการดำน้ำปกติทั่วไปจะใช้แค่เว็ตสูทซึ่งน้ำสามารถซึมเข้าไปได้ แต่การดำน้ำในเขตหนาวอย่างขั้วโลกใต้ที่มีอุณหภูมิติดลบ จะใช้ชุดดำน้ำแบบดรายสูท ที่สามารถกันไม่ให้น้ำซึมเข้าไปถึงผิวกายของนักดำน้ำเท่านั้น

“การที่จะใช้ชุดดรายสูทได้ จะต้องมีการไปเทรนก่อนค่ะ ดิฉันจึงต้องบินไปเทรนที่มหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ สหรัฐ ที่ดิฉันเรียนจบมาถึง 2 ครั้ง เพราะบุคลากรที่นั่นมีประสบการณ์ในการดำน้ำที่แอนตาร์กติก
มาก่อน สถานที่ที่เราไปเทรนก็มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับแถบขั้วโลกใต้ ซึ่งอุณหภูมิต่ำสุดในการดำน้ำจะอนุญาตที่ลบ 1 องศาเซลเซียส และดำน้ำได้แค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ไม่งั้นใบหน้าเรา มือเราจะชาจนไม่มีความรู้สึกอะไร ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’

 

 

เปิ้ล เสริมว่า ชุดดรายสูทสำหรับดำน้ำมีหลายประเภท แต่ชุดที่ต้องใช้บริเวณขั้วโลกใต้ต้องเป็นชุดที่มืออาชีพจริงๆ เธอจึงต้องไปสั่งตัดเป็นพิเศษ เพื่อให้เข้ากับสรีระของตัวเองที่สุด ส่วนเทคนิคย่อยๆ นั้นก็ต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ เวลาดำน้ำทุกครั้งจะต้องมีบัดดี้เป็นคนดูต้นทาง บนเรือยางหรือบนฝั่งอยู่ด้วยเสมอ เพื่อความปลอดภัย

“เรื่องการดำน้ำ เรื่องชุด เมื่อเตรียมพร้อมแล้วก็ไม่มีปัญหา แต่ตัวปัญหาซึ่งเป็นอันตรายจริงๆ ก็คือ ‘แมวน้ำเสือดาว’ ค่ะ ชื่อก็บ่งบอกถึงความดุร้ายอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นบริเวณใกล้ๆ กันนี้ เคยมีนักดำน้ำชาวอังกฤษคนหนึ่งถูกแมวน้ำเสือดาวคาบหายไป เหลือแต่ชุดดำน้ำกับถังออกซิเจนทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า ซึ่งเจ้าแมวน้ำเสือดาวนี่จะตัวใหญ่และยาวราว 3 เมตร หนัก 200 กว่ากิโล หากมันคิดว่ามนุษย์ที่สวมชุดดำน้ำเป็นเพนกวินตอนที่มันกำลังหิว โศกนาฏกรรมแบบนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ”

รศ.ดร.สุชนา เสริมว่า ตอนดำน้ำทุกครั้ง นักดำน้ำจะต้องมีเชือกผูกติดกับตัวไว้ เพื่อให้สามารถกระตุกเชือกส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้ ยามมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น การที่ต้องมีบัดดี้คอยอยู่บนเรือยางหรือบนฝั่งนั้นเป็นข้อดี เพราะบัดดี้จะมีนกหวีดติดตัวคอยเป่าเตือนภัยหากมีแมวน้ำเข้ามาใกล้ หรือคอยเร่งเครื่องยนต์เรือยางให้ดังๆ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้นักดำน้ำรู้ว่า มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น และจะต้องรีบขึ้นจากน้ำทันที

“ดิฉันได้บัดดี้เป็นผู้ชายชาวเกาหลี และเคยเป็นทหารมาก่อนซึ่งอยู่ที่สถานีใกล้ๆ ก่อนดำน้ำดิฉันได้ยินเขาพูดภาษาเกาหลีกับเพื่อนของเขา ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าเขาพูดเรื่องอะไรกัน (หัวเราะ) ตอนหลังถึงได้มารู้ว่าบัดดี้ของดิฉันได้เห็นแมวน้ำเสือดาวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น แต่เขาคิดว่าคงไม่มีอะไร ถ้ามีแมวน้ำเสือดาวเข้ามาจู่โจมจริงๆ ละก็ เขาคิดไว้ว่าจะปกป้องดิฉันด้วยมีดสำหรับเก็บตัวอย่างที่เขามีนั่นแหละ (หัวเราะ)

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’

 

การดำน้ำครั้งนี้เป็นการดำที่ดิฉันเดินลงมาจากฝั่ง ไม่ได้ลงจากเรือยาง ดำไปได้ครึ่งชั่วโมงก็โชคดีที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอเดินขึ้นถึงฝั่งเท่านั้น บัดดี้กลับบอกว่า ‘คุณรู้มั้ย มีแมวน้ำเสือดาวเข้ามานะ มันอยู่ห่างไปไม่ไกลเท่าไหร่ ผมเลยไล่มันด้วยการเอาก้อนหินปา พอไม่เห็นผมเลยคิดว่ามันไปแล้วละ’ แต่พอมาดูภาพที่เพื่อนถ่ายไว้ตอนที่ดิฉันเดินขึ้นฝั่งมาแล้ว ซึ่งถ่ายติดเจ้าแมวน้ำเสือดาวกำลังโผล่หัวขึ้นมาอยู่ใกล้ๆ ดิฉันถึงกับขนลุกเลยค่ะ รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่มันไม่เข้ามาจู่โจม นี่ถ้าดิฉันอยู่ในน้ำนานกว่านี้อีกหน่อยก็อาจจะเจอแจ็กพอตได้ ซึ่งดิฉันก็คงว่ายน้ำหนีไม่ทันแน่นอน เพราะชุดที่ใส่บวกกับถังออกซิเจน รวมกันแล้วหนักเกือบ 30 กก.แน่ะ” (หัวเราะ)

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ ครั้งหนึ่งขณะที่เปิ้ลกำลังว่ายน้ำอยู่ดีๆ ก็มีฝูงนกเพนกวินแตกฮือว่ายถาโถมเข้ามาที่ตัวเธอ แวบแรกเจ้าตัวบอกว่าก็ตกใจ แต่พอตั้งสติได้เธอก็รีบว่ายน้ำขึ้นฝั่งอย่างรวดเร็ว เพราะจำได้ว่าการที่เพนกวินว่ายแตกตื่นเป็นฝูงเข้ามาแบบนั้น สาเหตุเพราะพวกมันกำลังหนีตายจากแมวน้ำที่กำลังไล่ล่าพวกมันเป็นอาหารนั่นเอง แต่ถือว่าโชคดีมากๆ ที่เปิ้ลรีบว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีเรื่องร้ายใดๆ เกิดขึ้น

“สิ่งที่ดิฉันประทับใจในการไปขั้วโลกใต้ครั้งที่สองนี้ก็คือการได้ดำน้ำนี่แหละค่ะ ที่สำคัญดิฉันรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณภายใต้โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอันมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ไทยได้ร่วมมือกับจีนในการสำรวจด้วยกัน เขาจึงต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ในการไปขั้วโลกใต้มาแล้ว ดิฉันจึงถือเป็นผู้โชคดีที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้

เรียกว่าความฝันในการได้ไปเยือนขั้วโลกใต้และได้ดำน้ำสำรวจเป็นจริงสมใจแล้วค่ะ” รศ.ดร.สุชนา ทิ้งท้าย

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ‘ฉันไปเยือนขั้วโลกใต้ มาแล้วสองครั้ง’