posttoday

ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นสุพรรณบุรี

21 ตุลาคม 2557

ใกล้ถึงวันที่ 23 ต.ค. ของทุกปีอันเป็นวันปิยมหาราช บริษัท บัตรกรุงไทย จัดรำลึกย้อนรอยด้วยการล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้น

โดย...อณุสรา ทองอุไร

ใกล้ถึงวันที่ 23 ต.ค. ของทุกปีอันเป็นวันปิยมหาราช บริษัท บัตรกรุงไทย จัดรำลึกย้อนรอยด้วยการล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้น ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2447 (ร.ศ. 123) แวะไหว้พระที่ 3 วัด คือ วัดพระศรีมหาธาตุ วัดตะค่าหรือวัดแก้วตะเคียนทอง และวัดบางยี่หน อันเป็นเส้นทางเสด็จฯ ของรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ทรงแวะประทับและเสวยพระกระยาหาร

เริ่มเดินทางไปถึงวัดแรก คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดโบราณประจำเมืองเก่าสุพรรณบุรีสมัยสุวรรณภูมิ ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตรพระปรางค์และโบราณสถานซึ่งสร้างขึ้นก่อนสมัยอยุธยา ที่บูรณะโดยขุนหลวงพะงั่วหรือพระบรมราชาธิราชที่ 1 ที่ยังเหลือลายปูนปั้นอยู่บางส่วน และวัดนี้นี่เองที่พบพระผงสุพรรณซึ่งเป็นหนึ่งในชุดพระเครื่องเบญจภาคีสุดยอดของพระเครื่อง (มีพระผงสุพรรณ พระสมเด็จ พระซุ้มกอ พระทุ่งเศรษฐี และพระนางพญา)

ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นสุพรรณบุรี

รู้เห็นปัญหาด้วยพระองค์เอง

อาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย วิทยากรตลอดการเดินทางครั้งนี้ บรรยายให้ฟังว่า เส้นทางเสด็จฯของพระองค์ท่าน ในเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินมาสุพรรณบุรี ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกเริ่มจากราชบุรี ไปเพชรบุรี นครปฐม เข้าสุพรรณบุรี ครั้งที่สอง เริ่มจากสระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัย นครสวรรค์ กำแพงเพชร วกเข้าสุพรรณบุรี ในครั้งที่สองนี้พระองค์ได้ทรงเขียนบันทึกด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นการสำรวจเส้นทางแม่น้ำ ส่วนครั้งที่ 3 ใช้เวลา 34 วัน อาจารย์พลาดิศัย เล่าว่า รัชกาลที่ 5 ทรงเคยตามเสด็จประพาสต้นแบบนี้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ขณะที่พระองค์ผนวชเป็นสามเณรอยู่หลายครั้ง

รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ แบบส่วนพระองค์โดยไม่มีใครรู้ว่า ทรงเป็นกษัตริย์ เหมือนว่าข้าราชการไปสำรวจเส้นทางแล้วพระองค์ก็ทรงพักผ่อนตามอัธยาศรัย ไม่มีแผนว่าวันนี้จะไปที่ไหนอย่างไร คือไปเรื่อยๆ ดูบ้านดูเมือง อยากหยุดที่ไหนก็หยุด อยากค้างที่ไหนก็ค้าง “อย่างรายการอาหาร พระองค์ก็ไม่ได้รับสั่งว่าจะเสวยอะไร บางทีพระองค์ทรงลงครัวเอง ก็ทำอาหารตามที่มีวัตถุดิบอยู่ในตอนนั้น เช่น เมนูข้าวต้ม 3 กษัตริย์ หรือน้ำพริกลงเรือก็เกิดจากการเสด็จประพาสต้นนี้เช่นกัน” อาจารย์พลาดิศัย เล่า

ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นสุพรรณบุรี

ในครั้งที่สองพระองค์ทรงถ่ายภาพ เขียนบันทึกไว้ด้วย อีกจุดประสงค์คือ พระองค์ท่านทรงอยากเห็นและรับรู้ปัญหาของชาวบ้านด้วยสายพระเนตรของพระองค์เอง ไม่ใช่ฟังแต่ข้าราชการ เจ้าเมืองต่างๆ มารายงานแต่อย่างเดียว จะได้ทรงตรวจสอบว่ามีรายงานเท็จหรือไม่ เวลามีชาวบ้านมาเสวนาด้วย เขาก็จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง โดยที่ไม่รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ พอกลับไปพระองค์ก็จะไปทรงแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างรวดเร็ว

การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 นี้เมื่อ ร.ศ.125 หรือตรงกับ พ.ศ. 2449 ใช้เวลาทั้งหมด 25 วัน แต่เรื่องการเสด็จประพาสต้นของพระองค์ถูกนำมาเผยแพร่ หลังจากพระองค์ทรงเสด็จสวรรคตไปแล้วถึง 15 ปี คือออกมาถ่ายทอดครั้งแรกใน พ.ศ. 2467

ต่อจากนั้นล่องเรือในลำน้ำสุพรรณตามรอยนิราศของสุนทรภู่ เคล้ากับการขับเสภาและเรื่องเล่าจากคนสุพรรณแท้ๆ อย่างปราชญ์ชาวบ้านสมคิด พรหมพันธ์ ระหว่างทางสู่วัดแก้วตะเคียนทองหรือวัดตะค่า ที่วัดแห่งนี้ภายหลังจากเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 3 พระองค์ได้พระราชทานเรือไม้ตะเคียนทองที่พระองค์ใช้เป็นเรือเสด็จฯ ลำเล็กๆ และเตียงที่ประทับเป็นที่ระลึกให้กับวัด

ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นสุพรรณบุรี

มรดกทางวัฒนธรรม

อุดม เพชรน้อย นายกเทศมนตรีตำบลตะค่า ได้นำชมวิหารเก่าแก่สมัยอยุธยาที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะเป็นเงิน 800 บาท ให้กับวัดรวมทั้งเครื่องสังเค็ด(ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระโอรสองค์หนึ่งของพระองค์) อันประกอบด้วย ปิ่นโตเถาใหญ่ ตาลปัตร บาตรพระ และพระพุทธรูปทองคำ 2 องค์

ต่อจากนั้น ได้ล่องเรือชมวิวสองฝั่งแม่น้ำแบบไทยๆ ไปยังวัดบางยี่หน ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6 ในขณะนั้น) และคณะแวะเสวยพระกระยาหารเย็นก่อนเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา (บางปะอิน)

ที่วัดบางยี่หน วัดที่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงแวะประทับเสวยพระกระยาหาร ภายในวัดยังปรากฏสิ่งของพระราชทานอีกหลายชิ้น ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานไว้ให้แก่วัด ได้แก่ ปิ่นโตและเรือโบราณ ครั้งเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า

ตามประวัติกล่าวว่า วัดบางยี่หน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2350 เดิมชื่อ วัดบางชีหน ประมาณ พ.ศ. 2420 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อวัดเป็น “วัดบางยี่หน” พระอุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2524 มีพระประธานในโบสถ์เป็นพระปางสะดุ้งมาร ศิลปะสุโขทัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2420

นอกจากนี้ ยังมีหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ วิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2450 ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ยาว 7 วา 2 ศอก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2456 และวิหารหลวงพ่อขาว ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ

ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นสุพรรณบุรี

 

อาจารย์พลาดิศัย เสริมว่า การเสด็จประพาสคราวหลังๆ นี้ ความขบขันน้อยไปกว่าคราวแรกๆ ด้วยเหตุ 2 ประการ คือราษฎรรู้เสียมากว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ เสด็จฯ อย่างคนสามัญ ถ้าเห็นใครแปลกหน้าเป็นผู้ดีชาวบางกอก ก็ชวนจะเข้าใจไปเสียว่าพระเจ้าอยู่หัว บางทีมหาดเล็กเด็กชายพากันไปเที่ยว ไปถูกราษฎรรับเสด็จเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็มี เพราะฉะนั้นในตอนหลังจะหาใครไม่รู้จักพระองค์สนิทอย่างนายช้าง ยายพลับ ไม่มีอีกแล้ว

อีกประการหนึ่ง ตั้งแต่เสด็จฯ กลับจากยุโรปคราวหลัง มีเรือยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนเสด็จประพาสด้วยเรือยนต์เสียโดยมาก เมื่อเสด็จประพาสด้วยเรือยนต์แล้วก็ต้องเป็นอันรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เอง จึงไม่ใคร่มีเรื่องขบขันอย่างคราวแรกๆ

แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมากว่าร้อยปี นับจากการเสด็จประพาสต้น ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่จากการสำรวจเบื้องต้นของหน่วยวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนใน พ.ศ. 2550-2551 พบว่า เส้นทางและสถานที่เสด็จประพาสส่วนใหญ่ ยังคงหลงเหลือร่องรอยให้สืบสาวเรื่องราวในครั้งอดีตได้ค่อนข้างมาก

นอกจากเส้นทางและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเสด็จประพาสต้นแล้ว ชุมชน วัดวาอาราม ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ในเส้นทางเสด็จประพาสต้น ยังเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายของไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนในยุคปัจจุบันจะหันมาให้ความสนใจ ทำความรู้จัก และสร้างความเข้าใจต่อคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเหล่านี้ รวมทั้งช่วยกันดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อมรดกเหล่านี้ไปยังลูกหลานในอนาคตต่อไป

ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นสุพรรณบุรี

 

การเสด็จประพาสต้นคืออะไร

“การเสด็จประพาสต้น” เป็นการเสด็จฯ เพื่อทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามคำแนะนำของหมอหลวง โดยใช้เรือพลับพลาพ่วงเรือไฟไป ถ้าจะประทับแรมที่ไหนก็จอดเรือพลับพลาประทับแรมที่นั่น ทรงต้องการเสด็จประพาสอย่างเงียบๆ โดยไม่ให้ราษฎรรู้จักพระองค์ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดกระบวนเรือที่เรียกกันว่า “กระบวนประพาสต้น” คือทรงเรือมาดเก๋งสี่แจวอย่างที่ข้าราชการใช้กันในขณะนั้น มีเรือประทุน 4 แจว เป็นเรือเครื่องครัว พ่วงเรือไฟเล็กไปเพียง 2 ลำ การเสด็จฯ ครั้งนี้ มีพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ตามเสด็จฯ อีกหลายพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯลฯ

การเสด็จประพาสต้นครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447) เป็นการเสด็จทางชลมารคและทางรถไฟเป็นหลัก มีจุดเริ่มต้นจากพระราชวังบางปะอินเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2447 ผ่าน จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ธนบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กลับสู่บางปะอิน แล้วเสด็จฯ โดยทางรถไฟกลับสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2447

ต่อมาภายหลังการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 3 เริ่มใช้เรือที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ ไม่ใช่เรือแจวเหมือน 2-3 ครั้งแรกๆ ตั้งแต่เสด็จประพาสต้นคราว ร.ศ.123 แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จประพาสทำนองเดียวกันอีกหลายคราว บางทีเสด็จประพาสในกรุงเทพฯ นี้เองบ้าง ประพาสตามมณฑลหัวเมืองบ้าง

ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นสุพรรณบุรี