posttoday

จากสำเพ็งไปดูแก้ชงที่วัดมังกรกมลาวาส

02 กุมภาพันธ์ 2557

สำเพ็ง ชื่อนี้เป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย แม้จะเป็นเพียงตรอกซอกซอยเล็กๆ

โดย...สมาน สุดโต

สำเพ็ง ชื่อนี้เป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย แม้จะเป็นเพียงตรอกซอกซอยเล็กๆ ในปัจจุบัน แต่บทบาทในการกระจายสินค้าครอบคลุมทุกหนทุกแห่งในประเทศนี้ เพราะเป็นตลาดค้าส่ง แปลว่า จะซื้อของทั้งทีต้องซื้ออย่างน้อยครึ่งโหล ยกเว้นสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น นกหวีด อุปกรณ์ของมวลมหาประชาชนที่เป่าไล่นายกรัฐมนตรีรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีขายปลีก แต่ราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับซื้อโหล (1 โหล 180 บาท ราคาขายปลีก 20 บาท)

สำเพ็ง เป็นชื่อวัดและถนน

ถนนสำเพ็งเป็นชื่อที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จัก ส่วนชื่อทางราชการเรียกว่า ถนนวานิช 1 กว้างเพียง 45 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร เริ่มจากวงเวียนถนนทรงวาดติดกับวัดปทุมคงคา หรือวัดสำเพ็งไม่ไกลจากวัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์ มาสิ้นสุดที่วัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส ที่มีร้านเจ้ากรมเป๋อเป็นแลนด์มาร์กอยู่หน้าวัด (บางท่านเริ่มต้นทางสำเพ็งที่ย่านวัดสามปลื้มไปสิ้นสุดวัดสำเพ็ง)

ก่อนที่จะเข้ามาที่ถนนสำเพ็ง หรือวานิช 1 ผมแวะไปที่วัดสำเพ็งก่อน ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ ที่เก็บแผ่นหินที่รองรับการสำเร็จโทษหม่อมไกรสรด้วยท่อนจันทน์ เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 ตรงกับวันที่ 13 ธ.ค. 2391 ยังคงอยู่ หม่อมไกรสรหรือกรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้

จากสำเพ็งไปดูแก้ชงที่วัดมังกรกมลาวาส

 

โรงเรียนวัดปทุมคงคาที่เป็นโบราณสถานยังได้รับการดูแลอย่างดี

วัดสำเพ็งเปลี่ยนเป็นชื่อวัดปทุมคงคา นอกจากจะเป็นที่ประหารชีวิตยังเคยเป็นสุสานฝังช้างหลวง เคยเป็นที่ลอยอังคาร ชื่อวัดจึงมีคำว่าคงคาลงท้าย เพื่อสมมติว่า ณ ที่นี่คือแม่น้ำคงคาตามความเชื่อถือของฮินดู ที่จะให้วิญญาณผู้ตายสู่สรวงสวรรค์ ต้องมีแม่น้ำคงคาเป็นทางผ่าน ดังเช่นที่ผู้นับถือศาสนาฮินดูนิยมเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย

ที่หน้าวัดมีร้านขายถังไม้สักขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ 23 ร้าน ลูกค้าที่ซื้อมักซื้อไปเพื่อการตกแต่ง หรือทำสปาแล้วแต่ขนาด ติดกับวัดสำเพ็งเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นศาลเจ้าแห่งแรกๆ ของกรุงเทพมหานคร เพราะคนจีนที่อพยพเข้ามาไทย ในตอนแรกขึ้นเรือแถวถนนทรงวาด ได้สร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เพื่อกราบไหว้บูชา

ถนนวานิช 1 (สำเพ็ง)

จากวัดสำเพ็งก็เข้าถนนสำเพ็ง หรือถนนวานิช 1 ซึ่งผู้เขียนเคยพาชมถนนสำเพ็งหนหนึ่ง เมื่อปี 2547 ผ่านมา 10 ปี การค้าขายในถนนประวัติศาสตร์แห่งนี้ยังเหมือนเดิม

เมื่อย่างเข้าไปหันไปรอบๆ จะพบอดีตที่ยังเหลือคือตึกโบราณ ที่ตั้งอยู่ต้นทาง 2 คูหา ในละแวกนี้แต่ก่อนมีชื่อเสียงว่าเป็นที่ขายอุปกรณ์การประมง เช่น อวนขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่ปัจจุบันเหลือน้อยราย ที่เห็นมาแทนเป็นสินค้าประเภทเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ

ถัดมาจะพบเห็นศูนย์รวมสินค้าเพชรรัสเซียและพลอยอัดราคาย่อมเยา ซึ่งมีนับสิบร้านตั้งกันเป็นแถว 2 ฟากถนน ส่วนมากดำเนินการโดยพ่อค้าแม่ค้าที่นับถือศาสนาอิสลาม จากศูนย์เพชรรัสเซียและพลอยอัดก็ถึงศูนย์รวมรองเท้าแฟชั่น ที่มีแบบต่างๆ จนลานตา ถูกตาต้องใจผู้ที่รักแฟชั่นใหม่ๆ เสมอ

ศูนย์รวมของที่ระลึกมีขายเป็นระยะๆ และตลอดเส้นทางจะพบยานพาหนะที่สัญจรตลอดเวลา คือ รถเข็นสินค้าที่ใช้แรงงานคนลาก ทั้งนี้เพราะรถอื่นเข้ามาลำบาก นอกจากรถมอเตอร์ไซค์และรถตุ๊กตุ๊ก รวมทั้งรถเข็นของดังกล่าว

อย่างไรก็ตามช่วงนี้ เป็นเทศกาลตรุษจีน เมื่อเดินมาครึ่งซอยเลี้ยวขวาก็จะพบศาลเจ้าพ่อกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ตั้งอยู่ทางขวามือ ที่มีประชาชนเข้าไปบูชาตลอดเวลา แต่ยังไม่มากนัก ด้านหน้ามีของบูชาขายพร้อมทั้งของที่ซื้อไปบูชาแก้ปีชง เมื่อมองไปด้านบน พบว่าซอยนี้เช่นเดียวกับถนนเยาวราชที่แขวนโคมต้อนรับ และฉลองวันตรุษจีนอย่างงามตา

ซุนยัตเซ็น ปลุกชาวจีนที่สำเพ็ง

จากศาลเจ้าเดินไปตามซอยผลิตผล หรือซอยซุนยัตเซ็น ในซอยนี้มีสินค้าหลากหลาย รวมทั้งนกหวีด มือตบ สายรัดข้อมือสีธงชาติ ที่มีทั้งขายส่งและขายปลีก นอกจากสินค้าของเด็กเล่นและอื่นๆ รวมทั้งร้านก๋วยเตี๋ยว ขายน้ำ และอาหารอื่นๆ รวมทั้งขนมแบบโบราณ เช่น กะลอจี๊

สำเพ็งมีเสน่ห์มากแม้จะแออัดไปด้วยนักช็อป ก็ยังเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวนานาชาติเดินทางมาชมมิได้ขาด รวมทั้งคนฝรั่งกลุ่มหนึ่งที่ถีบจักรยานมาชมด้วย

ในซอยผลิตผล หรือซุนยัตเซ็น ที่แคบๆ มีวัดโลกานุเคราะห์ซึ่งเป็นวัดมหายานตั้งอยู่ด้วย

ป้ายวัดให้ข้อมูลว่า วัดนี้สร้างในปลายรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2354 โดยพ่อค้าชาวจีนและญวนร่วมมือกันสร้างขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดว่าวัดโลกานุเคราะห์

ภายในวัดมีภาพที่น่าสนใจ คือ ภาพพระศรีศากยมุนีทั้งสองผนังนับหมื่นองค์ นอกจากนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือหลวงอนุศาสน์จิตรกร ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีผลงานด้านจิตรกรรมที่พระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม

ส่วนซอยนี้มีชื่อว่า ซอยผลิตผล มีซุ้มซุนยัตเซ็น ด้านบนสร้างโดยชุมชนชาวจีนย่านเยาวราช เพื่อรำลึกถึง ดร.ซุน ยัตเซ็น ที่มาพบปะชาวจีนในย่านเยาวราช เพื่อระดมทุนและเปิดการปราศรัยใหญ่อยู่หลายคราว ในระหว่างวันที่ 20 พ.ย.–14 ธ.ค. 1908 สมัยรัชกาลที่ 5 จนบริเวณหนึ่งถูกตั้งชื่อว่าถนนปาฐกถา ส่วนบ้านที่ ดร.ซุน เคยมาพัก เดิมเป็นร้านขายยาชื่อไต้อันตึ๊ง ในซอยผลิตผลนี้เช่นกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ชาวชุมชนในซอยก็ได้พร้อมใจกันสร้างซุ้มซุนยัตเซ็นขึ้น เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ชาวจีนในไทยได้มีโอกาสต้อนรับและร่วมขบวนการโค่นอำนาจของพระนางซูสีไทเฮาที่เป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลังฮ่องเต้ต้าชิง

ข้ามถนนราชวงศ์ตรงข้ามกับร้านขายผ้าคิคุยา เข้าซอยสำเพ็งต่อ ซึ่งเป็นจุดขายสารพัดเช่นกัน แต่ที่มีชื่อเสียงมากในย่านนี้ คือ สิ่งทอและสินค้าอื่นๆ จนถึงถนนจักรวรรดิ

สำเพ็งมีความเป็นมาและเติบโตร่วมสมัยกับเกาะรัตนโกสินทร์อย่างแยกกันไม่ออก เพราะสำเพ็งคือที่ถิ่นฐานใหม่ของชุมชนชาวจีนที่ต้องอพยพออกจากที่เดิม เพื่อให้เป็นที่ตั้งพระนครแห่งใหม่ คือที่ตั้งบรมมหาราชวังในปัจจุบัน

สำเพ็งเป็นคำด่า

แต่ชื่อสำเพ็งนี้ นอกจากเป็นชื่อย่านที่อยู่อาศัยและการค้าแล้ว ยังเป็นคำด่าที่สตรีผู้ใดถูกด่าด้วยคำนี้แล้วโกรธเป็นไฟ เพราะสำเพ็งเป็นตั้งซ่องสำหรับผู้หญิงขายตัวหรือย่านโคมเขียวในสมัยโบราณ แม่เล้าที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 4 คือยายแฟง ที่สร้างวัดใหม่ยายแฟง หรือวัดคณิกาผล ที่หน้าโรงพักพลับพลาไชย

ที่ย่านสำเพ็งมีซ่องมากเพราะอยู่ติดกับท่าน้ำราชวงศ์และถนนทรงวาด ซึ่งเป็นท่าเรือโดยสารและขนส่งสินค้ากรุงเทพฯ กับจังหวัดชายฝั่งทะเล ถึง จ.สงขลา จึงเป็นที่สำราญของกรรมกรท่าเรือด้วย

ในย่านสำเพ็งปัจจุบันยังมีตลาดเช้า เปิดขายตั้งแต่เวลา 13.00-07.00 น. เป็นตลาดขายส่งสินค้าแฟชั่น ของสวยงาม ของตกแต่ง ของเด็กเล่น รองเท้า เสื้อ ผ้า และอื่นๆ อยากได้อะไรไปเดินเลือกซื้อ จะได้ตามที่ต้องการ แต่ต้องซื้อยกโหล เพราะคนขายเป็นยี่ปั๊วและคนขายส่ง

สะเดาะเคราะห์ปีชง

จากสำเพ็งมุ่งหน้าสู่ถนนเจริญกรุงถนนสายแรกของรัตนโกสินทร์ เป้าหมายอยู่ที่วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ เพื่อดูกิจกรรมต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ปีม้า พ.ศ. 2557

เมื่อเข้าประตูก็พบประชาชนจำนวนหนึ่งทั้งชายหนุ่มหญิงสาวถ่ายรูปกับม้าทองเงิน ที่สร้างขึ้นมาใหม่ตั้งที่ด้านหน้า อีกกลุ่มหนึ่งเข้าแถวซื้อของบูชาเพื่อสะเดาะเคราะห์ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีชง (มะเมีย ชวด เถาะ ระกา) ซื้อแล้วท่านแนะให้ทำดังนี้

1.ให้เขียนชื่อ นามสกุล อายุ วัน เดือน ปีเกิด เวลาตกฟาก ลงในสะเดาะเคราะห์สีแดง (ตรงไหนไม่รู้ (เช่นเวลาตกฟาก) ให้เขียนว่าดี)

2.ให้นำธูป 3 ดอก และชุดสะเดาะเคราะห์ไปไหว้เทพเจ้าแห่งดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี๊ย) ในวิหารฝั่งขวาของวัด

3.จุดธูปไหว้อธิษฐานขอบารมีองค์ไท้ส่วยเอี๊ยช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้แคล้วคลาด ปลอดภัยตลอดทั้งปี

4.นำชุดสะเดาะเคราะห์ปัดตัว 13 ครั้ง ท่านผู้อื่นไม่ต้องปัดตัว

5.นำชุดไหว้วางไว้ในตะกร้าหน้าหน้าองค์ไท้ส่วยเอี๊ย เพื่อฝากไว้ให้คุ้มครองตลอดทั้งปี

ที่กำแพงวัดด้านในมีประกาศเตือนโปรดระวังของเลียนแบบใบสะเดาะเคราะห์ของแท้ต้องสีแดง สีอื่นเป็นของเลียนแบบ ทางวัดจะไม่รับเอาไว้

วัดเล่งเน่ยยี่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2414 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ มีชื่อที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานว่า “วัดมังกรกมลาวาส”

ที่นำมาเขียนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งไชน่าทาวน์ที่มีประวัติยาวนาน ควบคู่กับการเจริญพัฒนาของประเทศไทย ตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา