posttoday

ป๊อปคอร์น...แค่ของกินเล่น ทำไมแพงเว่อร์

01 มิถุนายน 2556

พี่มากพระโขนง รายได้ทะลุพันล้าน แต่รายได้จากค่าน้ำ ค่าขนมระหว่างดูหนังเรื่องพี่มากฯ อาจจะได้มากกว่านั้น!!

โดยโดย...กองบรรณาธิการ

พี่มากพระโขนง รายได้ทะลุพันล้าน แต่รายได้จากค่าน้ำ ค่าขนมระหว่างดูหนังเรื่องพี่มากฯ อาจจะได้มากกว่านั้น!!

คำกระทบกระแทกแดกดันจากคนรอบข้างที่ดูจะเกินจริงไปหน่อย แต่ก็มีมูลของความจริงที่ว่า ของกินเล่นๆ ระหว่างนั่งดูหนังในโรงหนังยุคทุนนิยมผูกขาดนั้นแพงเหลือหลาย

แค่น้ำเปล่าใส่ขวดขายในโรงก็โขกเข้าไป 15-20 บาท สแน็กประเภทต่างๆ ราคาไล่กันตั้งแต่ 30 บาทไปจนถึง 55-60 บาท ป๊อปคอร์นที่เป็นตัวชูโรง มีตั้งแต่ 55-60 บาทไปจนเกินหลัก 100 บาท อุ๊แม่เจ้า ราคาของกินแพงกว่าราคาตั๋วหนัง (ที่ว่าแพงอยู่แล้ว) ซะอีก

ราคาป๊อปคอร์นจึงกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของบรรดาคอหนังที่บ่นกันพรึมไปทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์จึงถูกกลายเป็นที่ระบายอารมณ์ผ่านฟ้าผ่านอากาศออกไป นัยว่าจะให้ดังไปถึงหูคนต้นคิดราคานี้เสียเหลือเกิน

กะไอ้แค่ข้าวโพดคั่วขึ้นห้าง เข้าโรงหนังต้นทุนมันจะสักกี่บาท...?

สมนึก เปล่งสุริยการ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูอาร์ซี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายคุกกี้เวเฟอร์ แบรนด์ แจ็คแอนด์จิลล์ บอกว่า ราคาข้าวโพดอบกรอบที่จำหน่ายในช่องร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าปลีกดั่งเดิม หรือร้านสะดวกซื้อ อาทิ โตโร ขนาด 60-70 กรัม จำหน่ายซองละ 20-25 บาท ต้นทุนการผลิตจะคิดเป็นเพียง 50% หรือราว 10-12.50 บาท และมีกำไรต่อซองราวๆ 15%

ส่วนป๊อปคอร์นหรือข้าวโพดอบกรอบที่จำหน่ายในโรงหนังขนาด 60-70 กรัม จำหน่ายราคา 60-70 บาท ถือว่าเป็นราคาขายที่สูงเกินกว่าต้นทุนผลิตที่แท้จริงเพียง 15-20 บาทเท่านั้น แต่การที่โรงหนังตั้งราคาขายขนมขบเคี้ยวทุกชนิด รวมทั้งป๊อปคอร์นสูงกว่าที่อื่นๆ เพราะมีต้นทุนการบริหารจัดการที่สูงกว่านั่นเอง

ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าต้องนำเข้าเมล็ดข้าวโพดจากต่างประเทศเข้ามา ก็เป็นความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง เพราะบ้านเรายังไม่สามารถผลิตเมล็ดข้าวโพดสำหรับทำป๊อปคอร์นได้ แต่ สมนึก มองว่า ต้นทุนจากการนำเข้าเมล็ดข้าวโพดไม่ได้เป็นสาเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ถ้าจะเอาให้ชัดกว่านั้น ป๊อปคอร์นแบบบ้านๆ ตามตลาดนัดต่างๆ ซึ่งก็ต้องใช้เมล็ดข้าวโพดจากต่างประเทศเช่นกัน แต่ก็ยังขายได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก

สุภิญญา สิทธิกิจพงษ์ ที่มีอาชีพเสริมคือการทำข้าวโพดคั่วส่งขาย อธิบายว่า “การทำป๊อปคอร์น 1 หม้อ ใช้ข้าวโพด 3 ขีดครึ่ง น้ำตาลทราย 2 ขีด เนยประมาณครึ่งขีด น้ำมันพืชประมาณ 2 ขีดครึ่ง บวกเกลือนิดหน่อย จะได้ป๊อปคอร์นประมาณ 10 ถุงขนาด 6x11 ส่งถุงละ 8 บาท ร้านรับไปขายถุงละ 12 บาท แต่ต้นทุนจะอยู่ที่ราคาหม้อละประมาณ 30 บาท รวมต้นทุนทั้งหมดแล้วจะได้กำไรตกหม้อละ 27 บาท ถือว่าได้กำไรประมาณ 50:50”

ส่วนกรณีที่ป๊อปคอร์นตามโรงหนังทำไมถึงแพงกว่านั้น สุภิญญา บอกว่า จริง ๆ แล้วข้าวโพดต้องสั่งมาจากเมืองนอก คือจากสหรัฐอเมริกา ใช้ของในประเทศไทยไม่ได้เลย กระสอบหนึ่งราคา 870 บาท น้ำหนัก 22.5 กิโลกรัม ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่แพงที่สุดของการผลิต เพราะน้ำตาลที่ใช้ก็ของประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับเนยว่าจะใช้ของนอกหรือของไทย ถ้าใช้ของนอกอาจจะแพงขึ้นมาอีกนิดหน่อย ทั้งๆ ที่เนยของเมืองไทยก็ใช้ได้

ถ้าให้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามห้างสรรพสินค้าหรือโรงหนังอาจจะได้กำไรถึงประมาณ 70% แต่เขาอาจทำหลายรสชาติ ลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นได้ นอกจากนี้สถานที่ของการวางจำหน่ายมีผลต่อการวางจำหน่ายมาก ทั้งค่าเช่าที่ ค่าแอร์ ค่าพนักงานซึ่งอาจจะแพง ส่วนใหญ่มันต่างกันที่สถานที่ เพราะถ้าทำเป็นธุรกิจอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนค่าข้าวโพดคั่วที่ทำอาจจะต่างกันไม่มากเท่านั้นเอง

“ถามว่าป๊อปคอร์นของเราสู้ในห้างได้ไหม ต้องบอกว่าสู้ได้ คุณภาพเราใช้ได้ แต่ต้องขายราคาให้ถูกกว่าในห้าง ส่วนมากคนเขาจะติดยี่ห้อ เพราะของเราเป็นแค่แบบใส่ถุงพลาสติก แต่ของเขามีแพ็กเกจ มียี่ห้อ ถ้าของเราทำก็อาจจะสู้แบบนั้นได้ แต่คนเขาไม่ค่อยมองของที่ขายในตลาดว่าเป็นของดีของอร่อย แต่จริงๆ แล้วของที่ตลาดอร่อยนะ ถ้าเราใช้วัตถุดิบดี ใหม่ สด รับรองคนติดใจ” สุภิญญา กล่าว

ด้าน ณัชชฎา ธารีสิทธิ์ หรือพี่นัด แม่ค้าร้านขายของชำที่รับข้าวโพดคั่วหรือป๊อปคอร์นมาขาย มองว่า การที่ป๊อปคอร์นตามโรงหนังขายแพง เป็นเพราะเขาคงมีต้นทุนสูง ต่างจากข้าวโพดคั่วที่รับมาขายที่ร้านซึ่งมีต้นทุนไม่เท่าไร ที่แตกต่างคือมันก็ขายกันคนละสถานที่ ไหนจะมีค่าสถานที่ค่าอะไรของเขาอีก และคนซื้อก็เป็นคนละกลุ่ม ถ้าให้เอาของในโรงหนังมาตั้งขายแบบนี้ มันก็ขายไม่ได้ มันอยู่ที่สถานที่ขายด้วย

พอจะเห็นเค้าลางแล้วว่า ที่จริงต้นทุนการผลิตป๊อปคอร์นมันไม่ได้ต่างกัน แต่ที่ต่างกันตรงสถานที่ขายและต้นทุนจิปาถะที่บวกรวมเข้าไป ทั้งค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าพนักงาน เผลอๆ จะรวมถึงค่าซื้อหนังก็อาจเข้ามาแชร์อยู่ในต้นทุนนี้ด้วยก็เป็นไปได้ เพราะทุกวันนี้ลิขสิทธิ์หนังแต่ละเรื่องก็แพงจับใจราคาตั๋ว 1 ใบ ค่าซื้อหนังยังกินไปแล้วตั้ง 50%

สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น ผู้ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ อธิบายถึงราคาขนมคบเคี้ยวในโรงหนังเอสเอฟ ว่า ราคาสินค้าที่จำหน่ายในเครือโรงหนังเอสเอฟมีให้เลือกหลายขนาด เช่น ข้าวโพดคั่วขนาดกลางราคา 55 บาท ขนาดใหญ่ 65 บาท ส่วนน้ำอัดลมมีหลายขนาดหลายราคาที่เป็นทางเลือกและมีป้ายแสดงราคาเอาไว้ชัดเจน ซึ่งราคาที่ตั้งไว้มีความเหมาะสมกับการทำธุรกิจ ไม่ได้ค้ากำไรเกินควร

นอกจากนี้ยังชี้แจงไปถึงตั๋วหนังที่ถูกมองว่า ราคาแพงด้วยเช่นกันว่าสาเหตุที่ขึ้นค่าบัตรชมภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ เพราะเป็นไปตามต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเขตกรุงเทพฯ จากวันละ 216 บาทเป็น 300 บาท ทำให้เอสเอฟต้องปรับขึ้นค่าบัตรชมภาพยนตร์เพิ่มอีกที่นั่งละ 20 บาท หลังจากตรึงราคามานานถึง 20 ปี แต่ก็ยังมีหลายราคาให้เลือก

ของถูกของแพงมีให้เห็นอยู่ในตลาดยุคการค้าเสรีและบริโภคนิยมเต็มรูปแบบ คราวนี้ขึ้นอยู่กับท่านผู้ชมทั้งหลายแล้วล่ะ ว่าจะเลือกบริโภคในสไตล์ไหน เพราะทุกสิ่งล้วนตัวเราเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น...