posttoday

เลือกตั้ง66:เนชั่นโพลครั้งที่2 ชี้ เสรีนิยมชนะ เขตเพื่อไทย แคนดิเดตฯพิธา

04 พฤษภาคม 2566

เนชั่นโพล ชี้ชัด เสรีนิยม รวมเสียงได้มากกว่า อนุรักษ์นิยม แคนดิเดตนายกฯ พิธา แซง แพทองธาร ระบบเขต เพื่อไทยมีลุ้น 247 เขต ก้าวไกล 79 ประชาธิปัตย์15 กทม.เพื่อไทย-ก้าวไกล ชิงกันสนุก ประยุทธ์ กระแสดีภาคใต้ บ้านใหญ่-บุรีรัมย์ ส่อถูกเจาะ โพลชี้ มีเวลาทุกพรรคแก้เกมโค้งสุดท้าย

สำนักข่าวเครือเนชั่น ร่วมกับคณาจารย์ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์องค์กรอิสระและภาคเอกชน ร่วมจัดทำ เนชั่นโพล ภายใต้โครงการ "Road to The Future เลือกตั้ง66 อนาคตประเทศไทย" สำหรับการจัดทำ เนชั่นโพล ได้ให้อาสาสมัครลงพื้นที่ ทำการสำรวจประชาชนในพื้นที่กทม.และพื้นที่อื่นอีก8ภูมิภาค ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน

ล่าสุด วันที่5พ.ค.เนชั่นโพล เปิดเผยผลสำรวจครั้งที่2 จากตรวจสอบจำนวนตัวอย่างมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จำนวน 115,399 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 35,969 ตัวอย่าง และภูมิภาค 79,430 ตัวอย่าง สำรวจระหว่าง 24 เม.ย. - 3 พ.ค. และการสำรวจใน กทม. 33 เขต ทีมลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 28 เม.ย. - 3 พ.ค. ผลปรากฎว่า

 

1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ก้าวขึ้นมานำนส.แพรทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ในสัดส่วนของแคนดิเดต (candidate) ที่คนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีทั่วประเทศ ซึ่งใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น จากที่เคยตามหลังอยู่ถึง 17% จากการสำรวจเนชั่นโพลรอบแรก 

เลือกตั้ง66:เนชั่นโพลครั้งที่2 ชี้ เสรีนิยมชนะ เขตเพื่อไทย แคนดิเดตฯพิธา

2.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นอันดับหนึ่งในภาคใต้ 11 จังหวัดที่คนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมาคือคุณพิธาจากพรรคก้าวไกล ขณะที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) นายวันมูฮัมหมัดนอร์มะทา พรรคประชาชาติคือคนที่ประชาชนในพื้นที่นี้อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด

3.จำนวนเขตที่พรรคนั้นๆ มีคะแนนนำ (ยังไม่ได้หมายถึงผู้ชนะเด็ดขาดในแต่ละเขต)
- เพื่อไทย 247 เขต
- ก้าวไกล 79 เขต
- ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 18 เขต
- ประชาธิปัตย์ 15 เขต
- ภูมิใจไทย 12 เขต
- ประชาชาติ 12 เขต
- รวมไทยสร้างชาติ 7 เขต
- พลังประชารัฐ 5 เขต
- ชาติไทยพัฒนา 4 เขต
- ชาติพัฒนากล้า 1 เขต
รวมทั้งหมด 400 เขต

 

เลือกตั้ง66:เนชั่นโพลครั้งที่2 ชี้ เสรีนิยมชนะ เขตเพื่อไทย แคนดิเดตฯพิธา


แต่เนื่องจากมีค่าความคลาดเคลื่อน (error) รายเขต ดังนี้ กทม.33 เขต = 3% , เขตเมืองสำคัญต่างจังหวัด 8 เขต = 5% , เขตเลือกตั้ง 359 เขต = 7% จึงทำให้พรรคต่าง ๆ ข้างต้นอาจมีจำนวนตัวเลข ส.ส.เขตเปลี่ยนไปจากค่าคลาดเคลื่อน (error) ของแต่ละเขต โดยมีแง่มุมที่น่าสนใจดังนี้

(1) พรรคฝั่งเสรีนิยมที่เป็นตัวแปร ได้แก่
1.1 เพื่อไทย มีโอกาสลงมาในระดับ 228 เขต
1.2 ก้าวไกล มีโอกาสลงมาในระดับ 52 เขต 
หมายเหตุ : หมายถึงเขตที่สูสีกัน เพื่อไทย หรือก้าวไกลตกเป็นอันดับ 2 ในเขตเหล่านั้นทุกเขต

(2) พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เป็นตัวแปร [หากรวมคำตอบส่วน “ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ” ที่มาเป็นอันดับ 1 ของเขตนั้น ๆ ที่อาจมีเพิ่มได้ถึง 23 เขต(นับค่า error) เข้าไปในแต่ละพรรคด้วยแล้ว] ดังนี้
2.1 ประชาธิปัตย์ มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 19 ถึง 42 เขต
2.2 รวมไทยสร้างชาติ มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 13 ถึง 36 เขต
2.3 ภูมิใจไทย มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 16 ถึง 39 เขต
2.4 พลังประชารัฐ มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 6 ถึง 29 เขต
ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 4 ถึง 27 เขต
หมายเหตุ : หมายถึงว่าพรรคนั้นๆ ต้องช่วงชิงเขตที่ “ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ” มาเป็นของตนให้ได้

ที่สำคัญ หากวิเคราะห์เพิ่มเติมลงลึกในรายเขตเลือกตั้ง พบว่ามีเขตที่คะแนนไล่เลี่ยกันระหว่างอันดับ 1 อันดับ 2 หรืออันดับ3 ที่ผลการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อรวมค่าความคลาดเคลื่อน (error) แล้วถึง 65 เขต จาก 400 เขต โอกาสจึงยังเปิดกว้างสำหรับพรรคต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งอนุรักษ์นิยม

4.พรรคก้าวไกลคือ “ตัวตึงการเลือกตั้งระบบเขต” ในครั้งนี้อย่างแท้จริง จากผลสำรวจโพลรอบนี้ถือเป็นการผงาดขึ้นมาในระบบเขตของพรรคก้าวไกลในทุกภูมิภาค พบว่าพรรคก้าวไกลสามารถเจาะเขตของพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือและภาคอีสานได้หลายเขต เจาะเขตภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์และรวมไทยสร้างชาติได้บางเขต

 

5.การเมืองบนฐานวัฒนธรรมยังมีบทบาทนำในพื้นที่พิเศษกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากพบว่าพรรคประชาชาติสามารถขยายผลในการครองเขตเลือกตั้งเกือบทุกพื้นที่

 

6.เกิดปรากฏการณ์ “ทฤษฎีเสาไฟฟ้าหัก และเสาโทรเลขเสียบแทน” แม้ว่าเสาโทรเลขเคยเตี้ยกว่าเสาไฟฟ้าก็ตาม แต่เมื่อเสาไฟฟ้าหักลง ในเชิงเปรียบเทียบเสาโทรเลขจึงดูสูงกว่า ซึ่งในภาคใต้ 11 จังหวัด พบว่า เขตที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยแซงพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมนั้น (ส่วนใหญ่เป็นพรรคก้าวไกล) จะเป็นเขตที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมตัดกันเองจำนวนมาก โดยเฉพาะการตัดฐานเสียงกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มจากผลโพลพบว่าพรรคขั้วอนุรักษ์นิยมเดิมแม้จะมีความนิยมสูงมากในพื้นที่ แต่เมื่อแข่งกันเองจึงตัดฐานเสียงกันและกัน ทำให้สัดส่วนฐานเสียงแตกกันกระเจิง พรรคก้าวไกลที่มีความนิยมเพิ่มขึ้นมาจึงพลิกแซงนำในหลายเขต แต่ถ้าหากนับรวมฐานเสียงฝั่งอนุรักษ์นิยมรวมกันทั้งหมด ยังมีมากกว่าฝั่งเสรีนิยมรวมกัน ประมาณสองเท่าตัวในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้

 

7.การสำรวจเนชั่นโพลครั้งที่ 2 นี้ พบปรากฏการณ์บ้านใหญ่ฝั่งอนุรักษ์นิยมกุมขมับทั่วไทย ประสบภาวะล่มสลาย มีเพียงบางแห่งที่ฝ่ากระแสมาได้ อาทิ พะเยายกจังหวัด สุพรรณบุรี เป็นต้น

 

8.เมืองหลวงพรรคการเมืองสำคัญถูกตีแตกทุกแห่ง อาทิ บุรีรัมย์ของภูมิใจไทย เชียงใหม่ของเพื่อไทย สงขลาของประชาธิปัตย์ สุพรรณบุรีของชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่หนึ่งเดียวในจังหวัดนั้น ๆ ที่ครอบครองมายาวนานเริ่มสั่นคลอน

 

9.พื้นที่ 33 เขตในกรุงเทพมหานคร มีเพียงสองพรรคที่ครอบครองการนำในพื้นที่ ได้แก่ เพื่อไทยและก้าวไกล โดยพรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนในการเป็นพรรคนำของเขต มากกว่าก้าวไกล และยังมีเขตที่ยังเปลี่ยนแปลงผลได้อีกอย่างน้อย 4 เขต

 

10.กลุ่มคนที่ไม่ตัดสินใจเลือก ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งลดลงอย่างมากในการสำรวจโพลรอบสองเมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลเนชั่นโพลรอบแรก โดยลดลงเหลือ 8.65% จากเดิมราว ๆ 32 % เป็นไปตามทฤษฎีการเลือกตั้งที่ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนจะยิ่งมีความชัดเจนในการตัดสินใจ แต่ในแง่ความมั่นคงในการตัดสินใจเลือก ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้จนถึงวันลงคะแนนจริง

 

11.นับเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ไม่สามารถสมานสามัคคีทางยุทธศาสตร์เลือกตั้งตั้งแต่แรกเริ่ม แต่มุ่งแข่งขันกันเองจนทำให้ภาพรวมจำนวน ส.ส.ระบบเขตได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปรากฏชัดเจนจากการที่ภาคใต้ 11 จังหวัด คะแนนตัดกันเองระหว่าง ปชป. รทสช. พปชร. หลายเขต

 

12.จากทิศทางเนชั่นโพลทั้งรอบหนึ่งและรอบสอง ไม่มีปาฏิหาริย์ให้กับพรรคอื่น พรรคเพื่อไทยนำโด่งชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมาแรงในช่วงท้ายก็ตาม

 

13.มีหลายเขตจำนวนมากในต่างจังหวัดที่คะแนนอันดับหนึ่งและสองหรือสามห่างกันไม่เกิน 7% ตามค่าความคลาดเคลื่อน (error) ในการสำรวจโพลรอบนี้ นั่นหมายความถึงช่วงโค้งสุดท้ายในอีก 11 วันที่เหลือ สามารถพลิกผันได้ทุกเมื่อในเขตเหล่านี้

 

14.ข้อสังเกตจากทีมลงพื้นที่ พบว่ามีคนจำนวนมากให้ข้อมูลในระดับที่มีนัยสำคัญว่ายังมีเวลาอีกหลายวันกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง จึงรอดูก่อนว่าใครให้มากกว่า ดังนั้นปัจจัยธนกิจการเมือง (money politics) ยังปรากฏอยู่ในการเลือกตั้งครั้งนี้และอาจเป็นตัวแปรหนึ่งในการเปลี่ยนเกมชิงความได้เปรียบช่วงโค้งสุดท้าย 

 

15.วันสิ้นสุดในการสำรวจโพลจนถึงวันเลือกตั้งมีช่วงเวลามากถึง 11 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะวางยุทธศาสตร์แก้เกมส์เพื่อดึงคะแนนเสียงสู่พรรคตนและเปลี่ยนผลคะแนนได้ จึงขึ้นกับว่าพรรคใดจะทำได้ดีกว่ากันในช่วงสัปดาห์สุดท้าย และเมื่อสังเกตจากกระแสพรรคก้าวไกลช่วงก่อนสงกรานต์และหลังสงกรานต์ยังสามารถเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือ โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ ดังนั้น ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจึงมีช่วงเวลายาวนานเพียงพอในการปรับกลยุทธ์งัดทีเด็ดในการหาเสียงของพรรคต่าง ๆ

 

16.แนวโน้มฐานเสียงข้ามขั้วเริ่มมีบ้างแล้วจากการสำรวจโพลรอบสอง ซึ่งอาจซ้ำรอยปรากฏการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” เมื่อปีที่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ตกอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเด็ดขาด แต่เป็นลักษณะขั้วใหญ่แทนคือปรากฏการณ์เสรีนิยมแลนด์สไลด์

 

17.ถ้าทิศทางและปัจจัยเงื่อนไขยังเป็นไปตามเนชั่นโพลรอบสองนี้ ไม่มีปัจจัยพิเศษอย่างอื่นแทรกแซงในช่วงที่เหลือ อาจจะได้เห็นพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เขตยกจังหวัดเกิดขึ้นครั้งแรก

 

18.สรุปแนวโน้มจากเนชั่นโพลรอบสอง
- แนวโน้มเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมโดยสิ้นเชิง
- ขั้วฝ่ายเสรีนิยมก้อนใหญ่มีฐานเสียงที่เติบโตขึ้นจากเดิมในช่วงโค้งสุดท้าย
- รัฐบาลหน้า ฝั่งเสรีนิยมมีโอกาสตั้งรัฐบาลรวมกันเกิน 300 เสียง (ถ้าสามารถรวมกันได้จริง)

 

นอกจากนี้เนชั่นโพลครั้งที่2 ยังได้จำแนกไปถึงเรื่องผลคะแนน และเปอร์เซ็นต์ ในเรื่องของ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พบว่า

คนไทยอยากได้ใครเป็นนายกฯ 
1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  29.37% 
2. แพทองธาร ชินวัตร  27.55%
3. เศรษฐา ทวีสิน 13.28 %
4. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8.85%
5. ยังไม่ตัดสินใจ 5.35 %
6. อนุทิน ชาญวีรกูล 4.05%
7. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 2.49%
8. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.38 %
9. ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 1.66 %
10. วันมูหะมัดนอร์ มะทา 1.56 % 
11. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1.23%
12. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 1.11 %
13. วราวุธ ศิลปอาชา 0.5%
14. กรณ์ จาติกวณิช 0.38%


เลือกส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในสังกัดพรรคใด
1.เพื่อไทย 38.48%
2.ก้าวไกล 28.03%
3.ยังไม่ตัดสินใจ 8.67%
4.รวมไทยสร้างชาติ 6.8 %
5.ภูมิใจไทย 5.62%
6.ประชาธิปัตย์ 4.3%
7.พลังประชารัฐ 3.65%
8.ประชาชาติ 1.45 %
9.ไทยสร้างไทย 0.97 %
10.เสรีรวมไทย 0.79 %
11.ชาติไทยพัฒนา 0.69%
12.ชาติพัฒนากล้า 0.34%
13.อื่นๆ 0.13%
14.เพื่อชาติ 0.04%
15.ประชาธิปไตยใหม่ 0.03%

 

เลือกส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคใด
1.เพื่อไทย 39.83%
2.ก้าวไกล 29.18%
3.รวมไทยสร้างชาติ 7.45%
4.ยังไม่ตัดสินใจ 7.09%
5.ภูมิใจไทย 4.84%
6.ประชาธิปัตย์ 3.97%
7.พลังประชารัฐ 3.18%
8.ประชาชาติ 1.48%
9.ไทยสร้างไทย 0.99%
10.เสรีรวมไทย 0.82%
11.ชาติไทยพัฒนา 0.68%
12.ชาติพัฒนากล้า 0.34%
13.ไทยภักดี 0.07%
14.อื่นๆ 0.05%
15.ไทยศรีวิไลย์ 0.05%

 

เลือกตั้ง66:เนชั่นโพลครั้งที่2 ชี้ เสรีนิยมชนะ เขตเพื่อไทย แคนดิเดตฯพิธา