posttoday

เลือกตั้ง66:ทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ชูนโยบายผู้สูงอายุมีรายได้

24 เมษายน 2566

พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานบอร์ดนโยบายพรรค ประชาธิปัตย์ ชูนโยบายดูแลผู้สูงอายุ พร้อมแก้กฎหมายประกันสังคม-แรงงาน เปิดช่องเพิ่มงาน สร้างเงิน สร้างรายได้

ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 3 “ปชป.ชูนโยบายกระตุ้น ศก.ไทย โดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ” นำโดย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์  กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และทีมผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ณ ห้องประชุมชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เรื่องของแรงงานและผู้สูงอายุถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ จากโครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าคนรุ่นเก่า ขณะนี้จำนวนเด็กเกิดใหม่เหลือไม่ถึง 5 แสนคน โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ คนทำงานชาวไทยที่กำลังจะเกษียณอายุในแต่ละปีข้างหน้า ปีละประมาณ 1 ล้านคน ขณะที่คนทำงานที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานมีเพียงปีละประมาณ 8 แสนคน คนทำงานไทยจะลดลงปีละ2 แสนคนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่จำนวนคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานจะเริ่มมีจำนวนน้อยกว่าคนที่ออกจากตลาดแรงงานซึ่งจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต อย่างน้อยอีก 20ปี

ดังนั้นปัญหาคนทำงานไทยกำลังลดลงเราจะต้องรีบแก้ไข พรรคประชาธิปัตย์ขอนำเสนอนโยบายแก้ไขเฉพาะหน้าเพื่อลดผลกระทบจากที่แรงงานกำลังลดไปปีละ2 แสนคน ขณะที่ผู้สูงอายุตกงานปีละ 1 ล้านคนโดยที่เขาไม่ได้มีการเตรียมตัวไว้ เพราะไม่มีการออมเงินไว้ใช้ในยามชราที่เพียงพอ จนเป็นข้อเรียกร้องให้มีการเพิ่มเบี้ยยังชีพหรือบำนาญประชาชน

พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอให้เพิ่มอายุการเกษียณทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีก 5 ปี สำหรับผู้ที่ยังสมัครใจทำงานแต่ต้องให้มีการตรวจสุขภาพว่ายังเหมาะสมที่จะทำงานและควรให้ทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาหรือไกด์ เพื่อไ่ม่ให้ไปขวางกั้นการเติบโตของผู้น้อย ยกเว้นตำแหน่งที่มาจากการสรรหาก็ไม่ควรมีอายุมาสกัดกั้น

นอกจากนี้ ต้องปรับแก้ระบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยแก้โครงสร้างให้เป็นระบบคล้ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ผู้ออมมีบัญชีที่ชัดเจน ว่าสะสมเท่าใด ผู้ประกันตนสามารถเลือกบำเหน็จหรือบำนาญ รวมไปถึงปรับระบบประกันสังคมให้มีความครอบคลุมและทั่วถึง ไม่เฉพาะผู้มีเงินประจำเท่านั้นแต่รวมถึงผู้มีรายได้ไม่ประจำด้วย เช่น อาชีพไรเดอร์ให้สามารถเข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ พร้อมแก้มาตรา 39 ให้ยืดหยุ่น ไม่เสียสิทธิ์ที่ได้จากมาตรา 33

“การดูแลผู้สูงอายุถือเป็น DNA ของประชาธิปัตย์ตั้งแต่สมัยท่านชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี จากที่ให้เบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่ 200 บาท เพิ่มเป็น 300 บาท และ 500 บาท มีการปรับขึ้นในรัฐบาลอีกหลายชุด บัดนี้ทุกพรรคเห็นเหมือนกันว่าต้องดูแลผู้สูงอายุ เราจะปล่อยให้ผู้สูงอายุเป็นคนจนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด คนที่สูงอายุน่าสงสารเพราะมีกฎหมายต่างๆ บีบบังคับไม่ให้ทำงาน เมื่อถึงอายุ 60ก็ต้องออกจากงานทั้งที่ยังไม่พร้อม

สำหรับปัญหาขาดแคลนแรงงานและความทุกข์ยากของคนที่เข้าสู่วัยเกษียณ พรรคประชาธิปัตย์จะแก้ไขในเรื่องนี้โดยด่วน ด้วยการให้ผู้สูงอายุมีงานทำในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะต้องมีการเรียนรู้ใหม่ๆและมีการใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังเข้ามาช่วย ถ้ามีกฎหมายไหนเป็นข้อจำกัดเรื่องอายุเราก็ต้องแก้กฎหมายนั้นและจะพิจารณาปรับปรุงให้มีการเพิ่มเบี้ยยังชีพหรือบำนาญประชาชนตามความเหมาะสม”ดร.พิสิฐ กล่าว