posttoday

นักวิชาการ-สื่อ วิพากษ์ นโยบายพรรคการเมืองถลุงงบ 3 ล้านล้านบาท

05 เมษายน 2566

นักวิชาการ-สื่อ วิพากษ์ นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 66 ของพรรคการเมือง ชี้เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ถึง 3 ล้านล้านบาท เสี่ยงต่อการก่อหนี้สาธารณะระดับสูง ติง พรรคการเมืองอาจยังตีโจทย์ไม่ถูก หาแต่นโยบายแปลกๆ แนะประชาชนมีสติ เลือกคนดี เพื่อสร้างบ้านเมืองที่ดีในอนาคต

นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหารเนชั่น กรุ๊ป และประธานกรรมการฐานเศรษฐกิจ เปิดเผยในเวทีสัมมนา  “อ่านเกมเลือกตั้ง66 นโยบายใครปัง ใครพัง” เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2566 ที่ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ว่า ในฐานะสื่อได้วิเคราะห์ถึงการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองในศึกการเลือกตั้ง 2566 นโยบายส่วนใหญ่ที่ออกมารวมกันกว่า 300-400 ชุด ถือเป็นนโยบายซึ่งหน้า และคิดเป็นต้นทุนงบประมาณสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท

“อยากให้ร่วมกันคิดว่า นโยบายที่ทุกพรรคออกมาเป็นวิธีขายฝันให้กับประชาชนคนไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการเลือกตั้ง หรือมุ่งเน้นอนาคตประเทศในระยะยาวกันแน่ และอยากให้คิดอีกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะเอาอำนาจอธิปไตยของเราส่งมอบไปให้พรรคการเมือง หรือนักการเมือง ซึ่งการคิดแค่เลือกคนที่ใช่กับรักพรรคที่ชอบ ส่วนตัวเห็นว่า คงไม่น่าจะพอ” นายบากบั่น ระบุ

ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งนั่นคือ ผู้ที่จะเข้าคูหากาผู้แทนควรต้องมีสติและมีวิจารณญาณเพียงพอว่า ในเมื่อเรากำลังจะมอบอำนาจของเราไปให้ผู้แทนแล้ว จะต้องเลือกคนที่ดีสำหรับเรา คนที่ดีเพื่อสร้างบ้านเมืองที่ดี เพราะไม่เช่นนั้น เราจะได้แต่นักเลือกตั้งที่มีแต่นโยบายซึ่งหน้า แต่ไม่มีอนาคต เหมือนตีตั๋วเทียวเดียวแล้วรอบหน้าก็มาเลือกตั้งกันใหม่ โดยเราจะต้องตั้งสติ เพราะจะทำให้เรามีสตางค์จากการเมืองที่ดี   
 

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า TDRI ได้มีการศึกษานโยบายของพรรคการเมือง 9 พรรค 87 นโยบายโดยเป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า มีนโยบายของสองพรรคการเมืองที่อาจต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่าปีละ 2 ล้านล้านบาท เพื่อทำตามนโยบายที่ประกาศเอาไว้ 

อย่างไรก็ตามหากนับนโยบายของพรรคการเมืองที่เหลือในนโยบายต่างกัน จะคิดเป็นเงินสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ซึ่งการโฆษณาหาเสียงตามที่พรรคการเมืองได้สัญญาไว้กับประชาชนนั้น เมื่อเป็นรัฐบาลและต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แน่นอนว่าในอนาคตจะเป็นความเสี่ยงในการก่อหนี้สาธารณะสูง และจะกระทบต่อเงินที่จะใช้ลงทุนลดลง หรือการใช้เงินนอกงบประมาณตามมาตรการกึ่งการคลัง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาและน่าเป็นห่วงเรื่องความโปร่งใส

ทั้งนี้แม้นโยบายของพรรการเมืองต่าง ๆ จะครอบคลุมในทุกมิติ เช่น นโยบายสวัสดิการ การอุดหนุน การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน SMEs การปรับกฎหมายระเบียบ และส่งเสริมสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนที่ทำนโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาว เพราะส่วนใหญ่จะเป็นแค่นโยบายประชานิยมที่มีการเกทับกัน เพื่อจะแข่งขันกันทางการเมือง แทนที่จะหาเสียงกันอย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสม
 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์ กล่าวว่า การแข่งขันทางนโยบายของพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชน และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ แต่เกมแห่งอำนาจนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักการที่ถูกต้อง อย่ามุ่งหาเสียงมากเกินไปจนไม่ดูผลระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่ใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า 3 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้พรรคการเมืองต้องชี้แจงข้อมูลถึงงบประมาณที่จะเอามาใช้ทำนโยบายให้ชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และกฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดเอาไว้ชัดเจนให้พรรคการเมืองชี้แจง และหากมีการกู้เงินเพิ่ม โดยไม่เพิ่มรายได้จากภาษี รัฐบาลและพรรคการเมืองที่จัดตั้ง รัฐบาลจะต้องทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก ๆ คือ 10% ต่อปี จึงทำให้ไม่เกินเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 70% 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ขณะนี้เห็นมีพรรคการเมืองไม่กี่พรรคที่มีนโยบายเพื่อการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ หรือโตประมาณ 5-6% ต่อปี โดยไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ หากทำให้ระบบโตได้ตามศักยภาพ จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ภายใน 10-15 ปี นอกจากนั้นก็ไม่มีพรรคไหนที่พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการวางแผนในระยะยาว เช่นเดียวกับนโยบายด้าน SDG ที่มีพูดกันน้อยเช่นกัน


ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อํานวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า นโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะถูกใช้เชิงกลยุทธ์มากขึ้น เพราะต้องการผลการเลือกตั้งที่ตัวเองคาดหมายเอาไว้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า ในขณะนี้ทุกพรรคการเมืองอาจยังตีโจทย์ไม่ถูก คือ การแข่งกันหานโยบายแปลก เพราะกลัวไม่ใหม่ ไม่ปัง จึงอยากถามว่า จะเอาแปลกไปถึงไหน จะเอาใหม่อะไรได้อีก เพราะคิดให้หัวแตกก็ไม่แปลกไม่ใหม่ไปกว่านี้ 

ที่สำคัญกว่าคือ การคิดนโยบายที่ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง พอเหมาะพอดีกับประชาชนหรือไม่ หรือกระทบต่อการใช้งบประมาณอย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้คิดเพียงแค่เรื่องสำคัญส่วนนี้ออกมาก่อนก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งเวทีต่าง ๆ ควรเจาะคำถามที่บอกว่าทำอย่างไรที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งบอกมีวิธีการด้วยว่ามีวิธีทำอย่างไร เพื่อให้พรรคการเมืองตอบคำถามให้ชัด ๆ เพราะจะเป็นประโยชน์กับประชาชน