posttoday

เลือกตั้ง66: จาตุรนต์ ชูจังหวัดที่พร้อมจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ

22 มีนาคม 2566

จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำเพื่อไทย ชูรัฐบาลส่วนกลางเลิกแย่งงานท้องถิ่น ทำแผนต้องสอดคล้องกับพื้นที่ แบ่งงานต้องชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน จังหวัดไหนพร้อมให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ หนุนปลดล็อกคำสั่ง คสช.กดทับการบริหารงาน

ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กทม.เนชั่นกรุ๊ปและกรุงเทพธุรกิจ สมาคมสันนิบาตเทศบาล ร่วมจัดสัมนา ท้องถิ่น มั่งคั่ง ประเทศมั่นคง ที่ให้แกนนำ ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมนำเสนอนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อความมั่นคงของประเทศ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยและสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลส่วนกลางไม่ควรไปแย่งงาน ไปทำแทนท้องถิ่น สังคมไทยกำลังต้องการกระจายอำนาจ เราพบว่า การกระจายอำนาจถอยหลังที่สุดในรอบ25ปี เพราะมีการกำกับควบคุมจากส่วนกลาง การทำแผนก็ต้องให้สอดคล้องกับแผนจังหวัด โครงการต้องผ่านการอนุมัติจากอำเภอ ผู้ว่าฯ การแบ่งงานไม่ชัดเจน ซ้ำซ้อน พรรคเพื่อไทยส่งเสริม จังหวัดจัดการตนเอง จังหวัดไหนมีความพร้อม เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องใน 4-5 จังหวัดที่พร้อม นอกจากนี้ สภาพิจารณา งบท้องถิ่น ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด เราต้องยกเครื่องการกระจายอำนาจ ทั้งด้านบุคคลากร งบประมาณ แก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เราพูดเรื่องกระจายอำนาจ ความจริงต้องพูดถึงบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นว่า จะวางบทบาทแต่ละส่วนอย่างไรให้เหมาะสม ในโลกปัจจุบันมีเรื่องใหญ่มากเลยที่รัฐบาลต้องทำ และทำไม่ทัน ทำไม่ได้ดี รัฐบาลในส่วนกลาง ไม่ควรแย่งงานท้องถิ่น ไม่ควรทำแทนท้องถิ่น นี่คือหลักการใหญ่

เราพูดกันในขณะนี้ โลกคือสังคมที่ใกล้ตัวเราเข้ามา ต้องการดูแล การแก้ปัญหา ต้องการบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนา ในการสร้างความเจริญ สังคมที่สูงวัย ต้องการที่จะมีการดูแลคนในชุมชน แล้วเราก็อยู่ในช่วงที่ดิจิทัลอีโคโนมี มีศักยภาพ อีคอมเมิร์ซแพร่หลายไปทั่ว เราต้องการพัฒนาสกิล ทักษะ สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามา เราต้องมาคิดว่า ท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่นี้อย่างไร

“การเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านไปแล้ว หลังสุดคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราเห็นความตื่นตาตื่นใจดังกล่าว เห็นบทบาท กทม.มากกว่าท้องถิ่นทั่วไป กำลังมีเทรนด์ โมเมนตั้มของท้องถิ่น ที่พูดต่อไปนี้จะนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยึดอำนาจ การกระจายอำนาจก็ถอยหลัง ท้องถิ่นอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ก็เลยไม่มีท้องถิ่นพูดอะไรเท่าไหร่ มาวันนี้พ้นสภาพนั้นไปแล้ว กำลังเข้าสู่การเลือกรัฐบาลใหม่” นายจาตุรนต์ กล่าว

ขณะที่สังคมไทย ประเทศไทยกำลังต้องการกระจายอำนาจอย่างมาก เราจะพบว่า 9 ปีมานี้ จนถึงปัจจุบัน การกระจายอำนาจของไทย ถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี เช่น การกำกับควบคุมจากส่วนกลางมีเต็มไปหมด คำสั่งครอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ การทำแผนต้องสอดคล้องกับแผนจังหวัด นี่คือเรื่องผิดเลย เพราะงานคนละส่วนกัน ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องขึ้นกับจังหวัด แต่กฎหมายดังกล่าวทำให้ต้องทำตามแผน นอกจากนี้โครงการจำนวนมากต้องผ่านการอนุมัติของอำเภอ และผู้ว่าฯ ก็ผิดหลักอีก ทั้งที่ควรให้สภาฯท้องถิ่นอนุมัติไป

ขณะเดียวกันคำสั่ง คสช.เรื่องการบริหารงานบุคคล หรือแต่งตั้งโยกย้ายก็ครอบเขาไว้ ทำให้ท้องถิ่นอยากจะได้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ก็ทำไม่ได้ ทำได้ช้า กว้างกว่านั้นการโยกย้ายต้องให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น สามารถดูว่าจะได้บุคลาการอย่างไร และให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการท้องถิ่นเขาไปได้ทั่วประเทศ ต้องสมดุลอันนี้ ส่วนเรื่องการถ่ายโอนภารกิจชะงักไปมาก มีการดึงกลับไปส่วนกลาง การแบ่งงานไม่ชัดเจน เกิดความซ้ำซ้อน ทำอะไรไม่ได้จำนวนมาก เช่น ท้องถิ่นจัดงานประเพณี จัดกีฬาท้องถิ่น ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น 

“ปัญหาใหญ่อยู่ที่คณะกรรมการกระจายอำนาจ ไม่ได้จัดแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน เราต้องการให้ท้องถิ่นรีสกิล อัพสกิล ส่งเสริมนวัตกรรม ฝึกอาชีพ แต่ สตง.อ้างว่าทำไม่ได้ เมืองสมัยใหม่ต้องการพัฒนา พรรคเพื่อไทยคิดว่า จังหวัดจัดการตนเอง ต้องการทำเรื่องนี้จริงจัง เราส่งเสริม จังหวัดไหนมีความพร้อม มีเงื่อนไขเหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดนำร่อง ประมาณ 4-5 จังหวัด นโยบายพรรคเพื่อไทย” นายจาตุรนต์ กล่าว