เลือกตั้ง66: ย้อนรอยยุบสภาไทยมีมา14ครั้ง ครม.อยู่ต่อแค่ทำหน้าที่รักษาการ
ยุบสภาวันนี้ กกต.ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน45วันแต่ไม่เกิน60วัน ครม.เดิมอยู่ทำหน้าที่รักษาการต่ออุดช่องโหว่ ช่วงสุญญากาศการบริหารอำนาจรัฐจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เปิดประวัติการยุบสภาในไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้ว14ครั้ง นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง
กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวยุบสภาฯ วันนี้(20 มี.ค.) ว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯไปแล้ว และคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันนี้ และจะมีผลเมื่อราชกิจจานุเบกษาลงในวันดังกล่าว และเมื่อลงมาแล้วก็จะไม่ทราบวันเลือกตั้ง เพราะผู้กำหนดวันเลือกตั้งคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.และคาดว่าวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคม 2566
ทั้งนี้ หลังการยุบสภาแล้ว มีผลให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะแต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศในการบริหาร และรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้
1.ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก่อน
2.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
3.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป
4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต.กำหนด
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 103 วรรคสอง บัญญัติแนวการปฏิบัติยุบสภาดังนี้
"การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกาจะใช้บังคับเมื่อใดแล้วแต่กำหนดไว้ในนั้นเองแต่ต้องหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ"
ทั้งนี้ การยุบสภาเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว14ครั้ง
ครั้งที่ 1
วันที่ 11 ก.ย.2481 ในรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลจขัดแย้งกับสภาเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ
ครั้งที่ 2
วันที่ 14 ต.ค.2488 ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภายืดอายุมานานในช่วงสงคราม หลังจากได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เนื่องจากไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ ทำให้ ส.ส.ชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร
ครั้งที่ 3
วันที่ 16 ธ.ค.2516 ในรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติลาออกเหลือ 11 คน จนไม่สามารถทำหน้าที่ของสภาได้
ครั้งที่ 4
วันที่ 12 ม.ค.2519 ในรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
ครั้งที่ 5
วันที่ 19 มี.ค.2526 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ 6
วันที่ 1 พ.ค.2529 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภากรณีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522
ครั้งที่ 7
วันที่ 29 เม.ย.2531 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล และส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
ครั้งที่ 8
วันที่ 30 มิ.ย.2535 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภาภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือน พ.ค.2535
ครั้งที่ 9
วันที่ 19 พ.ค.2538 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถจะดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)
ครั้งที่ 10
วันที่ 29 ก.ย.2539 ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย.2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาซา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายบรรหารประกาศจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกฯ ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด
ครั้งที่ 11
วันที่ 9 พ.ย.2543 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปฏิบัติภารกิจสำคัญแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
ครั้งที่ 12
วันที่ 24 ก.พ.2549 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี จากข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้รัฐบาลขณะนั้นได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล
ครั้งที่ 13
วันที่ 10 พ.ค.2554 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ไปเรียบร้อยแล้ว
ครั้งที่ 14
วันที่ 9 ธ.ค.2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการคัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในปี 2556
ทั้งนี้ การยุบสภาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นครั้งที่ 15 คงต้องรอฟังเหตุผลและความจำเป็นของการตราพ.ร.ฏ.ยุบสภาดงกล่าว