posttoday

ทำไมแข้งเด็กไทย ถึงเก่งกว่าญี่ปุ่น?

03 กันยายน 2560

นักเตะรุ่นจิ๋วของไทยหลายคนมีทักษะและความสามารถโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ

โดย...นูโน่

ถ้าพูดกันถึงชื่อชั้นทางด้านฟุตบอลนั้น ต้องยอมรับว่าทีมไทยยังตามหลังนักเตะญี่ปุ่น ซึ่งไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายมาตลอด 5 ครั้งล่าสุด อยู่อีกมาก ไม่ว่าจะทักษะความสามารถเฉพาะตัว หรือระบบการเล่น แต่เมื่อมาเจอกันในเกมลูกหนังเด็ก กลับเป็นเด็กไทยเหนือกว่าอย่างชัดเจน

อย่างล่าสุดในการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า อินเตอร์เนชันแนล จูเนียร์ คัพ 2017 ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์พิเศษรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ที่มีนักเตะจากโครงการโตโยต้า จูเนียร์ ฟุตบอล คลินิก จากประเทศไทย และเวียดนาม เข้าร่วมแข่งขันกับอีก 4 ทีมของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26-27 ส.ค. ณ สนามโตโยต้า สปอร์ต เซนเตอร์ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น แข้งเด็กไทยคว้าแชมป์มาครองได้อย่างยอดเยี่ยม จากผลงานเอาชนะเด็กญี่ปุ่นทั้ง 4 นัด และเสมอเวียดนาม 1 นัด

ยิ่งไปกว่าชัยชนะเหนือทีมเจ้าถิ่น ยังเป็นการชนะด้วยสกอร์ขาดลอยไม่ว่าจะเป็นการพิชิตสโมสรนาโกยาแกรมปัส เอต 5-0 ชนะสโมสรเวนท์โฟเรท์ โคฟุ 3-1 ชนะทีมจากศูนย์พัฒนาฟุตบอลประจำเมืองคาริยะ 4-1 และถล่มทีมจากศูนย์พัฒนาฟุตบอลประจำเมืองโตโยต้าอีก 6-0

“ทำไมบอลเด็กของไทยถึงเก่งกว่าญี่ปุ่น?” คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยไม่ต่างกัน

แน่นอนปัจจัยแรกคงต้องให้เครดิตนักเตะรุ่นจิ๋วของไทย ดั่งประโยคฮิต “เด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” จริงๆ เพราะเมื่อลงสนามไป นักเตะของไทยหลายคนมีทักษะและความสามารถโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับทีมอื่นๆโดยเฉพาะ “น้องอิคคิว” กันตภณ สีลารัตน์ กองหลังมาดนิ่ง ที่มีดีทั้งสรีระและการอ่านเกมที่เฉียบขาด จน “เดอะตุ๊ก” น.ท.ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชุดนี้ ถึงกับเอ่ยปากยกให้เป็นว่าที่ “ตั้ม 2” หรือ ธนบูรณ์ เกษารัตน์ คนต่อไป

“นอกจากเรื่องหน้าตาที่คล้ายกันแล้ว อิคคิว ยังมีเรื่องของสมาธิในการเล่นดี มีความนิ่งในเกม คาแรกเตอร์ในการเล่น เข้าหนักเข้าเบา การใช้สมองในการเล่น อ่านเกมค่อนข้างดีเหมือนกับธนบูรณ์ ซึ่งในเด็กรุ่น 12 ปี อ่านเกมได้ขนาดนี้ถือว่าดี แต่ก็ต้องพัฒนาต่อไป และลูกกลางอากาศค่อนข้างดี การประกบคู่ต่อสู้ดี อนาคตน่าสนใจมาก ถ้าได้รับการพัฒนาที่ดี ไปไกลแน่เด็กคนนี้” ตำนานกองหน้าทีมชาติไทย กล่าว

แม้แต่เจ้าตัวเอง ซึ่งเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่ ป.2 จากการชักจูงของพ่อ ก็ยอมรับว่า ชอบและมี ธนบูรณ์ เป็นแบบอย่างในการเล่นฟุตบอล พร้อมวาดฝันอยากเดินตามรอยไอดอลติดทีมชาติไทยในอนาคต

“ปีก่อนก็มาคัดโครงการนี้ แต่ตกรอบสุดท้าย ปีนี้มาใหม่แล้วก็ติด ก็ดีใจและได้ประสบการณ์ที่ญี่ปุ่น การฝึกซ้อมเหนื่อยและหนัก แต่ก็มีความสุขกับการได้เล่นฟุตบอล” กองหลังจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี กล่าว

“น้องแฟท” เวสสภู รอดเทศ ซึ่งได้รับฉายาจากเพื่อนๆ ว่า “ตัวเล็ก” เป็นอีกคนที่ความสามารถไม่เล็กเหมือนตัว เมื่อมีลีลาการเลี้ยงบอลหลบคู่ต่อสู้จัดจ้าน และเป็นดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์ด้วยผลงาน 4 ประตู

กองกลางจิ๋วแต่แจ๋วจากพีเอสดับเบิล ฟูเตรา อะคาเดมี เล่าว่า เริ่มเล่นบอลตอนอายุ 6 ขวบ ตอนแรกก็ไม่ชอบ แต่พอซ้อมไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกชอบ และมี “เมสซีเจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ กองกลางทีมชาติไทย เป็นแรงบันดาลใจ เพราะตัวเล็กเหมือนกันแต่กล้าเล่นส่วนในระดับโลกก็ชื่นชอบ ลิโอเนลเมสซี ซูเปอร์สตาร์ของทีมบาร์เซโลนา

“โตขึ้น ผมอยากติดทีมชาติ และอยากไปเล่นบอลต่างประเทศ อยากไปพรีเมียร์ลีก” น้องแฟท เผยถึงความฝันในอนาคต แต่สิ่งสำคัญยังต้องเสริมในเรื่องความแข็งแกร่งอีกมาก

ทำไมแข้งเด็กไทย ถึงเก่งกว่าญี่ปุ่น? กันตภณ สีลารัตน์

ทั้ง 2 คน เผยด้วยว่า การผ่านคัดเลือกเข้าเป็นตัวแทนทีมชาติไทยรุ่น 12 ปี ในโครงการนี้ ได้เรียนรู้การเล่นฟุตบอล ระบบการเล่น และแท็กติกต่างๆ จากสตาฟฟ์โค้ช ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไทยแตกต่างจากญี่ปุ่น

เนื่องจากวัฒนธรรมการสอนของญี่ปุ่น จะไม่เน้นเรื่องผลการแข่งขันในวัยเด็ก แต่จะเน้นการสอนพื้นฐานและการพัฒนาไปตามขั้นตอน อย่างเช่น การเน้นรับ-ส่งบอล และทักษะพื้นฐานของแต่ละคน แต่ยังไม่ใส่เรื่องของแท็กติกและระบบการเล่น โดยปล่อยให้เด็กๆ ได้คิดและเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน

สังเกตได้จากการให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายของแต่ละทีมก่อนแข่ง โค้ชจากสโมสรของญี่ปุ่นจะไม่พูดถึงผลการแข่งขันเลย แต่จะคาดหวังในทำนอง ต้องการให้นักเตะได้ประสบการณ์ในการเจอกับผู้เล่นต่างชาติ ได้พัฒนาทักษะการเล่นเป็นทีมมากขึ้น เล่นอย่างมีวินัย เคารพกติกา

“เพื่อแลกเปลี่ยนทักษะของทั้งผู้เล่นชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ เพื่อให้ผู้เล่นเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ และเรียนรู้ถึงความสำเร็จและความล้มเหลวในการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น” โคอิชิ ยามาจิ หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรนาโกยา แกรมปัส เอต เผยถึงความคาดหวังก่อนแข่ง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวลาลงสนามเราจะไม่ค่อยเห็นโค้ชญี่ปุ่นตะโกนสอนเด็กระหว่างการแข่งขัน แม้เกมจะเป็นรองหรือตามหลังอยู่ก็ตาม เพราะเขาจะปล่อยให้เด็กเล่นและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก่อนจะนำเอาบทเรียนจากเกมดังกล่าวมาสอนให้ฟังหลังจบเกม

เมื่อเด็กมีพื้นฐานแน่น และการเรียนรู้ที่ยอมรับทั้งความสำเร็จและล้มเหลวแล้ว ญี่ปุ่นจะเริ่มใส่แท็กติกระบบการเล่นอย่างจริงจัง และเริ่มเน้นเรื่องผลการแข่งขันมากขึ้นในรุ่นอายุ 15-16 ปีขึ้นไป เหมือนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนและมั่นคง

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม บอลเด็กญี่ปุ่นถึงไม่เก่ง (หากวัดจากผลการแข่งขัน) แต่ไปไกลกว่าไทยมากเมื่อก้าวสู่ชุดใหญ่ ขณะที่เด็กไทยหลายคนเริ่มต้นได้ดี แต่ขาดความต่อเนื่อง และนี่เป็นอีกโครงการที่ดีสำหรับเด็กไทยในการได้เรียนรู้ประสบการณ์ทั้งในและนอกสนาม เพื่อการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย “บอลไทยไปบอลโลก” ในอนาคต