posttoday

"โลโก้ทีมชาติไทย" ช้างศึกหรือตราพระมหามงกุฎ

19 มีนาคม 2560

ยังคงมีเสียงเรียกร้องถึงการนำตราพระราชทาน “ตราพระมหามงกุฎ” กลับมาประดับบนหน้าอกเสื้อทีมชาติอีกครั้ง

โดย...ชมณัฐ

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ประกาศเปิดประกวดออกแบบสัญลักษณ์ของสมาคม หรือโลโก้ “ช้างศึก” ขึ้นใหม่เพื่อใช้ทดแทนของเดิม อย่างไรก็ตามยังคงมีเสียงเรียกร้องถึงการนำตราพระราชทาน “ตราพระมหามงกุฎ” กลับมาประดับบนหน้าอกเสื้อทีมชาติอีกครั้ง

แฟนบอลบางกลุ่มต้องการเห็นสมาคมฟุตบอลไทยนำตราพระมหามงกุฎ ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อ พ.ศ. 2458 มาประดับบนหน้าอกซ้ายของชุดแข่งทีมชาติไทยอีกครั้ง เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมดังที่สมาคมอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

“ตราพระมหามงกุฎคือความภาคภูมิใจของฟุตบอลไทย เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 6 ดังนั้นสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยควรจะสืบสานเกียรติยศนี้เอาไว้ด้วยการใช้เป็นสัญลักษณ์บนหน้าอกเสื้อทีมชาติ ส่วนเรื่องการนำมาใช้หาสิทธิประโยชน์นั้นก็ยังคงสามารถทำได้ เพราะเชื่อว่าคงไม่มีคนไทยคนไหนนำตราพระราชทานมาใช้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ติดถุงเท้า-รองเท้า แน่นอน” แฟนบอลรายหนึ่งแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันฟุตบอลทั่วโลกในยุคปัจจุบันที่เป็นรูปแบบอาชีพเต็มตัวได้มีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่เอกชนสนใจและให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกีฬา นับเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ฟุตบอลเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้เล่น ทีมชาติ สโมสร ข้อมูลสถิติ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ สามารถนำมาซึ่งมูลค่าได้ทั้งหมด และเป็นสิ่งที่นำมาช่วยส่งเสริมให้วงการฟุตบอลมีความแข็งแกร่งและพัฒนาได้มากขึ้น

ดังนั้น จึงมีคนอีกกลุ่มที่มองว่าหากนำตราพระมหามงกุฎมาใช้อาจจะส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องความเหมาะสม อีกทั้งตราพระมหามงกุฎยังไม่สามารถนำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเชิงพาณิชย์หรือจดลิขสิทธิ์ได้ เว้นเสียแต่ทางสมาคมจะเป็นผู้ทำเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำมาใช้ในกิจการของสมาคมเองหรือเพื่อการกุศล ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายประเภทได้เข้ามาสนับสนุนสมาคมฟุตบอลและทีมชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว แบตเตอรี่รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ โดยต้องการที่จะนำโลโก้ที่ทัพนักเตะทีมชาติไทยใส่ลงสู้ศึกในสนามมาโปรโมทและทำการค้าให้กับแบรนด์ของตัวเอง ฉะนั้นหากมีการนำตราพระราชทานมาใช้แล้วไปปรากฏอยู่ในที่ไม่บังควรจะยิ่งเป็นการสร้างผลกระทบทางด้านจิตใจ

“เป็นธรรมดาที่ผู้เข้ามาสนับสนุนต้องการที่จะได้โลโก้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวกันกับที่ติดบนเสื้อทีมชาติไทยไปโปรโมทสินค้าของตัวเอง ดังนั้นลองคิดดูว่าถ้าตราพระมหามงกุฎไปอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร รวมถึงการนำโลโก้ไปใช้งานประชาสัมพันธ์ต่างๆ หรือความเหมาะสมของตำแหน่งโลโก้ และเราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีสินค้าประเภทใดที่จะเข้ามาสนับสนุนอีกบ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องบอกว่าวงการฟุตบอลทุกวันนี้มันมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเต็มไปหมดเหมือนกันทั่วโลก” บุคลากรในวงการฟุตบอลขอสงวนนาม แสดงทัศนะ

สาเหตุสำคัญต่อมาก็คือการที่ทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติทั้ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า), สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) และสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) ซึ่งทุกชาติต้องเซ็นสัญญายินยอมให้องค์กรและเจ้าภาพจัดการแข่งขันสามารถนำโลโก้ที่ติดบนอกเสื้อของทุกทีมไปใช้โปรโมทการแข่งขันได้ทันที ดังนั้นสมาคมลูกหนังไทยจึงไม่สามารถที่จะคาดการณ์และกำหนดได้ว่าโลโก้ดังกล่าวจะถูกนำไปโปรโมทที่ใดบ้าง อันเป็นไปได้ทั้งข้างตัวรถบัสยามแห่ขบวนพาเหรด ป้ายข้างทาง หรือแบ็กดร็อป

“แม้จะติดบนบอร์ดหรือบนแบ็กดร็อป เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะนำไปติดตรงจุดไหน เป็นไปได้ทั้งด้านบนหรือด้านล่าง อาจจะอยู่ตรงลำตัวนักกีฬา อยู่ลำดับต่ำลงมาจากชาติอื่นๆ หรืออยู่มุมล่างสุดเลยก็เป็นได้ นอกจากนี้หากมีแฟนบอลชาติอื่นๆ นำโลโก้ของทีมที่จะแข่งขันกันไปใส่เอฟเฟกต์ต่อสู้กันอย่างดุดัน มีการจิ้มหรือแทงใส่กันเราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมได้”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ละเลยในการให้ความสำคัญหรือยกเลิกการใช้ตราพระมหามงกุฎ แต่ยังคงใช้เป็นตราสำหรับกิจการของสมาคมในลักษณะทางการ เช่น การลงทะเบียนสัญลักษณ์ประจำสมาคมกับฟีฟ่า หัวเอกสารและหมายกำหนดการที่ออกจากสมาคม เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ ตลอดจนประดับบนเสื้อสูทของสภากรรมการ

ขณะที่โลโก้ “ช้างศึก” ใช้ติดบนเสื้อแข่งกีฬา ตลอดจนใช้ร่วมกับเครื่องหมายการค้าของผู้สนับสนุน โดยปัจจุบัน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีความประสงค์จะออกแบบสัญลักษณ์ “ช้างศึก” ภายใต้แนวความคิด เป็นสัญลักษณ์ของช้างศึกที่ดูสง่างาม ร่างกายแข็งแรง น่าเกรงขาม และต้องประดับด้วยคชาภรณ์แบบช้างศึก ทั้งเต็มตัวหรือเพียงบางส่วน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนของเดิม จึงได้เปิดให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาท และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 3 หมื่นบาท

ท้ายที่สุดแล้วแม้จะมีเสียงจากแฟนบอลที่เห็นต่างกันออกไป แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้ตัดสินใจและวิเคราะห์มาแล้วอย่างถี่ถ้วน เพราะหากมีสิ่งใดที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ผู้ที่เสียหายมากที่สุดก็คือตัวสมาคมเอง