posttoday

บทพิสูจน์...กำปั้นไทย

17 กรกฎาคม 2559

ถือเป็นครั้งแรกของกีฬาโอลิมปิก ที่นักมวยชายจะไม่ใส่เฮดการ์ด และมีการนับคะแนนแบบ “เทน พอยต์”

โดย...กษม จักรเครือ

เหลืออีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 หรือริโอเกมส์ จะเปิดอย่างเป็นทางการที่ริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งครั้งนี้นอกจากทัพนักกีฬาไทยจะได้โควตาเข้าร่วมชิงชัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 52 คนใน 16 ชนิดกีฬาแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาครั้งใหญ่ในกีฬามวยสากลสมัครเล่น ซึ่งเป็นความหวังสำคัญของไทย

ถือเป็นครั้งแรกของกีฬาโอลิมปิก ที่นักมวยชายจะไม่ใส่เฮดการ์ด และมีการนับคะแนนแบบ “เทน พอยต์” หมายความว่ากรรมการ 5 คนให้คะแนนยกละ 10 คะแนน หากครบ 3 ยกไม่มีใครน็อก กรรมการ 3 ใน 5 คนตัดสินให้ฝ่ายใดได้คะแนนมากกว่า ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ

นั่นหมายความว่านักมวยมีโอกาสได้รับบาดเจ็บหรือมีแผลแตกง่ายขึ้น รวมทั้งมีการดูทรงมวย ลีลาการชกเพื่อให้คะแนนด้วย ไม่เหมือนกับการให้คะแนนในแบบเก่าที่กรรมการจะกดคะแนนหากว่าชกเข้าเป้าอย่างเดียวเท่านั้น ท่ามกลางความกังขาเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการให้คะแนน ที่มีปัญหาให้เห็นในการดวลหมัดรอบคัดเลือก

เท่านั้นยังไม่พอ สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (ไอบา) ยังแก้กฎเปิดโอกาสให้นักมวยอาชีพเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ล่าเหรียญรางวัลด้วย ซึ่งทำให้ทีมกำปั้นไทยได้สิทธิเพิ่มอีก 1 ที่นั่งในใบสุดท้ายจาก อำนาจ รื่นเริง รวมทั้งหมด 5 รุ่น แบ่งเป็น ชาย 4 รุ่น ได้แก่ ฉัตร์ชัย บุตรดี (รุ่น 56 กก./แบนตั้มเวต), อำนาจ (รุ่น 60 กก./ไลต์เวต), วุฒิชัย มาสุข (รุ่น 64 กก./ไลต์เวลเตอร์เวต) และ สายลม อาดี (รุ่น 69 กก./เวลเตอร์เวต) บวกกับหญิง 1 รุ่น เปี่ยมวิไล เล่าเปี่ยม (51 กก.หญิง/ฟลายเวต) จากการแข่งขันที่แบ่งเป็นประเภทชาย 10 รุ่น และหญิง 3 รุ่น

“โอลิมปิกครั้งนี้ถือว่าหินที่สุด” สายลม ซึ่งผ่านโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว 2 ครั้ง กล่าว

อย่างไรก็ตาม วุฒิชัย นักชกเบอร์ 1 ของโลกในรุ่น 64 กก. และถูกยกให้เป็นตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญทองให้ทัพเสื้อกล้ามไทย เลือกจะไม่สนใจหรือกังวลกับการตัดสินของกรรมการมากเกินไป เพราะจะทำให้เกร็งจนต่อยไม่ออก แต่ขอขึ้นเวทีและชกได้จะแจ้งเท่านั้นพอ

“ผมไม่กดดันนะ ถึงแม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้ไปแข่งโอลิมปิกเกมส์ เรื่องการให้คะแนน ถ้าเราชกดี ต่อยคู่ต่อสู้เข้าเป้า ผมเชื่อว่าเราก็ต้องชนะ ตอนนี้สภาพร่างกายและจิตใจพร้อม 100% ทำให้ดีที่สุดทุกครั้ง ส่วนคู่แข่งผมพร้อมเจอทุกคน เพราะแต่ละชาติที่ผ่านเข้ามาได้ถือว่าไม่ธรรมดา ฉะนั้นเราห้ามประมาท ขอให้แฟนมวยชาวไทยเป็นกำลังใจให้ด้วย” นักชกวัยเบญจเพส กล่าว

ฉัตร์ชัย ที่เพิ่มน้ำหนักจากรุ่น 52 กก. ขยับมาชก 56 กก. จนคว้าเหรียญทองศึกมวยสากลชิงแชมป์เอเชียปีที่แล้ว ยอมรับห่วงเรื่องกรรมการ เพราะทั้ง 3 เลกในรอบคัดเลือกทำให้รู้ว่าชกเข้าเป้าอย่างเดียวไม่พอ ต้องขยันออกหมัดด้วย จะมาเต้นฟุตเวิร์กและต่อย 1-2 หมัดเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว

“ส่วนกรณีมีมวยอาชีพด้วย ผมว่าไม่ได้เปรียบ เพราะพวกนั้นเขาเครื่องร้อนช้าต้องต่อย 10 ยก แต่มวยสมัครเล่นต่อยแค่ 3 ยก ฉะนั้นต้องเดินหน้าลุยตั้งแต่ยกแรก พวกเขาไม่ถนัดเท่าไหร่ เป้าหมายของผมต้องมีเหรียญมาฝากพี่น้องชาวไทย” ฉัตร์ชัย กล่าว

ขณะที่ อำนาจ อดีตแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตไอบีเอฟในวัย 36 ปี เผยเหมือนฝันหลังได้กลับมาชกโอลิมปิกอีกครั้ง จากที่เคยแพ้ในรอบชิงเหรียญทองแดงเมื่อ 8 ปีก่อนที่ปักกิ่ง ซึ่งครั้งนี้ได้ประสบการณ์จากการต่อยมวยอาชีพมามาก แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือเรื่องการออกหมัด ต้องออกให้เร็วขึ้น จะช้าเหมือนมวยอาชีพไม่ได้ พร้อมตั้งเป้าจะเอาเหรียญมาฝากเช่นกัน

ส่วนมวยหญิงหนึ่งเดียวของไทย ไม่เพียงแค่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกำปั้นไทยในการไปแข่งโอลิมปิก แต่ยังมีลุ้นถึงเหรียญรางวัลเช่นกัน เมื่อพกดีกรีเหรียญเงินชิงแชมป์โลก 2016 และมือ 3 ของโลกเข้าแข่งขันและได้เป็นมือวาง แถมได้บายรอบแรก ชกอีกทีในรอบ 8 คนสุดท้าย

“หนูจะทำให้ดีที่สุด แม้จะเป็นการต่อยโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรก ฝากพี่น้องชาวไทยเป็นกำลังใจให้ด้วย”เปี่ยมวิไล กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทยตั้งเป้า 1 เหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งนอกจากฝีมือและการฝึกซ้อมที่มุ่งมั่น สภาพร่างกายและจิตใจที่เต็มร้อย หาก “เทพีแห่งโชค” เข้าข้าง ทัพกำปั้นไทยก็หวังจะกลับมาคว้าเหรียญทองให้แฟนกีฬาชาวไทยได้ชื่นใจอีกครั้ง หลังพลาดไปเมื่อ 4 ปีก่อน