posttoday

หลวงศุภชลาศัย ผู้สร้างสนามกีฬาแห่งชาติ

17 เมษายน 2559

ผู้ที่รักการกีฬาทุกคน ต้องรู้จักสนามศุภชลาศัย เพราะเป็นสนามกีฬาระดับชาติมาหลายยุคหลายสมัย

โดย...ส.สต

ผู้ที่รักการกีฬาทุกคน ต้องรู้จักสนามศุภชลาศัย เพราะเป็นสนามกีฬาระดับชาติมาหลายยุคหลายสมัย สถานที่นี้ก่อนเป็นสนามกีฬา เคยเป็นที่ตั้งวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ก่อนที่จะมีสนามกีฬาแห่งชาตินั้น กระทรวงศึกษาธิการ ของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้สถาปนากรมใหม่ขึ้น เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2476 เพื่อจัดการงานด้านพลศึกษาของชาติ โดยให้อำมาตย์เอกพระยาประมวลวิชาพูล (วงษ์ บุญ-หลง) รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีจนกระทั่ง วันที่ 1 เม.ย. 2477 นาวาโท หลวงศุภชลาศัยร.น. (บุง ศุภชลาศัย) จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาคนแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2478 กรมพลศึกษาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ต.วังใหม่ อ.ปทุมวันเนื้อที่ 114 ไร่ 1 งาน 25.12 ตารางวา เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน (National Stadium)และโรงเรียนพลศึกษากลาง เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484

วันนี้จึงขอเล่าประวัติอธิบดีกรมพลศึกษาคนแรกผู้ก่อตั้งสนามกีฬาแห่งนี้ คือ หลวงศุภชลาศัย เดิมชื่อบุง เกิดเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2438 ณ ต.ถนนพระอาทิตย์ อ.ชนะสงคราม จ.พระนคร เป็นบุตรนายเบี้ยวและนางพ่วง เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนวัดราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) จนจบชั้นมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2454 และสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายเรือ เรียนเก่งถึงขั้นได้รับเกียรตินิยมของสถาบัน

ก่อนมาเป็นข้าราชการพลเรือน ท่านเป็นนายทหารเรือมาก่อน ตามประวัตินั้นท่านรับราชการด้วยความมานะพากเพียร มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีอุดมคติสูง จนเป็นที่ไว้วางใจ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายธงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ หลังจากนั้นรับราชการในตำแหน่งต่างๆ ของกองทัพเรือมาโดยลำดับ พ.ศ. 2472 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวง
ศุภชลาศัย พ.ศ. 2475 ได้รับพระราชทานยศเป็นนาวาตรี ตำแหน่งนายทหารเลขาธิการกองทัพเรือ

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านได้เข้าร่วมด้วย จากนั้นคณะราษฎรให้รับตำแหน่งผู้บังคับการกองเรือรบสุโขทัย

และเป็นหลวงศุภชลาศัย ที่เดินทางโดยเรือหลวงสุโขทัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล เมื่อถึงในเวลา 10.00 น. ในวันที่ 25 มิ.ย. โดยจอดเรือห่างจากชายฝั่งประมาณ 2,500 เมตร และลงเรือเล็กไป โดยสั่งแก่ทหารบนเรือว่า หากตนยังไม่กลับมาในเวลาที่เหมาะสม ให้ระดมยิงได้เลยโดยไม่ต้องห่วงตน เมื่อถึงฝั่ง หลวงศุภชลาศัยได้เข้าเฝ้าฯ แต่ทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิเสธ ด้วยทรงให้เหตผุลว่าเรือหลวงสุโขทัยนั้นคับแคบเกินไป ไม่สมกับพระเกียรติยศซึ่งทางหลวงศุภชลาศัยก็ได้ส่งโทรเลขกลับไปยังพระนคร ท้ายที่สุดการเสด็จนิวัตทางรถไฟขบวนพิเศษ ที่ทางพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครและหัวหน้าคณะราษฎรจัดถวาย

ในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2476 ได้เลื่อนยศเป็นนาวาโท แและเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่ออายุ 38 ปี

เมื่อการเมืองผันผวน หลวงศุภชลาศัยจึงย้ายจากราชการทหารไปสู่ตำแหน่งการทางพลเรือน และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมพลศึกษา ที่ตั้งขึ้นใหม่ ในช่วงนี้จึงมีความคิดจัดสร้างสนามกีฬา และได้รับขนานนามว่า สนามศุภชลาศัย ตามชื่อผู้ริเริ่ม หลวงศุภชลาศัย เป็นผู้วางรากฐานการพลศึกษาและกีฬานักเรียนเมืองไทยหลายประการ อาทิ การบรรจุหลักสูตรวิชาพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาทั่วประเทศ และสิ่งสำคัญสำหรับชาวพลศึกษา คือการกำหนดสัญลักษณ์ วงกลมห่วง 3 สี ประดิษฐานอยู่ใต้รูปพระพลบดี ซึ่งห่วงสีขาวแทนพุทธิศึกษา ห่วงสีเหลืองแทนจริยศึกษา และห่วงสีเขียวแทนพลศึกษา โดยความหมายแห่งนัย คือบุคคลจะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และก่อประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริงจะต้องมีความสมดุลระหว่างความรู้ ความประพฤติ และพลานามัย ดังเช่นห่วงทั้ง 3 วง ที่วางทับกันอย่างมีเอกภาพ

ชีวิตทางการเมืองเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม

ชีวิตครอบครัวหลวงศุภชลาศัย สมรสกับ สวาสดิ์ หุวนันท์ และ ม.จ.จารุพัตรา อาภากร พระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติในหม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา (ธิดานายตั๊น ชุ่นเพียว)

หลวงศุภชลาศัย ป่วยด้วยโรคตับพิการ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2508 อายุ 70 ปี ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้อาลัยตอนหนึ่งว่า คุณหลวงศุภชลาศัยเป็นบุคคลเช่นพระท่านเทศน์ว่าเป็นผู้เกิดมาดีแล้วจากไปด้วยดี สมควรได้รับการยกย่อง สรรเสริญ