posttoday

ศึกรถไถทางเลนชิงถ้วยพระราชทาน

19 กุมภาพันธ์ 2556

สยามคูโบต้า และคณะผู้จัดงาน เตรียมจัดแข่งขันรถไถทางเลนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 คาดเกษตรกรเข้าร่วมการแข่งขันคึกคัก

สยามคูโบต้า และคณะผู้จัดงาน เตรียมจัดแข่งขันรถไถทางเลนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2  คาดเกษตรกรเข้าร่วมการแข่งขันคึกคัก

นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การจัดการแข่งขันรถไถทางเลนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา คือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ มาเป็นรางวัลเกียรติยศ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้แข่งขัน โดยปีนี้มีทีมลงแข่งขัน 14 ทีม โดยจะแข่งกันในวันที่ 29-30 มีนาคม 2556 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ ในปีนี้ยังมีการจัดโซนกิจกรรมพิเศษ KUBOTA EXPO จัดแสดงเครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้าทุกรุ่นทุกแบบ พร้อมสาธิตการใช้งานและการฝึกขับเครื่องจักรกลการเกษตรโดยมีทีมงานคอยให้คำปรึกษาและความรู้ด้านการใช้งานตลอดทั้งวัน รวมถึงจัดแสดงเครื่องจักรกลการเกษตรนวัตกรรมสำหรับอนาคต ที่จะแสดงให้ผู้เข้าชมงานทุกท่านได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด

ด้านกฎกติกาการแข่งขัน นายไพรัช เงินมีศรี ประธานชมรมกรรมการกีฬายานยนต์ไทย กล่าวว่า ในปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎและกติการการแข่งขันเพื่อเพิ่มความสนุกสนานและท้าทายมากขึ้น โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รุ่น Open กำหนดให้เป็นเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียว ไม่จำกัดยี่ห้อ หรือไม่เกินเครื่องยนต์คูโบต้า RT140  ไม่จำกัดแรงม้า และรุ่น Standard กำหนดให้เป็นเครื่องยนต์  คูโบต้า RT 140 ลูกสูบเดิม , วาล์วเดิม, ฝาสูบเดิม , ช่วงชักเดิม  ขนาดไม่เกิน 14 แรงม้า ทั้ง 2 รุ่น ห้ามติด Turbo และยิง Nitrus  ห้ามติด Pump  ห้ามติดแก๊ส (LPG/NGV) โครงรถไถเดินตามไม่จำกัดยี่ห้อ มีเกียร์เดินหน้า นอกจากนี้ยังมี การประกวดแต่งรถไถ ประเภทสวยงาม โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลคูโบต้าทุกรุ่น โครงรถไถเดินตามตราช้าง เพื่อเพิ่มสีสันและความสนุกสนานให้แก่ผู้เข้าชม

การแข่งขันรถไถทางเลน เป็นกีฬาที่เกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนนิยมแข่งขันกันในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อประชันความแรงของเครื่องยนต์ โดยการนำรถไถนาเดินตามพร้อมเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ในการทำนามาแข่งกัน โดยการแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นประมาณ 10-15 สนามต่อปี   มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละสนามประมาณ 2,000-5,000 คน นับได้ว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ภาคเกษตรกรรมไทย