posttoday

5 เมกะเทรนด์ กำหนดโลกลงทุน

31 ตุลาคม 2561

นักลงทุนต้องศึกษาหาความรู้ ดูแนวโน้มใหญ่ หรือที่เรียกว่า “เมกะเทรนด์”

 

เรื่อง พูลศรี เจริญ

หลักการลงทุนที่เรามักท่องกันขึ้นใจ หรือเป็นประโยคอมตะ คือ การดูเงินในกระเป๋าว่าเป็นเงินร้อน (เงินลงทุนระยะสั้น) เงินเย็น (ลงทุนระยะยาวได้) การคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้

แค่นี้ยังไม่พอ นักลงทุนต้องศึกษาหาความรู้ ดูแนวโน้มใหญ่ หรือที่เรียกว่า “เมกะเทรนด์” ว่าโลกจะไปในทิศทางไหน ทั้งนี้เพื่อเป็นเข็มทิศการลงทุน ทำให้เงินลงทุนไม่หลงทาง เพราะถ้าหลงทางหรือลงทุนผิด อาจทำให้สูญเสียความมั่งคั่งได้

ทีนี้เรามาดูกันว่าแล้วแบล็กร็อก (BlackRock) บริษัทจัดการกองทุนจากสหรัฐฯ ทั้งยังมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (เอยูเอ็ม) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกมองเทรนด์การลงทุนเป็นอย่างไร

บริษัท มอร์นิ่ง สตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ระบุว่า แบล็กร็อกมอง 5 เมกะเทรนด์ที่จะกำหนดภาวะการลงทุนในตลาดโลกนั้น ส่วนใหญ่มีผลกระทบเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลไปอีก 30 ปีข้างหน้า หรือมากกว่านั้น ซึ่งบางข้ออาจมีมาสักระยะหนึ่งแล้ว หรือบางข้อยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่ง 5 เมกะเทรนด์ นั้นมีดังนี้

1) การเปลี่ยนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียทำให้มีการถ่วงอำนาจทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แม้ว่าอาจมีความกังวลที่ประเทศจีนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปริมาณหนี้ที่ค่อนข้างสูง แต่หากเทียบกับทางด้านสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปแล้ว จีนก็ดูจะยังมีศักยภาพการเติบโตระยะยาวที่ดูดีกว่า

2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากร

การขยายตัวของจำนวนประชากรโลกนั้นส่งผลต่อความต้องการด้านพลังงาน อาหารและน้ำที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะความต้องการด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันจึงมีการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในหลายภาคส่วน เช่น ด้านการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นหนึ่งปัจจัยการให้คะแนน Morningstar Sustainability Rating

3) การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และสังคม

จำนวนและอายุประชากรโลกที่มากขึ้นส่งผลต่อความต้องการพื้นฐานที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จากรายงาน World Population Prospect ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีกราว 1.2 พันล้านคนภายในปี 2573 อย่างไรก็ตามจะมีการกระจุกตัวของจำนวนประชากรดังกล่าวทั้งด้านอายุและภูมิภาค เช่น 30% ของจำนวน 1.2 พันล้านคนจะอยู่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือภายในปี 2593 ประชากรที่จะเพิ่มขึ้นนั้น กว่า 50% มาจากทวีปแอฟริกา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้แก่ การใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นมาก การใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานที่อาจขาดแคลน หรือความต้องการออมเงินมากขึ้นตามวัยเกษียณที่ยาวนานขึ้น

4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างมากทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การเงิน การจับจ่ายใช้สอย และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ความต้องการทางเทคโนโลยีส่งผลให้มีการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และบริษัทเหล่านั้นก็มีมูลค่าแบรนด์ที่สูงขึ้นมากตามไปด้วย เช่น บริษัทอย่าง แอปเปิล ซัมซุง กูเกิ้ล หรือ เฟซบุ๊ก

5) การขยายตัวของความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองต่างๆ ส่งผลต่อความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการทางสังคม โดยมีการคาดการณ์ว่าเฉพาะนครนิวยอร์ก นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และกรุงลอนดอน รวมกันจะมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าราว 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 256 ล้านล้านบาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้แก่ ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีความต้องการสูงขึ้น

นอกจากนี้ภาวะการลงทุนของโลกก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ตลาดให้ความสนใจกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยดูจากปัจจัยด้านความมั่นคงและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ มาเป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จากปัจจัยศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่จะยังคงเติบโตต่อไปจากการพัฒนาด้านนโยบายตลาดหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนของประเทศตลาดเกิดใหม่เพื่อตอบรับความต้องการการลงทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง

จาก 5 เมกะเทรนด์ที่แบล็กร็อกมองนั้น นับว่าน่าสนใจ และอาจกล่าวได้ว่า มุมมองของบริษัทจัดการกองทุนระดับโลกรายนี้ ได้มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการลงทุนของคนไทย เห็นได้จากปัจจุบันแบล็กร็อกบริหารเงินคนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ ภายใต้กองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (FIF) รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 27% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว (ข้อมูลจากมอร์นิ่ง สตาร์ฯ ณ 30 มิ.ย. 2561) โดยมีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือสินค้าโภคภัณฑ์

ล่าสุดบริษัทจัดการกองทุนหรือ บลจ.รายเล็กอย่าง บลจ.ฟิลลิป ที่อยู่อย่างเงียบๆ มานานหลายปี ยังต้องลุกขึ้นมาเกาะขบวนรถด่วนด้วยการออกกองทุนใหม่คือ กองทุนเปิดฟิลลิปเวิลด์อินโนเวชั่น (PWIN) เพื่อลงทุนในหุ้นระดับโลก (ผ่านกองทุนอีทีเอฟ) ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก โดยกระจายการลงทุนใน 5 ธีมที่เป็นเมกะเทรนด์ ได้แก่ อีสปอร์ต วิดีโอเกม ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ นวัตกรรมอินเทอร์เน็ต นวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และธุรกิจไบโอเทคโนโลยี

ติยะชัย ชอง กรรมการผู้จัดการ บลจ.ฟิลลิป บอกว่า ที่มาของการคัดเลือก 5 ธีมการลงทุนนี้ มาจากการใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้า มาสนับสนุนเพื่อคัดเลือกธีมการลงทุนที่เป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตทั่วโลก และแตกต่างจากธีมการลงทุนที่เคยมีมาก่อน เช่น ธุรกิจอีสปอร์ต วิดีโอเกม ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นกระแสไปทั่วโลก ทั้งจำนวนผู้เล่นเกมที่มีหลายพันล้านคน และการเติบโตทางรายได้ของบริษัทผู้ผลิตเกมต่างๆ หรือธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ที่เติบโตตามมูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต้องทุ่มงบประมาณในการสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ ไม่ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะขึ้นหรือลง การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ใหญ่จะยังดำเนินต่อไปในระยะยาว การอ่านทิศทางเมกะเทรนด์โลกได้ถูกต้อง และเลือกลงทุนในปัจจัยที่จะผลักดันการเติบโตของแนวโน้มดังกล่าว จะช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้โดยไม่ต้องอ้างอิงสภาวะตลาดหุ้นหรือจังหวะลงทุน เช่น ในปี 2560 มีจำนวนประชากรผู้เล่นเกมออนไลน์ทั่วโลกมากกว่า 2 พันล้านคน และกว่า 46% มีการใช้จ่ายเงินในเกม

อีกทั้งปัจจุบัน เกมออนไลน์ยังถูกพัฒนาเป็นการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตซึ่งกำลังได้รับความนิยมทั่วโลก บางรายการมีเงินรางวัลสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ย่อมทำให้จำนวนผู้เล่นเกมมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะทำรายได้มหาศาลให้กับบริษัทผู้ผลิตเกม และสำหรับธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ยิ่งประชากรโลกเข้าสู่โลกออนไลน์เติบโตมากเท่าใด โอกาสเกิดภัยไซเบอร์ก็จะสูงตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าแต่ละปี มูลค่าความเสียหายจากภัยทางไซเบอร์ก็สูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะในปี 2558 สูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการวิเคราะห์ว่าในปี 2564 มูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ย่อมจะส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบไซเบอร์ซิเคียวริตี้มีโอกาสเติบโตมากขึ้นด้วย