posttoday

ตลาดโลกผันผวน 9 เดือน ใครเจ็บ-ใครรอด

31 ตุลาคม 2561

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยค่อนข้างผันผวนอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรก

 

เรื่อง พูลศรี เจริญ

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยค่อนข้างผันผวนอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรก โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.47% จากสิ้นปี 2560 ไปปิดที่ 5.04 ล้านล้านบาท โดยมีปริมาณเงินไหลออกสุทธิช่วง 9 เดือนแรก 24,142 ล้านบาท

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทย (SET) ขึ้นไปปิดที่ 1,756.41 จุด ณ สิ้นไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 10.08% จากไตรมาสที่แล้ว โดยตลาดหุ้นไทยสามารถปรับตัวขึ้นได้แม้จะมีข่าวที่ทำให้ตลาดค่อนข้างผันผวนในช่วงเดือน ส.ค.–ก.ย. เช่น ปัจจัยลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การอ่อนค่าของเงินลีรา (ตุรกี) ที่สร้างความกังวลต่อภาวะการลงทุนตลาดเกิดใหม่โดยรวม การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

อย่างไรก็ดี บรรยากาศการลงทุนในบ้านเรามีปัจจัยบวกเข้ามาหล่อเลี้ยง เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2 เติบโต 4.6% ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังสามารถกลับขึ้นมาสู่เหนือ 1,700 จุดได้อีกครั้ง

โกลบอลบอนด์ เลือดไหลไม่หยุด

ในส่วนของกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดได้แก่กลุ่ม Global Bond หรือกองทุนตราสารหนี้โลก ที่ยังเป็นการไหลออกต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ทำให้รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น 83,058 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกลุ่มนี้ลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 101,181 ล้านบาท หรือลดลงราว 45.98%

ตามมาด้วยกลุ่ม Money Market ไหลออก 65,317 ล้านบาท Mid/Long Term Bond ไหลออก 18,937 ล้านบาท Global Healthcare ไหลออก 17,912 ล้านบาท และกลุ่ม Global High Yield Bond Fix Term ไหลออก 16,799 ล้านบาท

หุ้นบิ๊กแคป พระเอก

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมของประเทศไทยนั้น บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ระบุว่า นับเป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว หลังจากที่เป็นเงินไหลเข้าติดต่อกัน 12 ไตรมาส

โดยกระแสเงินไหลออกหลักมาจากกองทุนประเภทตราสารหนี้ เนื่องจากปัจจัยลบ เช่น ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนตราสารหนี้ ความไม่แน่นอนของการเก็บภาษีจากกองทุนตราสารหนี้ และปัจจัยบวกของทิศทางเศรษฐกิจไทยที่อาจส่งผลให้นักลงทุนให้ความสนใจการลงทุนในกองทุนหุ้นมากกว่าตราสารหนี้

ภาพรวมการลงทุนกองทุนรวมในไตรมาสที่ 3 มีเงินไหลออกสุทธิ 40,425 ล้านบาท ทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิรวม 24,142 ล้านบาท โดยในรอบ 9 เดือนนี้ กลุ่มกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 71,794 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินทำสถิติสูงสุดที่ 702,575 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Property-Indirect Global มีเงินไหลเข้าสุทธิ 31,740 ล้านบาท กลุ่ม Aggressive Allocation เงินไหลเข้า 28,878 ล้านบาท Conservative Allocation เงินไหลเข้า 20,694 ล้านบาท Global Equity เงินไหลเข้า 17,166 ล้านบาท

ตลาดโลกผันผวน 9 เดือน ใครเจ็บ-ใครรอด

ต่างประเทศมาแรง

ในส่วนของการลงทุนในกองต่างประเทศ (ไม่รวมเทอมฟันด์) ในไตรมาสที่ 3 นั้น มีเงินไหลออกสุทธิถึง 40,708 ล้านบาท นำโดย Global Bond Global Healthcare และ Global Allocation

ขณะที่เงินไหลเข้าสุทธิส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกองทุนประเภทกองทุนหุ้น ได้แก่ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกผ่านกองทุน กองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลก กองทุนหุ้นจีน และกองทุนหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

หากดูในช่วง 9 เดือนแรกนั้น ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ฯ ระบุว่า 5 อันดับเงินไหลเข้าสุทธิก็ยังคงเป็นกองทรัพย์สินประเภทหุ้น เช่นกัน นำโดย Property Indirect – Global (31,739 ล้านบาท) Global Equity (17,165 ล้านบาท) China Equity (16,012 ล้านบาท) Asia Pacific ex-Japan Equity (14,137 ล้านบาท) Emerging Market Equity (8,897 ล้านบาท)

ทั้งนี้ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ตัวเลขเงินไหลออกสุทธิ 9 เดือน อยู่ที่ 32,377 ล้าน บาท และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 628,343 ล้านบาท ลดลง 7.35% จากสิ้นปี 2560

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกนั้นมีการออกกองทุนต่างประเทศใหม่ (ไม่รวมเทอมฟันด์) ทั้งสิ้น 79 กอง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 46,000 ล้านบาท โดยกลุ่ม Global Equity มีการออกกองใหม่สูงสุดที่ 24 กอง (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 10,000 ล้านบาท) ตามมาด้วย Global Allocation 16 กอง (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 9,000 ล้านบาท) และ Global Bond 12 กอง (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 85,000 ล้านบาท)

ผลตอบแทน

ผลการดำเนินงานเดือนแรกของกองทุนน้ำมัน (Commodities Energy) นั้นยังคงทำผลตอบแทนโดดเด่น โดยทำได้ถึง + 27.75% Global Healthcare +12.83% Property Indirect +10.83%

สำหรับกลุ่มกองทุนหุ้นไทยนั้นมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผลตอบแทนช่วง 9 เดือนที่ผ่านมากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 0.21%

กลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กแม้จะยังให้ผลตอบแทนติดลบแต่ก็ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉลี่ยติดลบ 4.46% โดยมีสาเหตุจากการปรับตัวของดัชนีหุ้นไทย ที่ได้รับปัจจัยบวก เช่น การประกาศตัวเลขจีดีพีที่ดีกว่าคาด และการประกาศวันเลือกตั้ง

ส่วนกองทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศยังคงให้ผลตอบแทนติดลบเป็นส่วนใหญ่มีเพียงตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีผลตอบแทนเป็นบวก

  • India Equity -15.32%
  • Emerging Market Equity -10.40 %
  • Asia Pacific ex-Japan
  • Equity -10.18%
  • ASEAN Equity -8.68%
  • China Equity -8.53%
  • Europe Equity -0.42%

ด้านการลงทุนในกองทุนประเภทตราสารหนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเป็นบวกเพียงเล็กน้อยนำโดย Money Market, Short-Term Bond, และ Mid/Long-Term Bond ที่0.67%, 0.64% และ 0.36% ตามลำดับ

ในส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศอย่าง Emerging Market Bond และ กลุ่ม Global Bond นั้นยังให้ผลตอบแทนติดลบที่ -5.65% และ-2.06% ตามลำดับ