posttoday

ผันผวนหนัก…พักตรงนี้ กองทุนหุ้นปันผล/โลว์ เบต้า

31 ตุลาคม 2561

เส้นทางการลงทุน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความขรุขระหรือผันผวนจากปัจจัยลบภายนอก

 

เรื่อง พูลศรี เจริญ

เส้นทางการลงทุน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความขรุขระหรือผันผวนจากปัจจัยลบภายนอกที่ทำบรรยากาศการลงทุนปั่นป่วนเป็นระลอก เรื่องหนักสุดก็คงหนีไม่พ้นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เรียกกันติดปากไปแล้วว่า เป็นสงครามการค้า

นอกจากนี้มีเรื่องแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐที่เป็นขาขึ้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเทขายตราสารหนี้จนผลตอบแทนติดลบระนาววิกฤติค่าเงินตุรกี ที่สร้างความกังวลต่อการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ แม้แต่ไทยก็ถูกเหมาเข่งเข้าไปด้วย ทั้งๆ ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจและทุนสำรองแข็งแกร่ง ที่สำคัญ เรากำลังจะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า แต่ด้วยอานุภาพของข่าวลบจากภายนอกที่ถาโถมเข้ามาเป็นระลอกทำให้หุ้นไทยอยู่ในอาการ 3 วันดี 4 วันไข้ หรือผันผวน

ความผันผวนของสินทรัพย์การลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้ กระทบชิ่งมาถึงการลงทุนผ่านกองทุนรวมด้วย ที่ต้องเผชิญกับเงินไหลออก โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ ส่วนกองทุนหุ้นก็ได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลง ส่งผลให้ 9 เดือน กองทุนรวมไทยเติบโตเพียง 0.47% ถือว่าขี้เหร่เต็มที โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอยูเอ็ม) อยู่ที่ 5.04 ล้านล้านบาท มีเงินไหลออก 2.4หมื่นล้านบาท

ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาไม่ดีทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ สำหรับกองทุนหุ้นไทยนั้น กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กยังให้ผลตอบแทนติดลบที่ 4.46% ส่วนกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ให้ผลตอบแทน 0.21% (ที่มา: มอร์นิ่งสตาร์)

มองไปข้างหน้า ทั้งช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2562 ความผันผวนยังคงมีอยู่ โดยปัจจัยลบจากภายนอกเรื่องเดิมๆ ที่ยังเป็นคลื่นลูกใหญ่

แล้วจะลงทุนอะไรดี เพื่อหลีกหนีความผันผวน รวมถึงเป็นหลุมหลบภัยของเงินสำหรับการลงทุนในหุ้นก็ต้องหุ้นปันผลและหุ้นผันผวนต่ำ ถือว่าตอบโจทย์ได้ดี

ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการสายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย แนะนำว่า ในสถานการณ์ตลาดที่ค่อนข้างผันผวนการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายเน้นหุ้นขนาดใหญ่ กระจายหลากหลายอุตสาหกรรม จึงเป็นทางเลือกที่ดีในแง่ของการช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ต

สำหรับ บลจ.กสิกรไทย มีกองทุนที่สอดคล้องเหมาะสมกับภาวะตลาดในปีนี้ได้แก่ กองทุนเปิดเค หุ้นระยะยาวปันผล (KDLTF) ที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอทุกปีตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (19 ต.ค. 2547) จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา 14 ปี โดยจ่ายไปแล้วทั้งหมด 22 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9.83 บาทต่อหน่วย หรือสามารถคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.45% ต่อปี ถือเป็นกองทุนที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงสุด เมื่อเทียบกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) อื่นๆของกสิกรไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2561)

ขณะที่หลัง 3 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2561) ให้ผลตอบแทน 9.90% ชนะเกณฑ์มาตรฐาน (SET TRI) ซึ่งอยู่ที่ 9.61% และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 7.25% ต่อปี ชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 7.06% ต่อปี กองทุน KDLTF มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี กระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด โดยมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุนมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด

ด้านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คือ กองทุนเปิดเค หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KEQRMF) ที่ถือเป็นเป็นกองทุนยอดนิยมที่มียอดซื้อสูงสุดในกลุ่มกองทุนหุ้น RMF ของ บลจ.กสิกรไทยในปีนี้มีนโยบายคัดเลือกลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูง เป็นผู้นำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมและผลการดำเนินงานโดดเด่น สามารถสร้างกำไรอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ นโยบายการลงทุน มีการกระจายไปยังหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาดและยังกระจายการลงทุนบางส่วนในต่างประเทศ โดยกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2561) ที่ 13% ต่อปี ชนะเกณฑ์มาตรฐานที่ 9.60 % ต่อปี ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 11.51% ต่อปี ชนะเกณฑ์มาตรฐานที่ 9.61% ต่อปี

กล่าวสำหรับ กองทุนปันผล คือกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ลักษณะต่างๆ ที่มีนโยบายจ่ายผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนของกองทุนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน หรือแปลเป็นภาษาง่ายๆ ว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานของกองทุนตามสัดส่วนของการถือหน่วยลงทุนนั่นเอง

ข้อดีของการถือหน่วยลงทุนในกองทุนปันผลคือ เราจะได้รับผลตอบแทนตลอดระยะเวลาที่ถือหน่วยลงทุน แต่มูลค่าของหน่วยลงทุนนั้นๆ อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

เช่น เราซื้อหน่วยลงทุนด้วยมูลค่า 10 บาท/หน่วย ผ่านไป 1-2 ปี มูลค่าของหน่วยลงทุนอาจจะยังอยู่ที่ 10 บาทหรือมีการเปลี่ยนแปลงโดยส่วนมากก็จะไม่เกิน 20-30 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้นพูดง่ายๆ ว่าเงินลงทุนยังเท่าเดิมนั่นเอง

แต่มีรายได้จากเงินปันผลกองทุนหุ้นที่จ่ายปันผล เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีรายได้ประจำอาจจะมองกองทุนรวมหุ้นที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอเป็นจุดเสริมเป็นรายได้ และเป็นการลดความเสี่ยงของพอร์ต

การลงทุนอีกสไตล์ที่ตอบโจทย์คอหุ้นนั่นก็คือ โลว์ เบต้า (Low-beta) ในอุตสาหกรรมกองทุนรวมบ้านเรา มี บลจ.ธนชาต ที่มีกองทุนตระกูลโลว์ เบต้า เช่นกองทุนเปิดธนชาต Low Beta เพื่อการเลี้ยงชีพ (T-LowBetaRMF) และกองทุนเปิดธนชาต Low Beta หุ้นระยะยาวปันผล (T-LowBetaLTFD )

กองทุนตระกูลโลว์ เบต้า มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำกว่าตลาด เนื่องจากลงทุนในหุ้นที่กิจการมีการเติบโตที่มั่นคงและสามารถจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอและรายได้หลักไม่เหวี่ยงไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศโรงไฟฟ้า น้ำประปา และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

อำพล โฆษิตาภรณ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส ฝ่ายตราสารทุน บลจ.ธนชาต อธิบายคำว่า "โลว์ เบต้า" มาจากการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกับการเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) โดยค่าทางสถิติเบต้าของตลาดหลักทรัพย์จะมีค่าเท่ากับ 1 ดังนั้น หุ้นตัวไหนที่ค่าเบต้าต่ำกว่า 1 จึงถูกนิยามให้เป็น "โลว์ เบต้า"

การเลือกหุ้นในกลุ่มนี้มีเกณฑ์หลักๆ ที่ผู้จัดการกองทุนนำมาพิจารณา คืออัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (อาร์โออี)/อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ดี/อี)/ประเภทธุรกิจ/ความสม่ำเสมอในการจ่ายปันผล

ถามว่าทำไมถึงต้องพิจารณาประเภทธุรกิจด้วย อำพล อธิบายว่า ปัจจัยหลักๆ ก็เพื่อให้เห็นภาพชัดว่าค่าสถิติที่ผ่านมาอย่างในบริษัทที่อยู่ในธุรกิจประเภทโรงไฟฟ้า ถ้าพิจารณาเฉพาะในส่วนของดี/อีจะเห็นว่ามีหนี้อยู่สูงมาก แต่หากเรารู้ถึงธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้เราจะชั่งน้ำหนักได้ว่าในส่วนของสัดส่วนหนี้ที่สูงนั้นมาจากการลงทุน แต่โดยปกติธุรกิจนี้จะมีรายได้ที่มั่นคง มีสัญญาซื้อขายในระยะยาวมีการการันตีรายได้ และมักมีคู่แข่งน้อยราย(ส่วนหนึ่งเพราะเงินลงทุนที่สูงนั่นเอง)

ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนจะนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาเพื่อหาบริษัทที่แม้จะถูกนิยามว่าโลว์ เบต้า แต่ก็มีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตอย่างยั่งยืนได้

ผู้ที่ต้องการหาโอกาสรับผลตอบแทนจากหุ้น แต่ยังทนรับการขาดทุนหนักๆไม่ได้ หรือผู้ที่กังวลว่าจะมีความผันผวนมากๆ ในตลาดหุ้น ก็อาจสับเปลี่ยนมาลงทุนกองทุนประเภทนี้ได้เช่นกัน