posttoday

การวางแผนเกษียณสำหรับบุคคลธรรมดา

31 ตุลาคม 2561

การวางแผนเกษียณ เพื่อให้มีเงินพอใช้โดยที่ชีวิตไม่ผิดปกติไปจากช่วงที่ทำงาน

 

เรื่อง วารุณี อินวันนา

การวางแผนเกษียณ เพื่อให้มีเงินพอใช้โดยที่ชีวิตไม่ผิดปกติไปจากช่วงที่ทำงานยังเป็นเรื่องที่คนไทยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ในขณะที่มาตรการของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นการสร้างความตระหนักรู้เพื่อสร้างการตื่นตัว แต่จับต้องได้ยากและไม่ครอบคลุมวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของคน ที่มีเกิด ใช้ชีวิต แก่ เจ็บ พิการและตาย

เรื่องที่มีการพูดถึงกันมากและจับต้องได้ คือ การส่งเสริมด้านการหาเงินด้วยการลงทุนเพียงด้านเดียวแต่ยังขาดเรื่องการปกป้องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในวงจรชีวิต

ต้องวางยุทธศาสตร์

สมโพชน์ เกียรติไกลวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุ หรือยุคที่คนไทยจะมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 14 ล้านคน ในปี 2565 โดยผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากหลายค่ายมองว่า ในผู้สูงอายุ 10 คน จะมีคนที่มีเงินออมดูแลตัวเองได้ประมาณ 4 คนจากคนที่รวยอยู่แล้ว ข้าราชการบำนาญ และคนที่เตรียมตัวมาดี อีก 6 คนเงินออมไม่พอ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ข้อมูลสังคมได้ตื่นตัว และรัฐบาล นอกจากจะนึกถึงปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว จะต้องนึกถึงเรื่องการวางแผนเกษียณของคนในอนาคตว่าเป็นเรื่องจำเป็น

หากประเทศไทยมีการเตรียมตัวรับมือกับชีวิตหลังอายุ 60 ปี ช้าเท่าไหร่ สิ่งที่ตามมาคือ ความเสี่ยงของภาครัฐและความเสี่ยงของคนไทยเอง ที่ต้องมีคนสูงวัย 7-8 ล้านคน ที่จะอยู่กับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะเมื่ออายุ 60 ปี เกษียณการทำงานแล้ว เป็นวัยที่อยู่ในจุดที่ต้องใช้แต่เงิน โอกาสที่จะทำงานหาเงินหารายได้มีน้อยมาก แต่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นทุกวัน ปัญหาสุขภาพเสื่อมถอยเกิดการเจ็บป่วยบ่อย

ขณะที่ไม่สามารถพึ่งพาครอบครัวได้เหมือนสมัยก่อน เพราะทุกวันนี้สังคมไทยกลายเป็นครอบครัวเล็กประกอบกับยังติดกับดักรายได้ปานกลางทำให้ไม่มีรายได้มากพอในการเลี้ยงดูผู้สูงวัยในบ้านได้อย่างทั่วถึง

เป็นปัญหาที่เหมือนเป็นห่วงโซ่ที่จะผูกพันไปถึงรัฐบาลในอนาคต ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจะต้องเริ่มคิดอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะช่วยคนที่จะเกษียณอายุการทำงานในปัจจุบัน และจะเกษียณอายุในอนาคตอย่างไร ให้อยู่รอดได้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก และจะเพิ่มจำนวนประชาชนที่สามารถดูแลตัวเองหลังเกษียณได้อย่างไร

ประกันจำเป็น

สมโพชน์ กล่าวว่า ประกันชีวิตประกันภัย เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การวางแผนเกษียณสำหรับบุคคลธรรมดาถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะครอบคลุมถึงเรื่องการออมเงิน การเกิด การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ พิการ และการเสียชีวิต

จำเป็นต้องกันเงินก้อนหนึ่งออกมาก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อนำไปสร้างเงินออมหลังเกษียณและบริหารความเสี่ยงในชีวิต หากไม่สามารถวางแผนเป็นรายปี ก็สามารถวางแผนเป็นรายเดือน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของตัวเอง และไม่เป็นภาระของครอบครัวและยังสามารถใช้ชีวิตได้ท่ามกลางความเย้ายวนของความอยากต่างๆ ไม่ว่าจะอยากเที่ยว อยากกิน หรือ ใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อสนองความต้องการส่วนตัว

ขณะที่การลงทุนก็ควรวางแผนให้เหมาะสม ซึ่งการวางแผนเกษียณระยะยาว ควรจะแยกออกมาจากความเสี่ยงอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เงินก้อนนั้นจะปลอดภัย ไม่เสียหาย

ในส่วนของบริษัทฯ เห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนเกษียณและรณรงค์เรื่องนี้มาร่วม 10 ปี เพราะบริษัทแม่มีประสบการณ์จากสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น จึงเข้าใจว่าการที่จะทำให้การเก็บเงินให้ไปถึงเป้าหมายจะต้องทำให้ครบรอบด้าน

ยกตัวอย่าง แบบสมาร์ท แพลนนิ่ง 800 ที่จ่ายถึงอายุ 60 คุ้มครองถึงอายุ 90 หลังอายุ 60 ปีจะได้เงินคืนทุกปีจนถึงอายุ 90

กรณีผู้ชายอายุ 35 ปีที่เป็นวัยการมีครอบครัวเล็กๆ จะใช้เงินเดือนละ 5,300 บาท/เดือน จะสามารถบริหารความเสี่ยงในชีวิตได้ถึง 6 เรื่อง เป็นทั้งการออมเงิน การประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ และคุ้มครองทุพพลภาพ

ทั้งนี้ เงิน 5,300 บาท จะถูกนำไปซื้อประกันชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาหลัก 4,060 บาท ได้รับความคุ้มครอง 4 แสนบาท ซื้อความคุ้มครองชีวิตแบบชั่วระยะเวลา 274 บาท โดยเงินก้อนนี้จะไม่ได้คืน จึงทำให้ได้ความคุ้มครองสูงถึง 4 แสนบาท ซื้อประกันสุขภาพ 507 บาท โดยจะได้ค่าห้องวันละ 3,000 บาท และความคุ้มครองอื่นๆตามเงื่อนไข ซื้อความคุ้มครองโรคร้ายแรง 161 บาท ได้รับความคุ้มครอง 4 แสนบาท ซื้อประกันอุบัติเหตุ 254 บาท จะได้รับความคุ้มครอง 4 แสนบาท และซื้อความคุ้มครองจากการเป็นคนพิการถาวร แต่ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตจนครบสัญญา 44 บาท จะได้รับความคุ้มครอง 4 แสนบาท

กรณีเสียชีวิตในปีแรกจากอุบัติเหตุจะได้รับค่าสินไหมทดแทน 1.6 ล้านบาท ถ้าเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงจะได้รับ 1.2 ล้านบาท แต่หลังจากปีที่ 3 ขึ้นไป ถ้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะได้รับเงิน 2 ล้านบาท เพราะความคุ้มครองชีวิตจะเพิ่มอีก 4 แสนบาท ถ้าเสียชีวิตจากโรคร้ายแรง จะได้รับเงิน 1.6 ล้านบาท โดยโรคร้ายแรงระยะเริ่มต้นจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ทันที หรือถ้าเข้าไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลก็จะได้รับความคุ้มครองตามแผนค่าห้อง 3,000 บาทและความคุ้มครองอื่นๆ ตามเงื่อนไข

นับจากครบอายุ 60 ปี จะได้เงินคืนปีละ6 หมื่นบาท เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท จนถึงอายุ 90 ปี ซึ่งครบอายุ 90 นี้จะได้เงินคืนอีกประมาณ 1.4 ล้านบาท

“ด้วยเงิน 5,300 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครองครอบคลุมความเสี่ยงที่เราจะต้องเจอในชีวิตจริงๆ และได้ออมเงินด้วย หากใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด การมีรายได้เดือนละ 5,000 บาทถือว่าอยู่ได้ เพราะอาหารบางอย่างปลูกเอง ทำเองได้ ซึ่งมีเพียงบริษัทประกันชีวิตเท่านั้นที่สามารถทำผลิตภัณฑ์แบบนี้ได้และมีแต่บริษัทที่มีความพร้อมเท่านั้นถึงกล้าออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งตอนนี้กำลังขายดีมากและสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตได้ 1 แสนบาท และเบี้ยประกันสุขภาพอีก 1.5 หมื่นบาท” สมโพชน์ กล่าว

สมโพชน์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องหารูปแบบให้ประชาชนบุคคลธรรมดา ระดับชาวบ้านหรือมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ระดับปานกลาง สามารถมีเงินออมใช้หลังเกษียณและดำเนินชีวิตได้โดยไม่ผิดปกติมากเกินไป

ทั้งนี้ จะต้องทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญว่า ถ้าไม่เตรียมตัวเรื่องการวางแผนเกษียณอายุในอนาคต ชีวิตจะได้รับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีใครเลี่ยงเรื่องการแก่ เจ็บป่วย และตายได้

ประโยชน์ร่วม

เมื่อวางแผนเกษียณที่ดีแล้ว จะทำให้ประเทศไทยไม่เป็นภาระในการต้องจัดสรรงบประมาณมาดูแลผู้สูงวัยมาก ในขณะที่ครอบครัวจะได้รับความมั่นคง ไม่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจครัวเรือนเพราะทุกวันนี้หาเงินก็ยากอยู่แล้วหากไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้ เมื่อเจ็บป่วยต้องหาเงินมารักษาตัวเองอีก หากครอบครัวต้องมาสูญเสียกำลังหลักไป ไม่มีใครมารับผิดชอบ

การทำประกันที่ครอบคลุมทุกด้านทำให้มีบริษัทประกันชีวิตเข้ามาคุ้มครองความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งสังคมจะปลอดภัย เพราะถ้าคนมีอยู่มีกิน จะลดปัญหาการโจรกรรมการปล้นจี้ ลดการหลอกลวงคนแก่ปัญหาสังคมจะน้อยในมุมของรัฐบาล ถ้ามองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชน ไม่ลงมาให้ความสำคัญหรือรับผิดชอบอย่างจริงจังในการทำให้ประชาชนมีการออม การบริหารความเสี่ยงในชีวิต เมื่อประชาชนมุ่งไปใช้สิทธิการรักษาถ้วนหน้า สุดท้ายรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณในการเข้าไปสนับสนุน เข้าทำนองขว้างงูไม่พ้นคอ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบนี้ได้ ไม่ว่าจะรักษาหายหรือไม่หาย

ขณะที่โรงพยาบาลก็สามารถให้บริการผู้ป่วยที่มีกำลังจ่าย ผ่านการทำประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุมีรายได้เพิ่มขึ้น และเติบโตต่อไปได้

รัฐต้องสนับสนุน

สมโพชน์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งพัฒนากองทุนที่มีความจำเป็นให้สอดคล้องกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น หลักประกันด้านการเงินยามชราภาพหลักประกันสุขภาพ ระบบการดูแลผู้สูงอายุช่วงพึ่งพา โดยพิจารณาความซ้ำซ้อน ความครอบคลุม และความเพียงพอในระยะยาว นอกเหนือจากการแก้ปัญหาระยะสั้นที่มีการอุดหนุนเงินแก่ผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะเพิ่มลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันสุขภาพของผู้ที่อายุตั้งแต่วัย 60 ปีนี้ขึ้น เพราะเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามวัย ยกตัวอย่างผู้ชายวัย 61 ปี ซื้อประกันสุขภาพโตเกียว เฮลธ์ แคร์ แพ็คเกจ วงเงินค่ารักษาพยาบาล 1 ล้านบาท อยู่ที่ 40,081 บาท เนื่องจากอายุมากความเสี่ยงเรื่องสุขภาพสูง จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยสูง การให้สิทธิลดหย่อน 15,000 บาทต่อปี จึงไม่สมเหตุสมผล

รวมถึงรัฐบาลควรจะออกพันธบัตรระยะยาว 50 ปี หรือ 100 ปีที่มีผลตอบแทนแน่นอน หรือสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์การออมระยะยาว สำหรับบริษัทประกันขีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีการดูแลประชาชนไปจนถึงอายุ 90 ปี ซึ่งการลงทุนในเรื่องนี้ของรัฐบาลจะเป็นการคืนกลับมาให้กับประชาชนผู้สูงอายุในอนาคต และทำให้ประเทศลดภาระในอนาคตด้วย

"ทุกวันนี้บริษัทประกันชีวิต ไม่อยากขายประกันที่มีลักษณะจ่ายเงินแบบบำนาญ เพราะไม่รู้จะไปลงทุนอะไรให้ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน แต่เงินบำนาญที่จ่ายให้ลูกค้าเป็นจำนวนแน่นอน และยังต้องมีการตั้งสำรองเงินกองทุนสูงด้วย ก็มุ่งไปขายประกันชีวิตควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ ที่ให้ลูกค้ารับความเสี่ยงเอง ซึ่งการออมเพื่อการเกษียณควรจะมีความแน่นอนเพื่อให้มั่นใจว่าเงินก้อนนี้ปลอดภัยส่วนการลงทุนก็ควรเป็นอีกก้อนหนึ่ง" สมโพชน์ กล่าว

ทั้งนี้ สมโพชน์ สรุปว่า การบริหารความเสี่ยงในสังคมผู้สูงอายุ การบริหารความเสี่ยงชีวิตหลังเกษียณ และการบริหารความเสี่ยงขณะยังมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่ได้