posttoday

“กองทุนรวม” ทางเลือกลงทุนที่ใช่ของวัยเกษียณ

31 ตุลาคม 2561

คนเกษียณจะสามารถลงทุนได้หรือไม่

 

เรื่อง ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

มีคำถามว่าคนเกษียณจะสามารถลงทุนได้หรือไม่ ควรหรือไม่ควรที่จะนำเงินก้อนจากเงินบำนาญหรือรายได้ของเรา นำไปลงทุนต่อยอด

หลักการบริหารเงิน แบ่งเงินก้อนที่จะใช้ในวัยเกษียณเป็น 3 ส่วน อาจแบ่งตามสัดส่วนหรือแบ่งเป็นจำนวนที่เท่ากันก็ได้

1. เงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
2. เงินสำหรับกรณีฉุกเฉิน
3. เงินสำหรับการลงทุน

เบื้องต้นก่อนที่จะลงทุนควรจะมีการประเมินตัวเองว่าชีวิตหลังเกษียณจะใช้เงินเท่าไร

เช่น ใช้จ่ายค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง เดือนละ 1.5 หมื่นบาท หากใช้จ่ายสัก 25 ปีหลังเกษียณ เท่ากับว่าควรกันเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายอย่างน้อย 4.5 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้แนะนำเก็บในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ อย่างกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ ที่สามารถจะเบิกถอนออกมาได้เร็ว

แล้วถ้ามีเงินก้อนเหลือจากการกันเป็นเงินใช้จ่าย เงินส่วนนี้จะลองแบ่งมาลงทุน เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

การนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ประเภทกองทุนตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้ ซื้อพันธบัตร ซื้อประกันชีวิตแบบจ่ายเงินปันผล ฯลฯ เพราะการลงทุนเหล่านี้ มีความเสี่ยงต่ำ และได้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ แต่ก็ต้องคำนึงว่าผลตอบแทนควรที่จะชนะเงินเฟ้อ

ไม่มีคำว่า “สายเกินไป” ที่จะเริ่มต้น ถ้าวัยเกษียณคิดจะลงทุน “กองทุนรวม” ก็เป็นทางเลือกที่ดี

กองทุนรวมถือเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับคนวัยเกษียณ ความเสี่ยงถือว่ามีน้อย และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร

นอกจากนี้ กองทุนรวมก็มีหลากหลาย รูปแบบการลงทุนผสมผลิตภัณฑ์การเงิน หุ้นกู้พันธบัตร น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ขอแนะนำกองทุนที่จ่ายเงินปันผล เพราะอย่างน้อยวัยเกษียณมีความจำเป็นต้องได้เงินปันผลมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางกองทุนก็จ่ายปันผลทุก 3 เดือน นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันบริษัทจัดการกองทุนหลายแห่งมีการแข่งขันออกแบบกองทุนรวมสำหรับวัยเกษียณมาโดยเฉพาะและกองทุนล่าสุดที่น่าสนใจมาก คือ กองทุน TFFIF หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ของกระทรวงการคลัง ผลตอบแทนจากเงินปันผลคาดว่าอยู่ที่ 4.75-5.3% ต่อปี

แม้เปรียบเทียบกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่มีในตลาดที่ให้ผลตอบแทน 6.5 ถึง 9.8% ต่อปี ผลตอบแทนการลงทุนของกองทุน TFFIF อาจจะรั้งท้าย แต่เมื่อเทียบกับพันธบัตรออมทรัพย์หรือสลากของธนาคารรัฐ ผลตอบแทนของกองทุนนี้ก็ดีกว่าและเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาวที่เหมาะกับผู้รับความเสี่ยงได้ต่ำ และยังมีมุมมองของผู้จัดการกองทุนที่เห็นว่ากองทุนนี้เด่นสุดในกลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและดีกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีซึ่งมีโอกาสลุ้นได้รับทั้งปันผลและกำไรจากส่วนต่างราคา

ก่อนจะลงทุนอะไรต้องศึกษาความรู้ ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเว็บไซต์ www.5ขั้นมั่นใจลงทุน.com รวบรวมบริษัทด้านการลงทุนทุกแขนงมาให้ประชาชน ปรึกษา หาความรู้ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมกว่า 30 ผู้ให้บริการทางการเงินที่ผ่านมาตรฐานของ ก.ล.ต. ตอบโจทย์การเงินระยะยาว เช่น ลงทุนเพื่อการเกษียณ

ดังนั้นควรต้องศึกษาทำความเข้าใจวิธีลงทุน รูปแบบผลตอบแทน และความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุนจากการลงทุนให้ดีก่อน