posttoday

จินดามณี (5)

06 สิงหาคม 2562

หนังสือเล่มนี้ คือกุญแจไขความลับและความพิศวงในหนังสือจินดามณีฉบับโหราธิบดีได้อย่างกระจ่างแทบทุกประเด็น

หนังสือเล่มนี้ คือกุญแจไขความลับและความพิศวงในหนังสือจินดามณีฉบับโหราธิบดีได้อย่างกระจ่างแทบทุกประเด็น

*************************************

  • น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

หนังสือจินดามณีเท่าที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อมา เล่มที่คนทั่วไปควรหามาอ่าน คือ เล่มที่อาจารย์ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ทำการตรวจสอบ วิเคราะห์ ทำคำอธิบายและถอดความไว้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2498 สำนักพิมพ์ศรีปัญญานำมาพิมพ์จำหน่ายอีกครั้งเมื่อพฤษภาคม พ.ศ. 2561 นี้เอง

โดยที่ เป็นฉบับพิมพ์เดือนพฤษภาคม 2561 จึงยังไม่มีจำหน่ายในช่วงสัปดาห์แห่งชาติเมื่อเดือนเมษายน 2561 การพิมพ์ครั้งนี้ระบุว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2505

หนังสือเล่มนี้ คือกุญแจไขความลับและความพิศวงในหนังสือจินดามณีฉบับโหราธิบดีได้อย่างกระจ่างแทบทุกประเด็น อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเข้าใจความเป็นมาของหนังสือจินดามณีที่มีการรวบรวม เรียบเรียง แต่งเติม และพิมพ์เผยแพร่ต่อมาในชั้นหลัง รวมทั้งเข้าถึง “ความลับ” ต่างๆ ของโคลงที่เขียน “เข้ารหัส” เอาไว้จำนวนมากได้เป็นส่วนใหญ่ น่าแปลกใจที่คำอธิบายหนังสือจินดามณีฉบับของกรมศิลปากรที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2561 ไม่ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้เลย

เมื่อครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรทำ “บันทึกเรื่องหนังสือ จินดามณี” ออกมาครั้งแรก ลงวันที่ 9 เมษายน 2485 หนังสือของอาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ยังไม่ออกมา จึงเป็นธรรมดาที่นายธนิต จะกล่าวถึงหนังสือของอาจารย์ฉันทิชย์ ไม่ได้ แต่ครั้งนี้เวลาล่วงมาถึง 66 ปี หลังอาจารย์ฉันทิชย์ ทำ “ประวัติจินดามณี” ออกมา และถ้าหนังสือของอาจารย์ฉันทิชย์พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2505 ตามที่ระบุไว้ในการพิมพ์ครั้งนี้ เวลาก็ผ่านมาถึง 56 ปีแล้ว

หรือเป็นเพราะว่า อาจารย์ฉันทิชย์ มิใช่ “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” เพราะตามประวัติท่าน “จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดหัวหิน และศึกษากับบิดาที่บ้านจนจบชั้นประโยคครูมูลศึกษา” เท่านั้น “ท่านเคยเป็นครูที่โรงเรียนวัดหัวหิน รับราชการกรมตำรวจ เป็นครูดุริยางคศาสตร์ที่กรมศิลปากร เสมียนที่กองอนุกาชาดสยาม และหัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ที่องค์การเชื้อเพลิง หลังเกษียณอายุราชการท่านได้ทำงานแห่งละครึ่งวันที่โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี กับที่ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ชำนาญพิเศษ”

แต่ “ท่านศึกษาประวัติศาสตร์ วรรณคดี กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ จากบิดาจนความรู้แตกฉาน เพราะบิดาเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาดังกล่าว” และ“ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) และ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีหลายเล่ม ท่านมีผลงานการค้นคว้าเรียบเรียงอธิบายหนังสือวรรณคดีโบราณหลายเล่ม เช่น ยวนพ่ายโคลงดั้น ทวาทศมาสโคลงดั้น กำสรวลศรีปราชญ์ พระลอลิลิต

และคำอธิบายหนังสือจินดามณีของท่าน นับเป็น “ลายแทงขุมทรัพย์” ที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน ที่จะเข้าใจและเห็นคุณค่าของสมบัติโบราณของชาติอย่างหนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี

ใน “ประวัติจินดามณี” อาจารย์ฉันทิชย์ จั่วหัวรองว่า “ตำราเรียนหนังสือไทยเล่มแรกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ได้มีการวิเคราะห์และวินิจฉัยความเป็นมาของหนังสือไว้อย่างลุ่มลึกและเฉียบคมที่สุดกว่าคำอธิบายใดๆ เท่าที่เคยอ่านมา ทำให้เข้าใจได้กระจ่างว่า เหตุใดจินดามณีจึงอ่านยากและเข้าใจยากเช่นนั้น ทั้งนี้อาจารย์ฉันทิชย์ได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง

เรื่องแรก ได้เขียน “ประวัติจินดามณี” เป็นเนื้อหารวม 42 หน้า โดยเริ่มจากการกล่าวถึงประวัติอักษรไทย มีข้อสรุปที่น่าสนใจหลายเรื่องที่สำคัญ เช่นข้อสรุปว่า “อักษรไทยน่าจะมีมาก่อนรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เฉพาะศิลาจารึกอักษรไทยหลักที่ 1 ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานบัดนี้ น่าจะเป็นเพียงแบบอักษร และพยัญชนะที่พ่อขุนรามคำแหงคิดขึ้นใหม่ให้มีวิธีเขียนสระกับพยัญชนะอยู่ในบรรทัดเดียวกันเท่านั้น... หาได้หมายไปถึงว่า อักษรไทยเพิ่งมีเมื่อรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้นไม่

พยานหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนมั่นคงก็คือ ในพงศาวดารโยนกได้กล่าวไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงพร้อมด้วยพระยางำเมือง เสด็จลงมาศึกษาวิทยาการที่กรุงลพบุรี พระภิกษุสามเณรเมืองสุโขทัยและลานนา ก็ลงมาศึกษาปริยัติธรรมที่กรุงอโยธยา จนเป็นพระเถระผู้ใหญ่ปรากฏเกียรติคุณมากหลายองค์ เช่น พระอโนมทัสสี พระอาจารย์ของพระมหาธรรมราชาลิไท เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้แสดงให้รู้ว่า ชนชาติไทยมีหนังสือใช้มาก่อนแล้ว แต่อักษรไทยที่มีอยู่ก่อนนั้น เป็นอักษรแบบที่มีสระอยู่ข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง หาใช่ว่าเป็นเพราะนิยมขอม พอสิ้นบุญพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็กลับไปเขียนอักษรแบบที่สระอยู่ข้างบนข้างล่างอย่างขอมอีก เช่น นักปราชญ์บางท่านกล่าวไว้ไม่ ที่แท้เป็นเพราะ ‘ลายสือไทยนี้’ พ่อขุนรามคำแหงคิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์แต่ความนิยมไม่เกิดขึ้นเท่านั้น จึงได้จารึกไว้เพียง 17 บรรทัด แล้วก็ทิ้งไว้ ต่อมาพระมหาธรรมราชาลิไท จึงได้มาจารึกต่อเป็นบรรทัดที่ 18 ไปจนจบทั้ง 4 ด้าน เรื่องคงจะเป็นดังที่สันนิษฐานมานี้”

ข้อสรุปที่น่าสนใจเรื่องที่ 2 คือ ชาวอโยธยาและสุพรรณบุรี “ไม่พยายามฝากรากฐานอารยธรรมไว้ในศิลาจารึก เช่น ชาวสุโขทัยได้ทำไว้ … จดจารกันไว้แต่เพียงในใบลานหรือสมุดข่อย หลักฐานเช่นนี้ไม่ยั่งยืนถาวรอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ขาดสลายหรือปลวกกินปรุ” เมื่อมีการชำระหรือคัดลอกต่อกันมา ก็อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยง่าย “ตรงข้ามกับศิลาจารึก ซึ่งเป็นภาษาไทยบริสุทธิ์” เพราะแก้ไขแต่งเติมไม่ได้

หนังสือจินดามณี เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตาม “ขนบ” ของอยุธยา จึงจดจารลงไว้ใน “ใบลาน หรือสมุดข่อย” ทำให้ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับหนังสือใบลานหรือสมุดข่อยทั้งหลาย เพราะแม้เป็นศิลาจารึกก็ไม่พ้นจาก “พระอนิจจลักษณะ” คือ แตกหัก ลบเลือนไปได้

อาจารย์ฉันทิชย์บอกประวัติจินดามณี โดยปูพื้นประวัติศาสตร์อยุธยา แสดงหลักฐานว่ากรุงศรีอยุธยานั้นเจริญทางอักษรศาสตร์มาแต่ครั้งสมัยพระเจ้าอู่ทอง เพราะ “มีพระราชกำหนดกฎหมายที่ได้ตราขึ้นไว้มากกว่ารัชกาลใดๆ” และ “การศึกษาอักษรสมัยในกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ คือ ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ซึ่งในรัชกาลนี้ความร่มเย็นเป็นสุขของกรุงศรีอยุธยามีถึงขีดสุด เพราะเหตุว่าภายหลังที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกำจัดอริราชศัตรูราบคาบด้วยพระบรมเดชานุภาพแล้ว ประเทศใกล้เคียงได้มาถวายดอกไม้เงินทองเป็นราชบรรณาการบ้านเมืองสมบูรณ์พูนสุข ประชาชนพลเมืองนอนตาหลับ บานประตูปราศจากสลักลิ่มกลอน ล่วงลงมาถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ถ้าจะเอาการตรากฎหมายเป็นเครื่องวัดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว ก็เชื่อได้ว่าในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยาร่มเย็นเป็นสุขมากที่สุด เพราะได้ผลสืบสนองมาจากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระเอกาทศรฐ”

พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ “เป็นผู้มีการศึกษาสูง มีชาติวุฒิสูง เป็นผู้มีความรู้ มีผู้คนนับถือมาก” แม้ก่อนจะขึ้นครองราชย์จะประหารชีวิตผู้มีความรู้ไปมาก แต่ก็ยังมีบรรดาขุนนางอำมาตย์ราชปุโรหิตที่ทรงคุณวุฒิสูงอยู่ไม่น้อย “ตามการสันนิษฐาน พระมหาราชครู พระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เชื่อได้ว่าเป็นพราหมณ์ปุโรหิตาจารย์ในแผ่นดินนี้ จนกระทั่งได้เป็นผู้ถวายอักษรสมเด็จพระนารายณ์ในโอกาสต่อมา และในแผ่นดินนี้เองที่ได้เริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะมีชาวต่างประเทศเข้ามามากประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองคงจะทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาอยู่ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนารายณ์ราชกุมาร ศึกษาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จาก พระอาจารย์คือพระมหาราชครู อันเป็นต้นเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งครองแผ่นดิน โปรดเกล้าฯ ให้พระมหาราชครูแต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ และแต่งตำราเรียน ‘จินดามณี’ ในโอกาสต่อมา”

………