posttoday

กรองสถานการณ์ นำเสนอ จินดามณี (4)

30 กรกฎาคม 2562

จินดามณีฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ในปี2561 เป็นหนังสืออ่านยากทั้งฉบับพระโหราธิบดี และ “ฉบับใหญ่ บริบูรณ์” 

จินดามณีฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ในปี2561 เป็นหนังสืออ่านยากทั้งฉบับพระโหราธิบดี และ “ฉบับใหญ่ บริบูรณ์” 

..........................

โดย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

หนังสือจินดามณี โดยเฉพาะฉบับที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2561 นี้ เป็นหนังสืออ่านยาก ทั้งฉบับพระโหราธิบดี และ “ฉบับใหญ่ บริบูรณ์” ที่นำมาเผยแพร่ครั้งแรก

ประการแรก เป็นหนังสือโบราณ จึงเต็มไปด้วยศัพท์แสงเก่าและยากจำนวนมาก

ประการที่สอง วิธีการเขียน เป็นแบบโบราณ ไม่ชัดเจนว่า จุดมุ่งหมายการเขียนมุ่งเพื่อเป็นตำราใช้สอนเด็กหรือสำหรับผู้มีพื้นฐานความรู้ดีอยู่แล้ว และไม่มีระบบการแบ่งบท แบ่งตอนที่ชัดเจน คำอธิบายมีน้อย โดยเฉพาะที่เป็นร้อยแก้ว คำอธิบายที่มีส่วนใหญ่เป็นกาพย์กลอน ทำให้เข้าใจยาก

ประการที่สาม ทั้งฉบับพระโหราธิบดีและฉบับใหญ่บริบูรณ์ที่กรมศิลปากรนำเสนอครั้งนี้ นำมาจากต้นฉบับที่น่าจะรวบรวมและเรียบเรียงรวมทั้งแต่งเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยไม่มีการศึกษาวิจัยและหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่า มีกระบวนการรวบรวม เรียบเรียง หรือแต่งเติมอย่างไร รวมทั้งนำเสนอแต่ตัวต้นฉบับเป็นหลัก โดยน่าจะมีการเพิ่มเติมหัวข้อและทำเชิงอรรถบางส่วนเท่านั้น จึงทำให้แยกแยะยาก ผลก็คือเข้าใจได้ยาก

ประการที่สี่ เนื้อหาในฉบับพระโหราธิบดีเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู แล้วต่อด้วยการเสนอคำศัพท์ หรือ “อักษรศัพท์” จำนวนมาก ราว 5 หน้าครึ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอคำศัพท์ที่ออกเสียงคล้ายกัน มีส่วนของคำอธิบาย หรือคำแปลเป็นส่วนน้อย ถ้าเทียบกับการเรียนศัพท์และท่องศัพท์ภาษาอังกฤษก็ยากกว่ากันมาก

ประการที่ห้า ตัวอย่างโคลงจำนวนมากเป็นตัวอย่างล้วนๆ ไม่มีคำอธิบายหลัก จำนวนคำ วรรคตอน สัมผัส เอกโท จึงยากที่จะจับหลัก และไม่มีคำอธิบายความหมายเป็นภาษาปัจจุบันของโคลงตัวอย่างแต่ละโคลง ทำให้เข้าใจยาก

ประการที่หก ตัวอย่างบางโคลง มีรหัสตัวเลขแทนอักษร โดยไม่มีคำอธิบายที่มา จึงเข้าใจยาก หรือเข้าใจไม่ได้ ประการที่เจ็ด โคลงตัวอย่างหลายโคลงเขียนเป็นรหัสและไม่มีการถอดรหัสไว้ ทำให้เข้าใจไม่ได้ เช่น ในกลุ่ม “ฤาษีแปลงสาร” บทแรก มีตัวอย่าง ดังนี้

ลิตขิศอิศรเท้ไ ฤนลบา
งงฟถิ่นวท่วข่ารสา มนุ่หน้าหเ
รรมคาทุศรเสนถา งงยะลุงถึยลเ
มอำตยฤศรนจพจ้าเ นนี่เช้าอพี่เดใ

ตัวอย่างลักษณะนี้จะเหมือนสิ่งที่เด็กที่เป็นโรคที่มีความผิดปกติในการอ่านที่เรียกว่า Dyslexia มองเห็น นั่นคือ จะเห็นตัวอักษรเรียงผิดที่ ทำให้ “อ่านหนังสือไม่ออก” โคลงลักษณะนี้จำเป็นที่ต้องให้ผู้รู้ศึกษาแล้วถอดออกมาจึงจะ “อ่านได้” และ “เข้าใจได้”

ประการที่แปด จินดามณี ฉบับใหญ่บริบูรณ์ที่กรมศิลปากรนำมาพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก มีลักษณะเป็นโคลงรหัส เขียนไว้ในภาพ ที่ไม่มีทางที่คนทั่วไปจะอ่านออกหรืออ่านได้ โคลงลักษณะนี้มีอยู่รวม 17 ภาพ เช่น

กรองสถานการณ์  นำเสนอ จินดามณี (4)

ประการที่เก้า จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดีรวบรวมเรียบเรียงใหม่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และใช้วิธีคัดลอกต่อๆ กันมาในสมัยที่อักขรวิธีในภาษาไทยยังคงลักลั่นกันมาก เพิ่งมามีการ “จัดระเบียบ” โดยกระทรวง ธรรมการในการจัดทำ “ปทานุกรม” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2485 แต่ก็ยังไม่เรียบร้อย จนเริ่ม “ลงตัว” เมื่อมีการพิมพ์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ทางราชการใช้อักขรวิธีตามพจนานุกรมฉบับนั้น และฉบับที่มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งต่อๆ มา ฉะนั้นอักขรวิธี หรือสะกดการันต์ในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี จึงยังลักลั่นกันมากตามการคัดลอกแบบผิดๆ ถูกๆ ต่อๆ กันมา การพิมพ์แต่ละครั้งก็จะ “ยึด” ตามต้นฉบับที่ใช้เป็นหลัก และยึดตามอักขรวิธีดั้งเดิม เพื่อให้สามารถศึกษาประวัติของภาษาได้ ไม่มีการ “ชำระ” ให้ “ถูกต้อง” แต่อย่างใด การคัดลอกโดยยึดหลักตาม “เสียงอ่าน” เป็นหลัก บางครั้งจึงเพียงแต่สะกดผิด แต่บางครั้งถึงขั้นทำให้ความหมายผิดไปเลย

การเรียนหนังสือไทยแต่โบราณมักใช้วิธี “ท่องจำ” มากกว่าเรียนจากความเข้าใจ เพราะตำราที่ใช้อย่างจินดามณียากแก่การทำความเข้าใจ จึงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของระบบการศึกษาไทยมาจนทุกวันนี้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงจินดามณี ก็ยังให้รัฐมนตรีไปท่องคนละบท เพราะท่านเองก็ “ท่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว” ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ และประเทศไทย 4.0 ถ้าจะกลับไปหาจินดามณี ยังจะต้องใช้วิธีท่องกันอีกหรือ

จินดามณีฉบับที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ไม่มีฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิทรวมไว้ด้วย แต่ฉบับที่สำนักพิมพ์เพชรกะรัต พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2555 มี ฉบับดังกล่าวเขียนขึ้นครั้งรัชกาลที่ 3 จึงมีศัพท์ยากๆ อยู่มาก เช่นเดียวกัน และเขียนโดย “เลียนแบบ” จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี จึงมีการลำดับเรื่องคล้ายกัน และเขียนเป็นร้อยกรองเป็นหลัก มีคำอธิบายเป็นร้อยแก้วสั้นๆ เช่นเดียวกัน จึงอ่านค่อนข้างยาก เช่นกัน แต่โดยรวมแล้วง่ายกว่ามากเพราะเสมือนเป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขและเรียบเรียงโดยบุคคลคนเดียว ไม่เป็น “ยำใหญ่” เหมือนฉบับพระโหราธิบดี ซึ่งน่าจะคัดลอกจากต้นฉบับที่ได้มาหลายกรรมหลายวาระ โดยคัดลอกมาผิดบ้างถูกบ้างต่อเนื่องกันมา

จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี ที่สำนักพิมพ์เพชรกะรัตพิมพ์จำหน่าย เหมือนฉบับของกรมศิลปากร ความยาว 73 หน้า ฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทความยาวน้อยกว่าเพียง 34 หน้า โดยท่านได้รับพระราชโองการให้แต่งเมื่อ 9 พฤษภาคม 2392 แต่งเสร็จ 16 พฤศจิกายน 2392 รวมเวลา 6 เดือนเศษ ท่านประกาศตัวเป็นศิษย์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส โดยนับจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีเป็นเล่มหนึ่ง ของท่านแต่งเติมเป็นเล่มสอง เนื้อหาเริ่มจากบทไหว้ครูตามแบบฉบับพระโหราธิบดี แต่ไม่มีคำศัพท์ แต่กล่าวถึงอักษรทั้งสระและพยัญชนะอธิบายเรื่องอักขรวิธีเพียง 9 หน้า จากนั้นเป็นร้อยกรอง แสดงตัวอย่างโคลงและร่ายรวมแล้วเพียง 10 แบบ คือ ร่ายสุภาพ โคลงสุภาพ โคลงสอง โคลงสาม โคลงตรีพิธพรรณ โคลงจัตวาทัณที ร่ายดั้น โคลงวิวิธมาลี โคลงบาทกุญชร และร่ายกาพย์ โดยโคลงแบบต่างๆ ได้แสดงสัมผัส และ เอก โท ไว้ เว้นแต่โคลงสอง และโคลงสามไม่ได้แสดง

สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากฉบับของพระโหราธิบดีมี 2 เรื่อง คือ (1) ทรงนิพนธ์บทสรรเสริญพระนคร และความเป็นมาของการแต่งหนังสือนี้ไว้ และ (2) ทรงแต่งโคลงกระทู้แสดงหลักราชการไว้ สรุปคือ “เป็นข้าราชการ อย่าเกียจอย่าคร้าน การงานตรึกตรอง เข้านอกออกใน อย่าให้ลำพอง จักกราบทูลฉลอง อย่าได้มุสา อย่าเห็นกับคน สินบาทคาดบน ไม่พ้นอาญา อย่าประจบประแจง ช่วยแรงวาสนา กิจการภารา จงหมั่นจิตจำ แม้นจะว่าความ ไล่เลียงไต่ถาม ให้งามแม่นยำ อย่าคุมเหงไพร่ หาให้ชอบธรรม เกรงบาปกลัวกรรม ในอนาคตกาล กุศลหาไม่ เงินทองบ่าวไพร่ ถึงได้ไม่นาน คงให้วิบัติ พลัดพรากจากสถาน เวรกรรมบันดาล ฉิบหาย วายชนม์ อย่าฉ้อหลวงให้ขาด อย่าฉ้อราษฎร์ให้ขุ่น” (ปรับแก้อักขรวิธีให้เป็นปัจจุบัน)

หลักราชการในจินดามณีฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทนี้ น่าจะท่องจำและทำให้จริงจังได้มากกว่า ไปท่องโคลงกลอนยากๆ ในฉบับพระโหราธิบดี