posttoday

พินิจการเมือง นำเสนอ เรื่อง "ครบรอบ ๗๐ ปีสามก๊กฉบับนายทุน"

26 กรกฎาคม 2562

ช่วงเวลาไม่นานนัก กล่าวได้ว่า นักการเมืองพลเรือนเป็นฝ่ายครองพื้นที่การเมืองประชาธิปไตยอย่างเต็มที่โดยปราศจากอิทธิพลทหาร

ช่วงเวลาไม่นานนัก กล่าวได้ว่า นักการเมืองพลเรือนเป็นฝ่ายครองพื้นที่การเมืองประชาธิปไตยอย่างเต็มที่โดยปราศจากอิทธิพลทหาร

........................

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นคนเขียนหนังสือฝีมือร้ายกาจ เมื่อจับเรื่องใดขึ้นมาเล่า ท่านจะดำเนินความให้เราอ่านเหมือนได้เดินไปบนทางอันโล่งเตียนเพลิดเพลินกับทัศนียภาพอันควรชม ที่ท่านชี้ชวนให้ดูไม่มีสะดุด แต่การอ่านเรื่องเชิงเสียดสีที่ท่านเขียน เราคนอ่านจำต้องสะดุดหยุดอยู่เป็นระยะเพื่อมองหาความนัยระหว่างบรรทัดที่ซ่อนอยู่ในเรื่องที่ท่านเล่าให้เห็นความยอกย้อนหลายชั้น ที่ท่านผู้เขียนก็คงยิ้มสนุกอยู่ในทียามที่เขียนเนื้อความอันเจ็บแสบเหล่านั้นกระทบผู้ที่ท่านตั้งใจจะว่า

ส่วนเราคนอ่านที่อยู่วงนอกก็ได้แต่อนุมานในชั้นหลังว่า คนที่ตกเป็นเป้าของการเสียดสีนั้นจะเข้าใจการมายักคิ้วหลิ่วตาล้อแบบนี้และวางใจเฉยหรือขัดแค้นขุ่นเคืองเพียงใด

ในกระบวนเรื่องเสียดสีทั้งหมดของท่าน ผมคิดว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เขียนสามก๊กฉบับนายทุนตอนเบ้งเฮ็กเป็นเรื่องแรกสุด ดังคำนำของสำนักพิมพ์รัชดารมภ์ที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาครั้งแรกในกลางปี ๒๔๙๒ บ่งไว้อย่างนั้น สำนักพิมพ์ดอกหญ้าจัดพิมพ์ฉบับปรับปรุงออกมาใหม่ในชื่อว่าเบ้งเฮ็กผู้ถูกกลืนทั้งเป็น ความโดดเด่นของเรื่องนี้อยู่ตรงความนัยระหว่างบรรทัดในการจับเอาการศึกตอนหนึ่งของเรื่องสามก๊กระหว่างเบ้งเฮ็กกับ “ท่านอาจารย์ใหญ่”ขงเบ้งมาเล่าใหม่อย่างแฝงนัยสำคัญทางการเมืองในจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยเมื่อ ๗๐ ปีก่อนหลังจากที่กลุ่มพลังทางการเมืองหลายฝ่ายตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมาผ่านการต่อสู้กันมาอย่างหนัก

เมื่อมาถึงกลางปี ๒๔๙๒ การเมืองไทยได้พลิกเปลี่ยนออกจากระบอบของคณะราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ มาเป็นระบอบของคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ และเปลี่ยนมาใช้รัฐธรรมนูญใหม่ปีพ.ศ. ๒๔๙๒ เรียบร้อยแล้ว คุณชายคึกฤทธิ์เคยกล่าวไว้ในบริบทอื่นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยแท้แล้วเป็น “ผลิตผลทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์” ในขณะที่ปรีดี พนมยงค์แกนนำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนและฝ่ายที่สนับสนุนเขาถูกกวาดล้างออกจากการเมืองไทย บางคนก็ถูกสังหารหลังจากความพยายามจะทำรัฐประหารของปรีดีในกบฏวังหลวงตอนต้นปี ๒๔๙๒ ล้มเหลว และถูกกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลจอมพลป. ปราบปรามได้ราบคาบ

คุณชายคึกฤทธิ์บอกคนอ่านในคำนำว่าเขียนหนังสือเล่มนี้โดย “ไม่ปรารถนาจะเรียกร้องความน่าเชื่อถือหรือยืนยันความแน่นอน” ในเรื่องที่เล่า และคาดว่าคนอ่าน “จะไม่ได้รับสิ่งใดจากหนังสือนี้นอกจากความเพลิดเพลินชั่วครู่ และความรู้จักตัวผู้เขียนเรื่องนี้เองดีขึ้นกว่าเก่าเล็กน้อย” ประการหลังสุดที่ท่านคาดไว้นี้เป็นความจริงที่สุด ใครก็ตามที่ต้องการศึกษาวิธีดำเนินการเมืองของคึกฤทธิ์ ปราโมช ในภาคนักการเมืองไม่ควรพลาดที่จะหาทางไขรหัสจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอาจอ่านผ่านนัยเสียดสีการเมืองไทย นักการเมืองไทย และคนไทย ไปหาความหมายระหว่างบรรทัดได้หลายแบบ

แบบหนึ่งคืออ่านอย่างที่คนจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรกคือนายเงิน หงศ์ลดารมภ์อยากให้เราพิจารณา“รสชาติเผ็ดร้อนแนบเนียน” ของมันในฐานะที่เป็นหนังสือประเภท satiric “อย่างสมบูรณ์” เล่มแรก

อ่านอย่างนี้คืออ่านอย่างที่ถือว่าเบ้งเฮ็กผู้ถูกกลืนทั้งเป็นคืองานต้นแบบของการเขียนประเภทเสียดสีทางการเมือง การอ่านอย่างนี้ก็ต้องเจาะจงลงไปดูกลวิธีการเสียดสีของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม “ท่านอาจารย์ใหญ่ขงเบ้ง” ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในอุปเท่ห์กลศึกทางการเมืองของท่านอาจารย์ใหญ่มานักต่อนัก ครั้นถึงคราวที่ท่านอาจารย์ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างยับเยินบ้าง เขาก็ถือโอกาสนั้นจัดการกับปรปักษ์ผู้พ่ายแพ้ด้วยการเขียนกลับทางตั้งให้ท่านอาจารย์ใหญ่กลายเป็นขงเบ้งผู้ชนะศึก ที่สามารถกลืนพวกเขาได้ทั้งเป็น

การเขียนเสียดสีต้องเขียนให้ออกรสชาติที่เจือความขันไว้ได้ด้วยจึงจะดี จะไปทำให้คนอ่านทั่วไปรู้สึกขมขึ้นมาระหว่างที่อ่านไม่ได้เป็นอันขาด ในระหว่างคนแพ้คนชนะ การเสียดสีคนชนะเท่านั้นที่อ่านแล้วจึงจะเลี่ยงรสขมปร่าได้ คำถามของคนชนะที่ว่า “ท่านเกรงกลัวเราแล้วหรือยัง?” หรือ “ท่านยอมอ่อนน้อมต่อเราหรือยัง?” ที่ขงเบ้งตั้งถามเบ้งเฮ็กผู้พ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ๗ ครั้ง ๗ หน ความจริงคุณชายคึกฤทธิ์ตั้งมาถามย้ำเพื่อย้อนเกล็ดท่านอาจารย์ใหญ่ผู้พ่ายแพ้จากการเมืองไทยแทนเบ้งเฮ็กผู้เป็นหัวหน้าคนไทยฝ่าย “สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่” ว่าสุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่ต้องยอมใคร

ต่อเนื่องจากการอ่านหาความหมายในแบบแรก เราอาจใช้สามก๊กฉบับนายทุนตอนเบ้งเฮ็กนี้เป็นเบาะแสสำคัญอันหนึ่งสำหรับทำความเข้าใจมูลเหตุความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองในฝ่ายพลเรือนนับตั้งแต่ที่นายควง อภัยวงศ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลป. พิบูลสงครามที่ต้องออกจากอำนาจการเมืองไปในคราวแรก

การจัดการทางการเมืองของฝ่ายคณะราษฎรที่พลิกจากจอมพลป. มาอยู่ในมือของปรีดีจนถึง ๒๔๙๐ เป็นช่วงระยะเวลาไม่นานนักที่กล่าวได้ว่านักการเมืองพลเรือนเป็นฝ่ายครองพื้นที่การเมืองประชาธิปไตยอย่างเต็มที่โดยปราศจากอิทธิพลทหาร แต่ความขัดแย้งและการหักล้างฝ่ายตรงข้ามระหว่างพวกเขาด้วยกันกลับดำเนินไปอย่างแหลมคมยิ่ง การตีความชั้นหลังเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองพลเรือนในระยะนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างคณะเจ้า/อนุรักษนิยมฝ่ายหนึ่งกับคณะราษฎร/พวกก้าวหน้าประชาธิปไตยในการนำของปรีดีอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่การตีความเช่นนั้นดูจากผลในภายหลังเป็นสำคัญ ไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะตอบคำถามว่าจากจุดตั้งต้นในระหว่างสงครามที่หลายฝ่ายซึ่งอยู่ต่างขั้วการเมืองกันมาก่อน หรือที่จะอยู่ต่างฝ่ายกันในเวลาต่อมา มีความพยายามจะประสานเข้าหากันในขบวนการเสรีไทย แต่ทำไมความร่วมมือนั้นไม่อาจรักษาไว้ได้ภายหลังสงครามและเปลี่ยนมาเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกและต่างฝ่ายตั้งหน้าเข้าห้ำหั่นกันทางการเมืองจนพลิกให้ทหารและจอมพลป. กลับคืนมาครองพื้นที่การเมืองไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง

เบาะแสในสามก๊กฉบับนายทุนตอนเบ้งเฮ็กทำให้เราพอจะหยั่งทราบความในใจคนเขียนหนังสือว่าท่านมองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนทำให้ประชาธิปไตยของไทยไม่อาจตั้งมั่นขึ้นได้ในมือของนักการเมืองพลเรือนด้วยความคิดหรือความเข้าใจแบบไหน

เมื่อพิจารณาจากการเสียดสีแบบแฝงนัยที่ท่านเขียน เรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบมาล้อเลียนเป็นพิเศษคือความสัมพันธ์ระหว่างท่านอาจารย์ใหญ่ขงเบ้ง “มหาอุปราช” กับบรรดาสานุศิษย์แวดล้อมที่คอยสนองคำพูดและความประสงค์ท่านอาจารย์ใหญ่อยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้องกลับไปพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับ “พรรคพวก” ในสภาของท่านในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปราศจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเช่นนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ถนัด ดังเห็นชัดจากกรณีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา แต่ปรีดีสามารถจัดการจนสภาโหวตไม่ไว้วางใจจอมพลป. เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นนายควง อภัยวงศ์ได้สำเร็จ

แต่ก็เช่นเดียวกับขงเบ้ง เงื่อนไขความสำเร็จในการใช้อิทธิพลทางการเมืองดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ฉันศิษย์อาจารย์ระหว่างขงเบ้งกับบริวารเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ขงเบ้งดำรงตำแหน่งทรงอำนาจสูงระดับมหาอุปราชที่มีอำนาจกำหนดและตัดสินผลลัพธ์อยู่ด้วย อิทธิพลของปรีดีในสภาขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการและความสามารถที่อาจใช้อิทธิพลเช่นนั้นส่งผลต่อการอยู่การไปของนายกรัฐมนตรี ทำให้นายกรัฐมนตรีพลเรือนอย่างนายควง อภัยวงศ์ และหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อเจอกับแรงกดดันในสภาก็คิดอย่างที่เบ้งเฮ็กคิดว่านี่อาจเป็นการวางกลอุบายของท่านอาจารย์ใหญ่ขงเบ้งมาทำลายสถานะการนำของตนหรือบีบให้ตนยอมปฏิบัติตามคำสั่ง แต่เมื่อไม่ยอม ก็จะเกิดความรู้สึกเหมือนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ว่า “ขณะเจรจาความเมืองกับฝรั่งนั้นถูกฝรั่งหักหน้า และถูกลูกสมุนท่านท่าช้างหักหลัง”

ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาในลักษณะที่รัชกาลที่ ๗ มีพระราชประสงค์ กลับเป็นปรีดีในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการที่เป็นผู้มาแสดงให้เห็นผลรูปธรรมว่า ถ้าหากผู้ทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์มีสมาชิกสภาเป็นพวกแล้ว จะสร้างความแตกต่างในผลลัพธ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อการทำงานของฝ่ายบริหารได้ในลักษณะใด เหตุนี้เอง เมื่อรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ เปิดทางฝ่ายคณะเจ้าให้รวมตัวกันทางการเมืองและจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นได้ พวกเขาก็ต้องการจะได้ฐานสนับสนุนอำนาจที่แน่นอนในลักษณะที่ปรีดีแสดงเป็นตัวอย่างให้เห็นเช่นนั้นบ้าง แต่ความต้องการนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งเท่านั้น และโดยไม่มีใครคาดฝัน โอกาสนั้นก็มาถึงฉับพลัน

แต่ถ้ามองผ่านความขัดแย้งระหว่างคนเขียนหนังสือกับปรปักษ์คนสำคัญของเขาไปก่อน แล้วอ่านสามก๊กฉบับนายทุนตอนเบ้งเฮ็กอย่างหนังสือให้คำแนะนำกลเม็ดทางการเมืองแบบที่มาคิอาเวลลีเขียนเพื่อมอบให้เจ้าในตระกูลเมดิชี เราก็อาจสกัดคำแนะนำทางการเมืองออกมาได้หลายประการ โดยต้องถือว่าคำแนะนำเหล่านั้นไม่ได้คัดลอกเอามาจากคัมภีร์เล่มไหนของใครทั้งสิ้น แต่กลั่นจากประสบการณ์และการสังเกตการณ์การเมืองไทยของคุณชายคึกฤทธิ์เอง แต่เรื่องนี้ต้องเขียนเป็นต่างหากออกไป

เรื่องเสียดสีทางการเมืองควรอ่านแล้วขัน แต่ผมขอลงท้ายด้วยประโยคจากเรื่องเบ้งเฮ็กของคุณชายคึกฤทธิ์ที่ทำให้ผมรู้สึกกลัว คุณชายคึกฤทธิ์เขียนว่า “ถ้าเป็นกลอุบายของคนอื่นแล้วเป็นไม่มีแพ้ ถ้าท่านอาจารย์จะแพ้ก็คงแพ้กลอุบายของตนเอง เพราะลักษณะของท่านอาจารย์ขงเบ้งนั้น อุปมาเสมือนหนึ่งคนนั่งขวั้นเชือกไว้แขวนคอตัวเองไม่มีผิด”.