posttoday

ส่องสถานการณ์วันนี้ ขอนำเสนอ "จินดามณี (3)"

23 กรกฎาคม 2562

.....................

.....................

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

ต่อจากบทนมัสการและคำศัพท์ เป็นตัวอย่างคำที่ใช้ ส ศ ษ จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี ประมวลคำที่ ใช้ ไม้ม้วน 20 คำ และไม้มลาย 80 คำ ไว้ ตรงนี้เองที่คนรุ่นผู้เขียนเริ่มคุ้น เพราะมีกาพย์ 2 บท ที่ประมวลคำที่ใช้ไม้ม้วน 20 คำไว้ และมีการท่องจำกันจนขึ้นใจ ที่ตำรารุ่นหลังให้ท่องกันก็คือ

ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีและใหม่ใส
ใครใคร่และยองใย คำใดใช้อย่าใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบและใช่จง ใช้ให้คงคำบังคับ

แต่ใน จินดามณีฉบับของพระโหราธิบดี ที่กรมศิลปากร นำมาพิมพ์ครั้งนี้ คือ

ใฝ่ใจแลให้ทาน ทังนอกใน และใหม่ใส
ใครใคร่แลยองใย อันใดใช้แลใหลหลง
ใส่กลสใพ้ใบ้ ทังใต้เหนือแลใหญ่ยง
ใกล้ใบแลใช่จง ญี่สิบม้วนคือวาจา

ในจินดามณีฉบับใหญ่ ก็ข้อความเกือบเหมือนกัน เพียงแต่คัดลอกคำ “ใบ้” ผิดไปเป็น “ใบ่”ส่วนไม้มลาย ระบุเพิ่มจาก 80 คำ เป็น 96 คำ

จากนั้นเป็นการจำแนกอักษรเป็น 3 หมู่ จำนวน 44 ตัว เท่ากับที่มีในปัจจุบัน โดยแยกเป็นกลุ่มที่ออกเสียงสูง 11 ตัว ออกเสียงกลาง 33 ตัว เหมือนในปัจจุบัน ก่อนจะมีการแจกลูก เสียงกลาง 33 ตัว เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มอักษรกลาง 9 ตัว คือ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ อยู่ในกลุ่ม “ตัวเบามิก้อง” ที่เหลือ 24 ตัว ปัจจุบัน คือ อักษรต่ำนั่นเอง

น่าสังเกตว่า ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ ลา ลูแบร์ ทำแม่พิมพ์ไว้ในหนังสือจดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ( A New Historical Relation of the King of Siam) มีอักษรเพียง 37 ตัว ขาดไป 7 ตัว คือ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ และ ฮ

ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของการผันอักษร และบทที่กล่าวถึงเครื่องหมาย 8 เครื่องหมาย คือ วิสัญชนี ไม้เอก ไม้โท ทัณฑฆาฏ หรือ การันต์ ไม้ไต่คู้ ฝนทอง ฟองมัน และนิคหิต แต่โคลงก่อนหน้านั้นกล่าวถึงเครื่องหมายอีก 2 เครื่องหมาย คือ ไม้ตรี และไม้จัตวา ด้วย น่าเชื่อว่า จะเป็นการแต่งเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง คล้ายกับฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

รวมเนื้อหาส่วนที่ว่าด้วยตำราสอนภาษาไทย 22 หน้า ต่อจากนั้นเป็น “อธิบายวิธีแต่ง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์” เริ่มจาก “สุภาพโคลง” ที่คนรุ่นหลังรู้จักกันดีในนาม “โคลงสี่สุภาพ” และโคลงที่คุ้นเคยกันดีคือโคลงจากลิลิตพระลอที่มีการนำมาเป็นโคลงแบบแผน เพราะมีสัมผัส และ เอกเจ็ด โทสี่ ตรงตามตำแหน่งที่กำหนดไว้พอดี คือ โคลงบทที่ว่า

เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับไหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ

โคลงบทนี้มักใช้เป็นหลักฐานว่า จินดามณีแต่งขึ้นหลังลิลิตพระลอ จึงมีการนำโคลงลิลิตพระลอมาเป็นตัวอย่าง ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะจินดามณีที่ตกทอดมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น คัดลอกต่อๆ กันมาจากต้นฉบับที่ไม่สมบูรณ์ และคัดถูกบ้างผิดบ้าง แต่งเติมเพิ่มเข้าไปบ้าง นำเรื่องจากเรื่องอื่นมารวมเข้าไปบ้าง ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

โคลงบทนี้ อยู่ตอนต้นๆ เรื่องของลิลิตพระลอ เมื่อมีคนขับซอยอโฉมพระลอขจรขจายไปถึงพระเพื่อน พระแพงจนหลงใหลอยากพบถึงขั้นเป็น “ไข้ใจ” เมื่อนางรื่นนางโรยพี่เลี้ยงขึ้นไปเยี่ยมเห็นพระเพื่อนพระแพงเศร้าหมองนัก อยากจะช่วยแต่มิรู้ต้นสายปลายเหตุแห่งความไข้ พระเพื่อนพระแพงจึงกล่าวโคลงบทนี้ย้อนพี่เลี้ยงว่า พี่สองคนไปหลับใหลลืมตื่นอยู่ที่ไหน จึงไม่รู้ถึงกิตติศัพท์ที่เล่าลือกันว่าเขา “ยอยศใคร ทั่วหล้า”

มีข้อสังเกตว่า คำ “หลับใหล” ในที่นี้ใช้ไม้มลาย ทั้งๆ ที่ ควรใช้ไม้ม้วน อย่างเดียวกับคำ “หลงใหล” หรือ “ใหลหลง”

สมัยหนึ่ง เกิด “การตายลึกลับ” (Mystery Death) ของคนงานไทยหลายคนในสิงคโปร์ จนเป็นข่าวครึกโครม ผู้เขียนเป็นผู้อำนวยการกองระบาดวิทยามีหน้าที่ต้องไป “สอบสวน” หาสาเหตุการตาย เวลานั้นมีข่าวว่าคนงานไทยเอาท่อพีวีซีมานึ่งข้าวเหนียวกิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาจึงตั้งข้อสงสัยว่าความร้อนอาจทำให้ท่อพีวีซีปล่อยสารพิษออกมาจึงทำให้ตาย ต่อมามีข่าวว่าคนงานไทยจับหนูท่อมาย่างกิน จึง “ตั้งข้อสงสัย” ว่าอาจเป็นสาเหตุการตาย ส่วนญาติพี่น้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน เชื่อว่าเหตุเกิดจาก “ผีแม่ม่าย” มาเอาตัวไป เพราะตายเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงไม่มีใครตายแบบนี้ โดยจะตายขณะนอนหลับ ไม่ใช่ออกแรงหนักแล้วหัวใจวายตาย วิธีแก้ของคนอีสานคือการทำปลัดขิกอันใหญ่แขวนไว้หน้าบ้านให้ผีแม่ม่ายเอาไปแทน และให้ผู้ชายทาสีเล็บหลอกผีแม่ม่ายว่าเป็นผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย แต่ในที่สุดหลังการสอบสวนพิจารณา และประชุมปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งฝ่ายไทยและสิงคโปร์ก็สรุปว่าเป็น “การตายฉับพลันที่ไม่คาดคิด” (Sudden Unexpected Death Syndrome) เรียกย่อๆ ว่า “ซัดส์” (SUDS) โดยส่วนมากตายในเวลากลางคืน จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การตายฉับพลันในเวลากลางคืนที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้” (Sudden Unexplained Nocturnal Death Syndrome) เรียกย่อๆ ว่า ซันดส์ (SUNDS) คนอีสานเรียกว่า “ใหลตาย” เวลานั้นสื่อเขียนทั้งไม้ม้วน และไม้มลาย ผู้เขียนจึงค้นคว้าว่าที่ถูกต้อง เป็นอักษรตัวไหนกันแน่

ในที่สุด ได้ข้อสรุปว่า ควรเป็นไม้ม้วน เพราะแท้จริงแล้ว ไม้ม้วนกับไม้มลายแต่เดิมออกเสียงต่างกัน ไม้มลายออกเสียง “ไอ” แต่ไม้ม้วนออกเสียง “เออ” โดยแพทย์จากลาวที่มาเรียนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาที่กองระบาดวิทยา บอกว่าทางหลวงพระบางพบโรคนี้เหมือนกัน เรียกว่า “ใหลตาย” แต่ออกเสียงว่า “เหลอตาย”

ในหนังสือ “กาเลหม่านไต” ของ ดร.บรรจบ พันธุเมธา ที่ไปศึกษาวิจัยในคนไทอาหม ที่รัฐอัสสัมของอินเดีย ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า สระไอ ไม้ม้วนนี้ คนไทอาหมออกเสียงเออ ไม่ใช่ไอ ชื่อหนังสือกาเลหม่านไต เป็นภาษาไทอาหม แปลว่า “ไปเยี่ยมบ้านไทย”

ช่วงนั้น กระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่วังเทวะเวสม์ ไม่ไกลจากหอสมุดแห่งชาติ ไปมาสะดวก นั่งรถเมล์ไปสักพักก็ถึง ผู้เขียนได้ไปขอดูหนังสือโบราณเรื่องลิลิตพระลอ เพื่อขอดูโคลงบทนี้ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดนำมาให้ดู 4 ฉบับ ปรากฏว่า คำ “หลับใหล” นี้ เขียนไม้มลาย 3 ฉบับ ไม้ม้วน 1 ฉบับ จึงไม่แปลกที่หนังสือลิลิตพระลอที่ได้ต้นฉบับจากหอสมุดแห่งชาติมาพิมพ์จำหน่ายจะเขียนไม้มลายตามต้นฉบับส่วนมาก ฉบับที่พิมพ์จำหน่ายครั้งแรก โดย “โรงพิมพ์ไท” เมื่อ พ.ศ. 2458 ก็น่าจะสะกดด้วยไม้มลาย แต่ใน “ฉบับใหญ่บริบูรณ์” ที่เพิ่งนำมาเผยแพร่ ก็ใช้ไม้ม้วน (น.174)

จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดีมีตัวอย่างโคลงแบบต่างๆ มากมาย เช่น พระยาลืมงายโคลงลาว, อินทรหลงห้อง โคลงลาว, มณฑกคติ โคลงห้า (ที่จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์โองการแช่งน้ำ แล้วสรุปไว้อย่างเฉียบคมว่า เป็น มณฑกคติ โคลงห้า) ตรีเพชรทัณฑี, จัตวาทัณฑี, โคลงขับไม้, สารถีชักรถ, รัตนมาลาฉันท์, มณีรัตนฉันท, ฤาษีแปลงสาร ฯลฯ รวม 52 ประเภท ในจินดามณี ฉบับใหญ่มีตัวอย่างนับได้ 43 ประเภท

จะเห็นได้ว่า จินดามณีได้รวบรวม “แก้วมณีอันมีค่า” ไว้มากมาย จึงเป็นขุมทรัพย์ที่ผู้รู้สามารถศึกษาได้อย่างลุ่มลึก แต่ยากที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในรุ่นปัจจุบันจะเข้าถึงได้ คำอธิบายที่กรมศิลปากรทำไว้ ทั้งในคำนำ และคำชี้แจง ตลอดจนเชิงอรรถต่างๆ ก็ช่วยได้ไม่มาก