posttoday

ส่องสถานการณ์สัปดาห์นี้ ตามต่อกับเรื่อง "จินดามณี ตอน 2"

16 กรกฎาคม 2562

สำหรับหนังสือจินดามณีถือเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย เชื่อว่าใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายสืบมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สำหรับหนังสือจินดามณีถือเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย เชื่อว่าใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายสืบมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

...................................

โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

จินดามณีเป็นหนังสือเก่าที่อ่านยาก แต่เพราะเป็น “ตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก” และเป็น “เล่มเดียว” ที่ยังหลงเหลือมาจากสมัยอยุธยา รวมทั้งยังใช้สอนกันในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย หนังสือเล่มนี้จึงมีการพิมพ์จำหน่ายมาจนถึงสมัยหลัง

ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อครั้งเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ใหม่ๆ ใน พ.ศ.2505 มีโอกาสไปเดินดูหนังสือที่แผงขายหนังสือข้างสนามหลวง พบหนังสือจินดามณีวางขายอยู่หลายแผง และได้ซื้อไปอ่านเล่มหนึ่ง จำได้ว่า “อ่านไม่รู้เรื่อง” เพราะมีศัพท์ยากๆ สมัยเก่ามากมาย แม้ใช้ความพยายามอย่างมากแต่อ่านแล้วเนื้อหาส่วนใหญ่ก็ “ไม่เข้าหัว” อยู่ดี มีบางบทบางตอนเท่านั้นที่ “อ่านง่าย” หน่อย หลังจากเวลาผ่านไปเนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้จึงแทบจะไม่ “ติดอยู่ในหัว” เลย จำได้แต่ชื่อหนังสือ และสาระสำคัญว่าเป็นตำราสอนภาษาไทย และโคลงกลอน แต่งโดยพระโหราธิบดี ข้าราชสำนักในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อหนังสือเรื่องนี้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง เพราะละครบุพเพสันนิวาส และการพูดถึงของ พล.อ.ประยุทธ ช่วงนั้นเป็นเทศกาลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในเดือนเมษายนพอดี ผู้เขียนมีปัญหาขาเจ็บไม่สามารถไปเดินหาหนังสือในงานได้ จึงวานพรรคพวกที่ไปร่วมในงานขายหนังสือช่วยหาให้ ก็โชคดี ได้มา 3 เล่ม คือ (1) จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี ของสำนักพิมพ์เพชรกะรัต พิมพ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 (2) จินดามณี เล่ม 1 และจินดามณีฉบับใหญ่บริบูรณ์ ฉบับของกรมศิลปากรพิมพ์ออกมาใหม่ๆ เมื่อเดือนเมษายน 2561 นับว่าเป็นฉบับพิมพ์ใหม่หมาดๆ เลย (3) จินดามณีฉบับหมอบรัดเล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โฆษิต ซึ่งระบุว่าพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2522 และพิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม 2549 แสดงว่าเป็นหนังสือที่ค้างมาหลายปี ได้โอกาสมาขายใหม่ โดยน่าจะเพิ่มราคาเพราะลบราคาเดิม ปิดทับเป็นราคาใหม่

ฉบับของกรมศิลปากร คำชี้แจงในการพิมพ์ครั้งนี้ระบุว่าเป็นฉบับที่ได้มีการตรวจสอบต้นฉบับ และจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2558 การพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดยชี้ว่า “จินดามณีเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย เชื่อว่าใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต้นฉบับตัวเขียนสมุดไทย ... มีอยู่หลายฉบับ แต่ละฉบับมีเนื้อหาลักลั่นแตกต่างกัน หนังสือนี้นอกจากจะประกอบด้วยคุณค่าเชิงวรรณคดีและอักษรศาสตร์แล้ว ยังเป็นต้นฉบับของหนังสือแบบเรียนไทยที่แต่งขึ้นในชั้นหลัง”

จินดามณี เล่ม 1 นั้น “มีข้อความระบุในเนื้อหาว่า พระโหราธิบดีแต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เอกสารต้นฉบับสมุดไทยที่พบส่วนมากมีเนื้อหาตรงกับฉบับนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ ตรวจสอบชำระ และกรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พุทธศักราช 2485 กำหนดว่าเป็น ‘จินดามณีฉบับความพ้อง’ เพราะมีเนื้อหาพ้องกันหลายฉบับ”

ในฉบับพิมพ์ครั้งนี้ ได้ตัดคำอธิบายของนายธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งจั่วหัวว่า “บันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี” ออกทั้งหมด แต่มี “คำชี้แจงในการจัดพิมพ์” ใส่ไว้แทน เรียบเรียงโดยนายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เนื้อความคล้ายคลึงกับที่นายธนิต อยู่โพธิ์ จัดทำไว้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2485 โดยเวลานั้นยังคงใช้ชื่อเดิมคือ นายกี อยู่โพธิ์ แต่มีสาระเพิ่มเติมบางประการ

สรุปเนื้อหาคำชี้แจง เริ่มจากการอธิบายเรื่องชื่อที่สะกดว่า จินดามณี บ้าง จินดามุนี บ้าง จินดามนี บ้าง สาระสำคัญที่เพิ่มเติมกล่าวถึงการที่นายขจร สุขพานิช ได้ทำสำเนาต้นฉบับหนังสือ “จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ” ซึ่งคัดจากต้นฉบับสมุดไทยอันเก็บรักษาไว้ที่ราชสมาคมแห่งเอเชีย (Royal Asiatic Society) ณ กรุงลอนดอน นำมามอบให้กรมศิลปากร ในการรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2504 จึงประกอบด้วยเนื้อหา 4 ส่วน ได้แก่ (1) จินดามณี เล่ม 1 ได้แก่ฉบับที่ว่าพระโหราธิบดีแต่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นายธนิต อยู่โพธิ์ ตรวจสอบชำระ (2) จินดามณี เล่ม 2 ได้แก่ฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. 2382 ในรัชกาลที่ 3 (3) บันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี ของนายธนิต อยู่โพธิ์ (4) จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งนายขจร สุขพานิช นำมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้แบ่งหนังสือจินดามณีตามความแตกต่างของเนื้อหา ได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) จินดามณีฉบับความพ้อง มีหลายฉบับ ข้อความคล้ายกับฉบับที่ว่าพระโหราธิบดีแต่ง ประเภทนี้แยก

ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (ก.) ฉบับลายมือเขียนเก่าที่สุด มีหลายฉบับ ปีคัดลอกต้นฉบับตรงกับ พ.ศ.2325 อันเป็นปีเสวยราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ข.) ฉบับนายมหาใจภักดิ์ ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เพราะโคลงท้ายบทบอกชื่อผู้คัดลอกว่า

จินดามุนิศนี้ นายมหา

ใจภักราชสมยา เศกให้

และบอกวิธีคัดลอกว่า
ฉลองลักษณ์เทียบทานมา สามฉบับ แล้วพ่อ

เลือกแต่ล้วนควรไว้ สืบส้างศิษย์สอนฯ

(ค.) ฉบับพระยาธิเบศ มีโคลงท้ายบทระบุว่า

จินดามุนีนี้ นามพญา

ธิเบศราชสมญา เศกให้

ฉลองลักษณ์เทียบทานมา สามฉบับ แล้วพ่อ

เลือกแต่ล้วนควรไว้ สืบสร้างศิษย์สอนฯ

(ง.) ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉบับนี้ต่างจากฉบับความพ้องอื่นๆ ที่สำคัญ คือ มีโคลงและตัวอย่างคำที่ผันด้วยไม้ตรี และไม้จัตวา ซึ่งชัดเจนว่าแต่งเติมขึ้นภายหลัง เพราะเดิมภาษาไทยมีแต่ไม้เอกและไม้โท ไม้ตรีและไม้จัตวามาเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง ทั้งนี้ ท้ายเล่มหนังสือได้เขียนไว้ชัดเจนว่า “จินดามุนีนี้ ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิต ประดิษฐ์ดัดแปลงแต่งต่อใหม่”

(2) จินดามณีฉบับความแปลก มีหลายฉบับ มีเนื้อความแปลกจากฉบับพระโหราธิบดี

(3) จินดามณีฉบับพระนิพนธ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ฉบับนี้เกิดจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารภถึงพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็กซึ่งทรงพระเจริญขึ้นโดยมาก มีพระประสงค์จะศึกษาวิทยาการ บางทีจะได้ทรงแสดงพระราชประสงค์นั้นแก่กรมหลวงวงษาธิราชสนิท จึงได้ทรงพระนิพนธ์จินดามณีเล่ม 2 นี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ.2382 ใช้เวลาราว 6 เดือนเศษ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงอ้างไว้ในโคลงพระนิพนธ์ว่า “เป็นศิษย์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้แต่งจินดามณีฉบับนี้ขึ้น เป็นการแต่งซ้อนของเก่าที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว โดยลำดับเล่มของพระองค์เป็นเล่มสอง”

(4) จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ “เป็นฉบับสำรวมใหญ่ คือ รวมตำราแบบเรียนภาษาไทยหลายเล่มมาพิมพ์ไว้ด้วยกัน เช่น ประถม ก กา แจกลูก จินดามณี ประถมมาลาและปทานุกรม นอกจากนี้ยังได้แทรกเรื่องคำอธิบายต่างๆ แม้กระทั่งราชาศัพท์ และเครื่องหมายวรรคตอนในภาษาอังกฤษ”

จินดามณี เล่ม 1 ฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ครั้งนี้นำต้นฉบับสมุดดำมาพิมพ์ไว้ด้วย เป็นฉบับความพ้อง อีกฉบับหนึ่งซึ่งมีความหมายแตกต่างลักลั่นกันบางส่วนมาให้ศึกษาเปรียบเทียบ

ส่วนที่สองเป็น “จินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์” มีต้นฉบับสมุดดำมาพิมพ์ไว้ด้วยเช่นกัน เป็นฉบับที่ไม่เคยมีการพิมพ์เผยแพร่มาก่อน กรมศิลปากรได้นำมา “รวมพิมพ์ไว้ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เห็นลักษณะของหนังสือแบบเรียนไทยในอดีต”

ใครที่ได้อ่าน จินดามณีฉบับที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่นี้ เมื่อเริ่มอ่านหน้าแรก เริ่มจากบทนมัสการย่อหน้าแรก 5 บรรทัดเขียนเป็นร่าย ต่อด้วยหัวข้อ “อักษรศัพท์” ยาวเหยียด หลายคนคงท้อ ทำไมเป็นเช่นนี้ จะได้กล่าวถึงต่อไป