posttoday

คอลัมน์คนซอยสวนพลูวันนี้ขอเสนอเรื่อง "หิน ๕ ก้อนของรัฐบาล"

14 กรกฎาคม 2562

พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมพร้อมที่จะเผชิญงานหิน และหินก้อนสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ในสภา 

พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมพร้อมที่จะเผชิญงานหิน และหินก้อนสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ในสภา

........................

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

หินเป็นของหนัก “งานหิน” จึงเป็นงานที่หนักมากๆ

บทความนี้ไม่ได้เชียร์หรือแช่งรัฐบาล แต่เป็น “การมองรอบด้าน” ให้เห็นภัยอันตรายที่รัฐบาลจะต้องเผชิญ ซึ่งรัฐบาลและหลายๆ ท่านก็คงจะทราบดีอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้เขียนลองสรุปรวบรวมจัดหมวดหมู่ให้ดูง่าย ไว้ประดับเป็นความรู้ และอาจจะใช้เป็น “เครื่องราง” ปกป้องคุ้มครองโภยภัยให้รัฐบาลนี้ได้ด้วย

หินก้อนที่หนึ่ง “การบริหารคณะรัฐมนตรี” เพราะคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาชุดนี้เป็น “รัฐบาลผสม” แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลผสมมาหลายยุคหลายสมัย จนการมีคณะรัฐมนตรีแบบนี้ดูจะเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้ดูจะมีข้อแตกต่างกับครั้งก่อนๆ อยู่พอควร เพราะเป็น “การผสมหลายพ่อพันธุ์” มีทั้งพ่อพันธุ์จากกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ และ “พ่อพันธุ์สายเลือด คสช.” จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “รัฐบาลพันทาง” (ซึ่งคำว่า “พันทาง” ในพจนานุกรมแปลว่า “ไม่เข้าชุดกัน” ไม่ได้มีความหมายในทางหยาบคายแต่อย่างใด)

ดังจะเห็นได้จากความยากลำบากในการจัดแบ่งกระทรวงและตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ ที่สับสนวุ่นวายและใช้เวลานานมาก บางกระทรวงมีรัฐมนตรีมากเพื่อแจกจ่ายตามโควต้า บางกระทรวงก็มีรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่าอาจจะมีการมุบมิบเพราะไม่มีใครถ่วงดุล ส่วนกระทรวงที่มีรัฐมนตรีมากๆ ก็อาจจะมีการแย่งผลงาน หรือเกร็งเพราะกลัวเพื่อนจะเห็น จนทำงานไม่ออก สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลมาก

หินก้อนที่สอง “การบริหารพรรคร่วมรัฐบาล” ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองไทยหลายคนเชื่อว่า การตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีการต่อรองกันมากที่สุดจนวินาทีสุดท้าย ซึ่งก็เป็นผลจากสภาพที่ “ไร้ภาวะผู้นำ” เพราะตัวพลเอกประยุทธ์เองก็ทำตัวอยู่เหนือความขัดแย้งและปล่อยให้พรรคการเมืองต่างๆ “จัดการกันเอง” ในขณะที่กลุ่มก๊วนการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลก็แย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกัน ที่น่าติดตามก็คือ “นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล” ว่าจะออกมามีหน้าตาและรายละเอียดเป็นอย่างไร

แม้โดยหลักใหญ่ก็จะต้องยึดตามแนวนโยบายแห่งรัฐและแผนยุทธศาสตร์ชาติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เราก็อาจจะเจอ “นโยบายสอดไส้” ที่แต่ละกลุ่มก๊วนใส่แทรกเข้ามา ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องของ “การชิงดาวคนละดวง” ที่แย่งผลงานกันแสดงออก แต่ที่จะถูกกระหน่ำมากที่สุดก็คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่บางพรรคเคยประกาศไว้อย่างแข็งขัน รวมถึง “แรงกระทุ้ง” จากสังคมภายนอกทั้งในและนอกสภาที่จะคอยตรวจสอบ “ไล่เบี้ย” ในนโยบายเหล่านั้นไปทุกๆ เรื่อง

หินก้อนที่สาม “การบริหารงานสภา” ที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นงานที่ “หินที่สุด” เพราะในหินสองก้อนแรกเพียงแต่พลเอกประยุทธ์แสดงภาวะผู้นำให้ชัดเจนและจริงจังเข้มแข็ง ก็น่าจะพอควบคุมให้เกิดความสงบเรียบร้อยในคณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง แต่ในรัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว. น่าจะเป็นปัญหา “สุดๆ” สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งในส่วนของ ส.ส.ฝ่ายค้านนั้นฝ่ายรัฐบาลก็ค่อนข้างดูหมิ่นดูแคลนว่า “บ่มีไก๊” ไร้พลังที่จะโค่นล้มรัฐบาลได้ พร้อมกับทึกทักอยู่เสมอว่า ส.ว.ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

แต่รัฐบาลก็อย่าลืมว่า ส.ว.เหล่านี้ก็มีหัวจิตหัวใจ หากรัฐบาลทำอะไรผิดพลาดก็อาจจะมีการ “แหกคอก” เกิดขึ้นก็ได้ รวมถึงแรงบีบคั้นจาก ส.ว.บางกลุ่มที่จะเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากรัฐบาล อีกทั้ง ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลเองก็คงไม่ใช่ “เครื่องจักรฝักถั่ว” ที่จะก้มหน้าก้มตาเป็นเด็กดีหนุนรัฐบาลด้วยความจริงใจ คงจะมีไม่น้อยที่คอยจะต่อรองเอาผลประโยชน์ และพยายาม “โยกต้นไม้” เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะร่วงหล่นลงมาให้รับประทานอยู่เป็นระยะ ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านก็จะกัดไม่ปล่อยและคอย “ทิ่มแทง” รัฐบาลอยู่ตลอด และเมื่อสบโอกาสและ “สุกงอม” ก็จะหาหนทางคว่ำรัฐบาลในทันที

หินก้อนที่สี่ “การบริหารกระแสความรู้สึกในสังคม” เพราะประชาชนในฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่นั้น “ยอม” ให้เกิดมีรัฐบาลในสภาพนี้ก็เพราะเห็นแก่ความสงบเรียบร้อย และเชื่อน้ำยาพลเอกประยุทธ์ว่าจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยนั้นได้ การเลือกตั้งที่รัฐบาลจำต้องเอานักการเมืองน้ำเน่าบางส่วนมาผสม ประชาชนในกลุ่มนี้ก็เลือกเข้ามาให้เป็นจำนวนมาก ท่ามกลาง “เล่ห์กล” ต่างๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล

แม้จะวุ่นวายมากแต่ประชาชนในกลุ่มนี้ก็ยอมรับได้ พวกเขาจึงหวังต่อไปว่าพลเอกประยุทธ์คงจะ “เอาอยู่” แต่ถ้าหากการณ์กลับเป็นตรงข้าม คือมาเป็นรัฐบาลที่เละเทะและมีสภาที่วุ่นวายไม่รู้จบ กระแสความเชื่อถือศรัทธาที่มีต่อพลเอกประยุทธ์ก็อาจจะเสื่อมลง กระแสนิยมส่วนนี้ก็อาจจะกลายเป็นกระแสต้าน ซึ่งกระแสต้านพลเอกประยุทธ์ที่มีมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งก็จะมีกำลังเพิ่มขึ้น นำไปสู่วิกฤติการเมืองทั้งในและนอกสภาเช่นที่เคยมีมา

หินก้อนที่ห้า “การบริหารภาพลักษณ์ในนานาชาติ” โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาอยู่ในหลายๆ เรื่อง แม้รัฐบาลจะบอกว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่โดยสภาพที่แท้จริงทหารและกลุ่มอำนาจไม่กี่กลุ่มก็ยังครอบครองทรัพยากรต่างๆ ของประเทศไว้ ในลักษณะของ “เผด็จการจำแลง” ที่ยังไม่ยอมปล่อยอำนาจนั้น ทั้งยังควบคุมและจัดการกับฝ่ายตรงข้ามอย่างน่ากลัว อันมีผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ศาล และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยก็ถูกนานาชาติ “กล่าวหา” ในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด และสร้างปัญหาในการค้า การส่งออก และความไว้วางใจในประชาคมนานาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในความอยู่รอดของแต่ละประเทศในโลกยุคใหม่

ลองนึกภาพคนๆ หนึ่งที่แบกหินห้าก้อนที่แต่ละก้อนล้วนมีขนาดมหึมา ไว้ที่มือและไหล่ซ้ายขวาด้านละสองก้อน และอีกก้อนหนึ่งอยู่บนหัวของคนๆ นั้น ถ้าไม่ใช่คนโรคจิตที่ชอบการทรมานให้ตัวเองเจ็บปวด หรือคนที่เป็นบ้าคิดว่าตัวเองเป็น “ซุปเปอร์ฮีโร่” ก็คงต้องเป็นคนที่แข็งแรงและอดทนเป็นอย่างมาก ทางแก้ก็คือทำให้ปัญหาเหล่านั้นเบาบางลงหรือทำให้ก้อนหินมีขนาดเล็กลง หรือไม่ก็โยนก้อนหินทั้งหมดนั้นทิ้งไปเสีย

ทว่าพอมาดู “ก้อนหินปัญหา” ของไทย ก็ให้สงสารพลเอกประยุทธ์เป็นยิ่งนัก