posttoday

โคทม ถ่ายทอดมุมมอง ผ่านเรื่อง "เอาใจนาย"

12 กรกฎาคม 2562

เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายลงมือทำร้าย"จ่านิว" เป็นการลงมือเพื่อเอาใจนายแนวทางสืบสวนหาว่า"นาย"ที่ไปทำให้ขัดเคืองใจนั้นคือใคร

เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายลงมือทำร้าย"จ่านิว" เป็นการลงมือเพื่อเอาใจนายแนวทางสืบสวนหาว่า"นาย"ที่ไปทำให้ขัดเคืองใจนั้นคือใคร

.......................

โดย โคทม อารียา

เหตุการณ์ทำร้ายคุณสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ถึงสองครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน ชวนให้คิดว่า อะไรน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของอกุศลกรรมนี้ ผมมีข้อเสนอว่า มโนคติเป็นจุดเริ่มต้น แล้วพฤติกรรมจึงตามมา ยิ่งพฤติกรรมได้รับการปกป้อง ไม่ให้ต้องรับผิด ก็เป็นการตอกย้ำมโนคติตั้งต้นขึ้นไปใหญ่ สมมุติฐานของจุดเริ่มต้นความรุนแรงที่เป็นไปได้ข้อหนึ่งคือ มโนคติที่ต้องการ “เอาใจนาย”

ผมคิดว่าผมนึกถึงเรื่องนี้อยู่คนเดียว ก็พอดีอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ซึ่งให้ข่าวจากรองผู้บังคับการที่สอบสวนคดีคนหนึ่งว่า “คดีนี้มีกลุ่มคนร้ายทำงานเป็นทีมไม่ต่ำกว่า 4 คนแบ่งหน้าที่ชัดเจน และเป็นการลงมือเพื่อเอาใจนาย” ถ้าระบุสาเหตุจูงใจได้ชัดและถูกต้องแล้ว

การสืบสวนก็น่าจะมีแนวทางสืบหาว่า “นาย” ที่จ่านิวไปทำให้ขัดเคืองใจนั้นคือใคร เขารู้เห็นเป็นใจแค่ไหนกับพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน (ถ้าสมมุติว่าการทำร้ายคนเพื่อเอาใจเขานั้น รวมถึงกรณีการทำร้ายคุณเอกชัย หงส์กังวาน และคุณอนุรักษ์ เจนตวนิชย์หรือ “ฟอร์ด-เส้นทางสีแดง” ด้วย)

วิธีหนึ่งที่จะระงับพฤติกรรมคือการแก้ที่เหตุ ถ้า “นาย” เป็นเหตุ “นาย” ต้องสั่งทีมเอาใจให้หยุด หรือทางที่ดีสลายทีมดังกล่าวเสียเลย เลี้ยงทีมที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมืองเช่นนี้ไว้ มีแต่จะเสียหายถึง “นาย” ได้ไม่มากก็น้อย และอย่างน้อยที่สุด “นาย” ต้องไม่ปกป้องคนที่ทำผิด แม้จะเป็นคนของตนที่ทำเพื่อเอาใจตนก็ตาม หรือถ้าทำเพียงสั่งว่า “อย่าให้เขาจับได้ และถ้าจับได้อย่าซัดทอดถึงผม” คงไม่พอ เพราะจะเป็นการทำให้คนผิดลอยนวล

เมื่อวันก่อน ผมคุยกับเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์เผาโรงไฟฟ้าคลองเตย 8 ในวันที่ 20 พ.ค. 2553 ในวันนั้น โฆษกกรุงเทพมหานครสรุปว่า มีไฟไหม้ทั้งหมด 35 จุด ส่วนใหญ่เป็นธนาคารและร้านค้า ส่วนบริเวณการไฟฟ้านครหลวงนั้น เสียหายจนกลายเป็นอาคารร้าง เพื่อนผมบังเอิญอยู่ที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ มองเห็นชัดว่ารถดับเพลิงฉีดน้ำไปไม่ถึงบริเวณเพลิงไหม้ คนที่อยู่ในโรงเรียนจึงช่วยกันฉีดน้ำจากโรงเรียนซึ่งพอช่วยได้บ้าง

อย่างน้อยก็ไม่ให้ไฟลุกลามมาถึง ระหว่างที่ไฟกำลังจะลุกไหม้ขึ้นนั้น เขาเห็นชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง วิ่งออกมาจากบริเวณที่ไฟลุกไหม้ เมื่อกระโดดข้ามรั้วออกไป พวกเขาหยุด หยิบเอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาพูดในทำนองว่า เรียบร้อยแล้ว แต่ประโยคเด็ดคือ “ทำอะไรต่อไปครับ เจ้านาย”

เกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมเดือนพฤษภาคม 2535 พลเอกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าตนเป็นผู้นำในการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อสร้างความปั่นป่วนและเป็นการเร่งให้รัฐบาลเข้าปราบการชุมนุมที่จัดโดยเพื่อนร่วมรุ่นของตน ไม่ว่าจะทำเพื่อนายหรือเพื่อเพื่อน เหตุการณ์บางทีก็ไม่เป็นเหมือนอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวเสมอไป

ในช่วงชีวิตของผม ได้มีส่วนรับรู้ ส่วนร่วม ส่วนจัดการชุมนุม ส่วนสังเกตการณ์ความรุนแรงในทัองถนนของกรุงเทพมหานครหลายหน เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 77 รายและสูญหายอีกจำนวนมาก

ในบรรดาผู้ที่ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนิสิตนักศึกษาและประชาชน ไม่แน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใดที่กระทำการด้วยความโกรธเคืองที่เจ้านายถูกด่าทอ อย่างไรก็ดี ผู้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในเหตุการณ์นี้ ได้รับการรำลึกถึง และได้รับการเยียวยาทางจิตใจผ่านการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และการจัดกิจกรรม ณ อนุสรณ์สถานนี้เป็นประจำ

หลังจากนั้นเพียง 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งมีรายชื่อผู้เสียชีวิตฝ่ายนักศึกษาประชาชน 41 ราย และฝ่ายเจ้าพนักงานและฝ่ายขวา 5 ราย บุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากฝ่ายรัฐหรือเป็นเหยื่อของการกระทำด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง แม้จะมีการรำลึกถึงเขาเหล่านี้เป็นประจำทุกปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้บันทึกและยอมรับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้อย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์นองเลือดในท้องถนนครั้งถัดมาเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2535 ในฐานะรองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งเป็นผู้จัดชุมนุมทางการเมืองจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2535 ผมรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย ในกรณีนี้ มีรายชื่อผู้เสียชีวิต 44 ราย สูญหาย 48 ราย และมีผู้เสียชีวิตและสูญหายที่ยังไม่พบศพอีกจำนวนหนึ่ง ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 มีการนัดชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง

แต่ผู้นัดมิใช่ ครป. ผมจึงมีโอกาสเดินร่วมไปกับผู้ชุมนุมที่ย้ายจากท้องสนามหลวงมาตั้งเผชิญหน้ากับฝ่ายทหารที่สะพานผ่านฟ้า ระหว่างที่เดินมา ผมได้ยินเสียงผู้อยู่ในขบวนตะโกนด่าทอนายกรัฐมนตรีอย่างเสีย ๆ หาย ๆ ผมรู้สึกว่าความรุนแรงทางวจีกรรมกำลังปูทางไปสู่ความรุนแรงทางกายกรรม และหลังการเผาโรงพักนางเลิ้ง เหตุการณ์ก็รุนแรงขึ้น ไม่แน่ชัดว่าผู้ที่ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามจะรู้สึกโกรธเคืองที่เจ้านายถูกด่าทอเพียงใด หรือเพราะได้รับคำอธิบายอย่างไร จึงถึงกับหันปากกระบอกปืนเข้ายิงประชาชน

หลังจากนั้น ก็มีการชุมนุมที่จัดโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 8 ราย การชุมนุมที่จัดโดยแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ในปี 2553 มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 91 รายไม่แน่ชัดว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากการซุ่มยิงของนักแม่นปืนกี่คน และในจำนวนนักแม่นปืน มีกี่คนที่มีเหตุจูงใจเพื่อเอาใจนาย

ส่วนการชุมนุมที่จัดโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 37 ราย ซึ่งไม่ทราบชัดว่าผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านี้ เสียชีวิตโดยน้ำมือใคร และใครได้ประโยชน์ แต่ที่พอสันนิษฐานได้คือ เขาตายด้วยการกระทำของผู้มีแรงจูงใจทางการเมือง

ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อให้เราหวนรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแย่งชิงอำนาจมีความดุเดือดและเข้มข้นมาก บางครั้งก็ใช้เล่ห์กลอำพราง บางครั้งก็ปลุกปั่นความโกรธ เกลียด บางครั้งก็กระตุ้นความภักดีต่อ “นาย” การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเหล่านี้

แม้ว่าบางครั้งจะอ้างชื่อว่ากระทำเพื่อประชาธิปไตย แต่นั่นอาจเป็นเพียงเปลือกนอก เพราะแก่นแท้ของประชาธิปไตยคืออธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งจะแบ่งสรรปันส่วนอำนาจโดยประชาชน ก็แต่ด้วยสันติวิธี

การทำร้ายจ่านิว เอกชัยและฟอร์ด จึงยอมรับไม่ได้สำหรับผู้มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เพราะถือเป็นความพยายามปิดปากผู้เห็นต่าง เพื่อดำรงอำนาจของ “นาย” ที่อาจขาดความชอบธรรม และไม่ทนต่อการเปิดโปง

อีกประการหนึ่ง ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่เข้าร่วมรัฐบาล จะไม่ลืมถ้อยคำที่ได้ลงนามใน “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน” เมื่อปลายปีที่แล้วก่อนการเลือกตั้ง ซี่งมีความข้อหนึ่งว่าจะ “เยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำของรัฐและการกระทำด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง”

ถึงเวลาแล้วที่สังคมจะช่วยกันขับเคลื่อนสู่ความปรองดอง และรัฐบาลจะเอาใจใส่กับการเยียวยาทางจิตใจ เช่นการสนับสนุนการสร้างอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ซึ่งรอคอยกันมากว่า 27 ปี