posttoday

ส่องสถานการณ์ ถ่ายทอดมุมมอง ผ่านเรื่อง "จินดามณี"

09 กรกฎาคม 2562

"หนังสือเล่มนี้"มีความโดนใจในฐานะเป็นหลักฐานสร้างความภาคภูมิใจชาติเพราะแสดงความอารยะมาตั้งแต่สมัยอดีตอันรุ่งโรจน์

"หนังสือเล่มนี้"มีความโดนใจในฐานะเป็นหลักฐานสร้างความภาคภูมิใจชาติเพราะแสดงความอารยะมาตั้งแต่สมัยอดีตอันรุ่งโรจน์

.......................

โดย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

หนังสือจินดามณีเป็นหนังสือเก่า มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรกและเล่มเดียวที่ยังหลงเหลือและนำมาใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ หนังสือเล่มนี้กลับมาโด่งดังอีกครั้งใน พ.ศ. 2561 เพราะมีการกล่าวถึงในละครโทรทัศน์เรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นละครทางช่อง 3 ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาก

ละครโทรทัศน์เรื่องนี้สร้างจากนวนิยายของผู้เขียนซึ่งใช้นามปากกาว่า “รอมแพง” ซึ่งเป็นนวนิยายที่ “โด่งดัง” เรื่องหนึ่ง ช่วงที่ละครนี้กำลังดังผู้เขียนไปได้หนังสือเล่มนี้จากแผงหนังสือที่มาวางขายกับสินค้าลดราคาที่มีขายเป็นประจำที่ห้องโถงใหญ่ศูนย์ราชการที่ถนนแจ้งวัฒนะ ปรากฏว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 73 แล้ว โดยเป็นฉบับพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2561 อีกสองเดือนต่อมาผู้เขียน คือ “รอมแพง” มาให้สัมภาษณ์ในรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส บอกว่าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ถึงครั้งที่ 100 แล้ว

ปรากฏการณ์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จึงสะท้อนว่าคำปรามาสที่ว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือนั้นไม่จริง แม้โดยพื้นฐานแล้วสังคมไทยจะเป็น “สังคมคุย” มากกว่า “สังคมอ่าน” มาแต่โบราณกาล เพราะเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ (1) แต่ก่อนคนรู้หนังสือมีอยู่จำกัด เพราะไม่ใช่เรื่องที่ “จำเป็น” แก่การดำรงชีพ และค่านิยมของสังคมไทยแต่โบราณก็สอนกันว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี”

สะท้อนว่า แม้ในวงสังคมชั้นสูง หนังสือก็มีความสำคัญเป็นลำดับสาม (2) ประเทศที่เป็น “สังคมอ่าน” อย่างในยุโรปเป็นเมืองหนาว ชีวิตต้องอยู่ในบ้านยาวนานในช่วงฤดูหนาว การอ่านหนังสือหน้าเตาผิงจึงเป็นวิธีการใช้เวลาที่เหมาะ แต่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ยามกลางวันก็มักนั่งใต้ถุนเรือนมีโอกาสพบปะผู้คนมากกว่า จึงเป็นสังคมคุยมากกว่าสังคมอ่าน (3) ขณะที่ประเทศอู่อารยธรรมอย่างจีน มีเรื่องราวมากมายของนักศึกษาที่พากเพียรเรียนหนังสือเพื่อไปสอบจอหงวน แต่ของเรามีเรื่องราวอย่างจันทโครพที่แกนเรื่องมิใช่การเรียนหนังสือ วรรณคดีอย่างพระลอ พระสุธนมโนราห์ ขุนช้างขุนแผน และพระอภัยมณี ก็ไม่กล่าวถึงเรื่องเรียนหนังสือเป็นเรื่องหลัก

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจ้างแหม่มแอนนามาสอนหนังสือพระโอรสธิดา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งโอรสธิดาจำนวนมากไปศึกษาต่อต่างประเทศ และเริ่มมีนโยบายการศึกษาเพื่อทวยราษฎร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเริ่มมีการพิมพ์หนังสือโดยหมอบรัดเลย์ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ความนิยมในเรื่องหนังสือก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมา เริ่มจากในรั้วในวัง ออกไปในหมู่คนชั้นสูง และกระจายไปตามวัดวาอารามในหัวเมือง

แท้จริงแล้ว น่าเชื่อว่าการพิมพ์หนังสือในเมืองไทยมีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชแล้ว ดังท่านภราดา ฟ.ฮีแลร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “ดรุณศึกษา” ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของท่านว่า “คูแตงแบร์ค” ที่พวกเราคุ้นเคยกันในชื่อ กูเตนเบิร์กลูกศิษย์วัดแห่งหนึ่ง คิดประดิษฐ์วิธีพิมพ์หนังสือแบบการเรียงพิมพ์ขึ้นในเยอรมนีเมื่อ พ.ศ. 1983 แล้ว สังฆราชลาโน

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ช่วง พ.ศ. 2199-2231) สังฆราชลาโนได้ศึกษาจนรู้ภาษาไทยดี ได้แปลและแต่งหนังสือสอนศาสนาเป็นภาษาไทยไว้ถึง 26 เล่ม ได้สร้าง “ศาลาเรียน” ขึ้นในที่ดินพระราชทานที่ตำบลเกาะมหาพราหมณ์ทางเหนือของพระนครศรีอยุธยา และมีคนกล่าวว่า มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนด้วย

“นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงพอพระทัยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของท่านสังฆราชลาโน ถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรีเป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก” แต่กิจการโรงพิมพ์และหนังสือเหล่านั้นก็ทรุดโทรมและสาบสูญไปหลังจากพระเพทราชาทำรัฐประหารและขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งกรุงแตกเมื่อ พ.ศ.2310

ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้กรุงคืนและตั้งกรุงธนบุรีขึ้นได้ ท่านสังฆราชคาร์โนลต์เห็นบ้านเมืองกลับเป็นปกติก็ได้กลับเข้ามาตั้งสอนศาสนา และก็ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัด “ซันตากรุส” ตำบลกุฎีจีนในเมืองธนบุรี

หนังสือของท่านสังฆราชคาร์โนลต์พิมพ์ขึ้นก็ยังมีหลงเหลือต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์หลายฉบับ ฉบับหนึ่งพิมพ์บนปกว่า “คำสอนคฤศตัง พิมพ์ขึ้นในวัดซันตากรุส ณ บางกอก ศักราชแต่ไถ่ชาติมนุษย์ 1796” (พ.ศ.2339) ตรงกับ ปีที่ 15 แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ็ดปีหลังชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และหนึ่งปีหลังชำระพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นต้นฉบับพระราชพงศาวดารสำคัญทั้งสองฉบับ สำหรับฉบับที่มีการเขียนและชำระต่อๆ มา

การพิมพ์หนังสือในเมืองไทยจึงน่าจะมีมาตั้งแต่ครั้งพระนารายณ์มหาราช โดยสังฆราชบาทหลวงฝ่ายโรมันแคทอลิกหรือคริสตัง การพิมพ์ในสมัยของหมอบรัดเลย์ ซึ่งเริ่มตอนปลายรัชกาลที่ 3 นั้น เกิดขึ้นในสมัยต่อมาโดยมิชชันนารีสายอเมริกันซึ่งเป็นฝ่ายโปรเตสแตนท์หรือคริสเตียน

แม้ปัจจุบันจะอยู่ในยุค “ขาลง” ของธุรกิจสิ่งพิมพ์เพราะสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทครอบงำ ตลาดหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ แคบลงมาก แต่คนไทยก็ยังอ่านหนังสือกันมาก แม้รูปแบบการอ่านจะเปลี่ยนไปโดยจำนวนมากเปลี่ยนไปอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ส่วนมากมียอดพิมพ์ลดลง จำนวนหน้าลดลง นิตยสารจำนวนมากปิดตัวลง

แม้กระทั่งนิตยสารที่เคยมียอดพิมพ์ถึงฉบับละกว่าสามแสนอย่างนิตยสารคู่สร้างคู่สมก็ต้องปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2560 แต่หนังสือเล่มภาษาไทยก็ยังมีออกใหม่ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 18 ปก ตกปีหนึ่งราว 6,570 ปก (จากที่เคยสูงถึงวันละ 40 ปก หรือปีละ 14,600 ปก) และ “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติซึ่งเดิมเคยจัดปีละหนึ่งครั้ง ต่อมาเพิ่มเป็นปีละสองครั้ง และยังคงจัดปีละสองครั้งต่อมาทุกปี ทุกครั้งก็ยังมีคนไปอุดหนุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แม้ส่วนมากจะซื้อไป “เก็บไว้รอมีเวลาอ่าน” ก็ตาม

การที่หนังสือ “บุพเพสันนิวาส” มีจำนวนพิมพ์ได้ร้อยครั้ง ย่อมเป็นหลักฐานว่าคนไทยยังอ่านหนังสือกันไม่น้อย

กลับมาเรื่องหนังสือ จินดามณี เชื่อกันว่า หนังสือเล่มนี้ฉบับดั้งเดิมแต่งโดยพระโหราธิบดี ตัวละครสำคัญคนหนึ่งในนวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาส ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ นอกจากเป็นตำราสอนภาษาไทยเล่มแรกของไทยแล้ว ยังเป็นตำรากาพย์กลอนโคลงฉันท์ด้วย

หนังสือเล่มนี้จึง “โดนใจ” ในฐานะเป็นหลักฐานก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติ เพราะแสดงความอารยะมาตั้งแต่สมัยอดีตอัน “รุ่งโรจน์” และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ก็นำไปเชิดชูและบอกกล่าวให้คนในรัฐบาลไปศึกษา โดยกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ให้ท่องให้ได้คนละ 1 บท และจะทดสอบปากเปล่าด้วย”

และต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ยังเปิดเผยว่าที่ให้รัฐมนตรีไปท่อง คนละบทนั้น “มีคนท่องให้ฟัง” โดยระบุว่าในหนังสือ “มีร้อยกว่าบท ... ผมท่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว ... อยากให้ประชาชนหันมาสนใจบทกวีบทกลอน ... อยากให้ภูมิใจว่าเรามีภาษาของเราเอง และมีจินดามณีเป็นหนังสือเรียนเล่มแรก เรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ...”

เรื่องจินดามณีจึงควร “อยู่ในกระแส” ไประยะหนึ่ง แบบไฟไหม้ฟาง แต่นานๆก็จะกลับมาพูดถึงกันได้อีก ทั้งๆ หนังสือนี้เป็นหนังสือสำคัญ ควรจะมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในชาติให้ได้อย่างแท้จริงต่อไป