posttoday

"ไชยันต์ ไชยพร" เจ้าของคอลัมน์"ยังไม่ตายก็อยู่กันไป"เสนอเรื่อง"ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในสวีเดน

05 กรกฎาคม 2562

ทุกๆปีชาวสวีเดนส่วนใหญ่จะเฉลิมฉลองวันชาติด้วยการนำธงชาติสวีเดนมาติดไว้ที่หน้าบ้าน รถเมล์บางสายจะประดับธงชาติด้านหน้ารถเมล์ทั้งสองข้าง 

ทุกๆปีชาวสวีเดนส่วนใหญ่จะเฉลิมฉลองวันชาติด้วยการนำธงชาติสวีเดนมาติดไว้ที่หน้าบ้าน รถเมล์บางสายจะประดับธงชาติด้านหน้ารถเมล์ทั้งสองข้าง 

..........................

โดย ไชยันต์ ไชยพร

ที่สวีเดนมีวันสำคัญอยู่อย่างน้อยสองวัน วันแรกคือวันชาติ (National Day) ๖ มิถุนายนของทุกปี รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ (Public holiday) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา โดยวันดังกล่าวเป็นวันที่รำลึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประเทศสองเหตุการณ์ คือในวันที่ 6 มิถุนายน ปีค.ศ. 1523 เป็นวันสถาปนากุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa) ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของประเทศ (ก่อนหน้านั้นมีความสับสนวุ่นวายอยู่พอประมาณ) และในวันเดียวกันในปี ค.ศ. 1809 เป็นวันที่สวีเดนมีการประกาศใช้รัฐธรรมฉบับแรกของประเทศ ในวันชาติของทุกปี พระมหากษัตริย์และพระราชินีของสวีเดนจะเข้าร่วมการเฉลิมฉลองวันชาติด้วยการเชิญธงชาติสวีเดนขึ้นสู่ยอดเสา ณ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งสแกนเซน ในกรุงสตอกโฮล์ม

และภายในงานจะมีเด็กๆ ในชุดเครื่องกายประจำชาติ นำช่อดอกไม้ที่ขึ้นในหน้าร้อนมาถวายให้ทั้งสองพระองค์ ในทุกๆ ปีชาวสวีเดนส่วนใหญ่จะเฉลิมฉลองวันชาติด้วยการนำธงชาติสวีเดนมาติดไว้ที่หน้าบ้าน บ้างก็จะมีการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา (บางบ้านที่มีเสาธงที่หน้าบ้าน) หรือบางทีเราอาจจะสังเกตเห็นว่ารถเมล์บางสายที่วิ่งในวันนี้จะมีการประดับธงชาติสวีเดนที่ด้านหน้ารถเมล์ทั้งสองข้าง เป็นต้น

(https://ostervangsvagen.blogspot.com/2014/10/national-day-of-sweden.html?view=flipcard)

กุสตาฟ วาซา เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กอบกู้เอกราชให้สวีเดน โดยพระองค์ทรงรับภารกิจกู้เอกราชต่อจากผู้นำก่อนหน้านี้อันได้แก่ Engelbrekt Engelbrektsson และSten the Elder และ Sten the Younger จากตระกูล Sture โดย Engelbrekt Engelbrektsson เป็นผู้นำคนแรกที่ระดมชาวนาชาวเหมืองและพ่อค้าบางกลุ่มลุกฮือต่อต้านเดนมาร์ก และเขายังสามารถเจรจาต่อรองกับพวกอภิชนและพระให้ต้องมาร่วมต่อสู้ด้วย ในขณะนั้น สวีเดนอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า the Kalmar Union ที่สวีเดน นอร์เวย์และเดนมาร์กทำข้อตกลงร่วมกันที่จะอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกันเพื่อรวมกำลังทัดทานอิทธิพลของเยอรมนี

แต่พระมหากษัตริย์เดนมาร์กกลับกดขี่ข่มเหงทารุณกรรมในการเก็บภาษีจากชาวสวีเดน จนทำให้ Engelbrekt Engelbrektsson แม้ว่าจะเป็นอภิชนแต่ก็ทนเห็นการกดขี่ของเดนมาร์กต่อไปไม่ไหวจึงรับเป็นผู้นำมวลชนในการต่อสู้เพื่อปลดแอกสวีเดนจากเดนมาร์ก และหลังจากเขาตายไป ก็มีคนรับช่วงต่อคือคนจากตระกูล Sture และในที่สุดผู้ที่ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงคือ กุสตาฟ วาซาและเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ Vasa(แต่ด้วยเงื่อนไขในการกอบกู้บ้านเมืองที่ต้องอาศัยความเด็ดขาดและการใช้อำนาจพิเศษ ทำให้มีนักประวัติศาสตร์ชาวสวีเดนบางท่านตีตราพระเจ้ากุสตาฟ วาซาว่าเป็นทรราช ดู Vilhelm Moberg, A History of the Swedish People, Volume II, From Renaissance to Revolution, (1971, 2005), หน้า 146-190)

อีกวันหนึ่งคือ ทุกวันที่ ๖ พฤศจิกายนของทุกปีถือเป็นวันสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองกันในสวีเดนและประเทศอื่นๆอีกบางประเทศ ชาวสวีเดนจะเรียกวันนี้ว่า “วันกุสตาฟ ออโดฟุส”วันดังกล่าวของสวีเดนเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระมหากษัตริย์ของสวีเดน นั่นคือ พระเจ้ากุสตาฟ ออโดฟุส (Gustavus Adolphus) ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้ากุสตาฟ วาซา พระองค์เสด็จสวรรคตในการทำสงครามที่ลูเซินใน “สงครามสามสิบปี”ขณะเดียวกันก็ถือวันนี้เป็นวันธงชาติ (flag day) ของสวีเดนด้วย เทียบได้กับวัน “พระราชทานธงชาติไทย” ของไทยในวันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปี

ที่ผ่านมา การเฉลิมฉลองวัน “กุสตาฟ ออโดฟุส” จะมีขบวนคบไฟและมีการกล่าวสุนทรพจน์แสดงความรักต่อปิตุภูมิสวีเดน แต่ปัจจุบัน เหลือแต่เพียงเทศกาลทานขนมที่ตั้งชื่อตามพระเจ้า “กุสตาฟ ออโดฟุส” และช็อคโกแลตหรือขนมของสวีเดนที่เรียกว่า “marzipan” ที่มีรูปพระองค์ประดับไว้ข้างบน

"ไชยันต์ ไชยพร" เจ้าของคอลัมน์"ยังไม่ตายก็อยู่กันไป"เสนอเรื่อง"ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในสวีเดน


นักวิชาการชาวตะวันตกผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สวีเดนในช่วงศตวรรษที่สิบหกท่านหนึ่ง ได้กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของกุสตาฟ ออโดฟุส เป็นที่รับรู้ทั้งจากคนร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู และคนรุ่นต่อๆมา เพราะจากความสามารถและความสำเร็จของพระองค์ทำให้คนร่วมสมัยต้องตระหนักถึงความ สามารถของกษัตริย์ในการรบในสนามรบที่ไม่ใช่เรื่องปรกติในช่วงเวลานั้นเท่าไรนัก พระองค์ได้กลายเป็น “วีรกษัตริย์” (hero-king) พระองค์แรกของโปรเตสแตนท์ สำหรับชาวสวีดิช พระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์สวีเดนทั้งหมด เทียบได้กับประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ของชาวอเมริกัน

และถ้าเปรียบเทียบต่อไป จะพบว่าพระเจ้ากุสตาฟ วาซา พระอัยกาของพระองค์ พระเจ้ากุสตาฟ ออโดฟุส ทรงเป็นพระบิดาแห่งสวีเดนสมัยใหม่ ซึ่งเทียบได้กับประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน แต่ที่พระองค์ไม่ดังในอาจจะเป็นเพราะว่าพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ได้สถาปนาระบอบพระมหากษัตริย์-ราชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้นในสวีเดน แต่ไม่ได้สถาปนาสาธารณรัฐที่เป็นระบอบที่คนปัจจุบันชอบพูดถึงกันมาก ส่วนพระมหากษัตริย์สวีเดนที่ได้รับการยกย่องเป็นพระองค์ที่สามต่อจากสองพระองค์ที่กล่าวไปคือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่สิบสอง (Charles XII) (1697-1718) ผู้ซึ่งวอลแตร์นักปราชญ์ฝรั่งเศสถึงกับเขียนประวัติพระองค์ไว้ ซึ่งความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สิบสองเทียบได้กับนโปเลียน

แต่ในบรรดาทั้งสามพระองค์นี้ พระเจ้ากุสตาฟ ออโดฟุสได้รับเกียรติและการยกย่องตั้งแต่ในรัชสมัยของพระองค์ มีการตั้งชื่อโบสถ์และองค์กรนอกสวีเดนยังตั้งชื่อตามพระองค์ และผู้คนยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัย Uppsala ที่โด่งดังของสวีเดนจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อนโปเลียนรำลึกถึงพระเจ้ากุสตาฟ ออโดฟุส เขาได้กล่าวว่า ‘le Grand-Gustave’ ในฐานะผู้นำทหารที่เทียบได้กับอเล็กซานเดอร์มหาราช ฮันนิบาลและซีซาร์ (Napoleon’s statements on November 14, 1816: Las Cases, Memorial de Sainte-Helene (Stockholm, 1824), VII, 193) (Ernst Ekman, "Three Decades of Research on Gustavus Adolphus," The Journal of Modern History 38, no. 3 (Sep., 1966): 243-255) และเมื่อผู้เขียนได้สอบถามนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ชาวสวีเดนที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ว่า ถ้าจะเปรียบ กุสตาฟ ออโดฟุสกับพระมหากษัตริย์ของเราชาวไทย จะเปรียบได้กับพระองค์ใด ?

คำตอบคือ กุสตาฟ ออโดฟุส เปรียบได้กับสองรัชกาล นั่นคือ พระนเรศวรมหาราชและพระปิยมหาราช เพราะกุสตาฟ ออโดฟุสทรงเป็นทั้งนักรบที่ยิ่งใหญ่และเป็นนักปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินที่ก้าวหน้ายิ่ง (ส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย “การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ: ศึกษากรณีสหราชอาณาจักร ราชอาณาจักรสวีเดนและราชอาณาจักรภูฏาน” ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีงบประมาณ ๒๕๖๐)