posttoday

กรองข่าวมาเล่าวันนี้ ขอเสนอ "รู้ทันนักสันติวิธี"

04 กรกฎาคม 2562

การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีไม่ได้หมายความว่าจะยกทุกอย่างให้ตามที่คนส่วนหนึ่งเรียกร้องต้องการเพื่อให้เรื่องมันจบๆกันไป 

การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีไม่ได้หมายความว่าจะยกทุกอย่างให้ตามที่คนส่วนหนึ่งเรียกร้องต้องการเพื่อให้เรื่องมันจบๆกันไป

......................

โดย ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนและการใช้ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากเพราะมีเดิมพันสูง นั่นคือ อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน อีกทั้งเป็นจุดที่ชาติมหาอำนาจจับตาหาโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองกับรัฐบาล จึงไม่ต้องแปลกใจหากเราจะเห็นเจ้าหน้าที่ ซี.ไอ.เอ.และยูเสดไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ และนี่เป็นจุดเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัญหายังไม่รุนแรงเหมือนกับปัญหามุสลิมในพม่า บนเกาะมินดาเนาในฟิลิปปินส์ กลุ่มไอ.เอส.ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ไทยสามารถบริหารจัดการปัญหาได้จน องค์การความร่วมมือของกลุ่มประเทศอิสลาม หรือ โฮ.ไอ.ซี. ยอมรับว่า นี่ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา รัฐบาลไทยยืนยันมาโดยตลอดว่านี่คือปัญหาภายในประเทศ ที่เราสามารถบริหารจัดการปัญหาของเราได้เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากภายนอกประเทศโดยเฉพาะมหาอำนาจจ้องตาไม่กระพริบพร้อมที่จะจุดไฟให้ลุกลามจากพม่าไปจนถึงฟิลิปปินส์

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “เหยื่อ” ของนักสันติวิธีฝรั่งและไทยที่ใช้ในการหาทุนวิจัย โดยเฉพาะฝรั่งจากยุโรปที่ใช้ประเด็นนี้หาทุนได้ง่ายมาก เพราะฝรั่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ใครไปเสนอโครงการที่จะให้คู่ขัดแย้งตกลงกันได้โดยสันติวิธีต่อองค์กรในยุโรป ๆ มักให้ทุนเสมอ ฝรั่งที่ได้เงินได้ก็ติดต่อให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตัวแทนจากฝ่ายไทยไปประชุม “ลับที่สุด” กับตัวแทน “พูโล” ที่ฝรั่งไปจัดหาและอุปโลกขึ้นมาทั้งที่พวกนี้ไม่ใช่ “ตัวจริง” ผลสุดท้ายก็เหลวทุกที

ก่อนนี้เคยมีการจัดตั้ง “ศูนย์สันติวิธี”ในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปัจจุบันศูนย์นี้ได้ย้ายไปสังกัดสำนักงานกองทุนวิจัย ( สกว.) ล่าสุด มีการให้ทุนวิจัยการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธี (อีกคร้ง) โดยผู้ได้รับทุนวิจัยได้ใช้กลุ่มฟอตอนี ซึ่งรู้กันดีว่ากลุ่มนี้มีแนวคิดอย่างใดทำการสำรวจ เก็บข้อมูล และผลก็เป็นไปตามที่มีการออกแบบไว้ล่วงหน้า คือ คนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ต้องการให้มีการออกเสียงทำนองการทำประชามติว่าจะกำหนดอนาคตของตนอย่างไร สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชน “เปอร์มัส” ที่สร้างกระแส “ การตัดสินอนาคตด้วยตัวเอง” (Self-Determination) มาตลอดฃ่วงสองสามปีผ่านมา นี่คือการออกแบบเพื่อแยกตนเองออกจากประเทศไทย หรืออย่างน้อยก็เป็น “เขตปกครองตนเอง”

หลายฝ่ายแปลกใจไปตามกันเมื่อมีการเปิดเผยข่าวว่า มีผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งจัดทำโดยกลุ่มสันติวิธีกลุ่มหนึ่งว่า คนร้อยละ 90 ต้องการให้มีการออกเสียงเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดากันได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น และแปลกใจไปยิ่งกว่าเมื่อ สมช. เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนดังกล่าว ที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน กทม.เมือต้นเดือนมิถุนายน 2562 โดย สมช.ได้เชิญผู้แทนจากส่วนราชการฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมรับฟังด้วย มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า นั่นเท่ากับ สมช.ช่วย “ประทับตรา”ที่กลุ่มที่เคลื่อนไหวนำไปอ้างได้ว่า สมช.เห็นด้วยแล้ว ผลการสำรวจความคิดเห็นที่ดูเหมือนเป็นเรื่อง “วิชาการ” ธรรมดา แต่จริงๆ แล้วอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในโอกาสต่อไป มีข่าวว่า กองทัพภาคที่ 4 ไม่ได้ส่งผู้แทนมาร่วมตามคำเชิญ เพราะทราบสถานการณ์ในพื้นที่ดีและไม่ต้องการถูกดึงเข้าไปผูกมัดหรือไปร่วมประทับตราผลงานดังกล่าวด้วย

ล่าสุด มีข่าวว่า สมช.ได้รับการทาบทามให้เป็นเจ้าภาพอีกครั้งให้จัดเวทีแถลงผลงานวิจัยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 แต่คราวนี้ เลขาธิการ สมช. ปฏิเสธ อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยจะแถลงผลงานต่อ สกว.เจ้าของเงินทุนวิจัยในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562

ปัญหาจังหวัดช่ายแดนภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน แม้เป็นปัญหาภายในประเทศแต่ก็มีประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา เพื่อใช้เป็นประเด็นสร้างความวุ่นวายต่อรองกับรัฐบาลที่ไม่ทำการสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน ดังที่ชาติมหาอำนาจได้ทำในกรณีโรฮิงยาในพม่า กลุ่มก่อการร้ายในมินดาเนา ฟิลิปปินส์ กลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซีย กลุ่มหัวรุนแรงในมาเลเซีย เพื่อไม่ให้ภูมิภาคนี้มีสันติและรวมกันได้ และใช้เป็นประเด็นที่จะใช้ต่อรองกับรัฐบาลท้องถิ่น

นอกจากใช้ความรุนแรงแล้ว ในด้านการเมือง องค์การนักศึกษาแห่งหนึ่งได้เคลื่อนไหวในประเด็น “การกำหนดอนาคตของตนเอง” มีข่าวว่า กิจกรรมทางการเมืองได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก “ยูเสด” และ “เอเชีย ฟาวน์เดชั่น” นอกจากมีเจ้าหน้าที่สถานทูตและสถานกงสุลอเมริกันไปวุ่นวายแถวนั้นแล้ว ยังพบด้วยว่า เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรปโดยเฉพาะจากเยอรมนี และกองทุน “ซาซากาวะ” จากญี่ปุ่น เข้าไปวุ่นวายแถวนั้นด้วย เป็นที่รู้กันดีว่าเยอรมนีและญี่ปุ่นสนิทกับใครและเป็นผู้ทำการแทนใครในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี “เดิมพัน” สูงมาก เป็นเดิมพันเกี่ยวกับ “อธิปไตยของรัฐ” และกระทบต่อ “รูปแบบการปกครองของรัฐ” ตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 ที่ว่า “ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้” แม้ผู้ทำวิจัยอาจไม่มีเจตนาที่จะนำไปสู่ความหายนะดังกล่าว แต่ก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐที่ให้ทุนในการทำวิจัยควรระมัดระวังมากขึ้นและต้องหาเบื้องหลังหรือวัตถุประสงค์แอบแฝงในการวิจัยก่อนที่จะให้ทุน ไม่เช่นนั้น หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้วย

“การยุติข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี” เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับทางสากล แตการยุติข้อขัดแย้งโดยสันติวิธีต้องไม่ใช่แลกด้วยผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติ “การกำหนดใจตนเอง” หรือ “การกำหนดอนาคตตนเอง” นั้น สหประชาชาติริเริ่มแนวคิดนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อให้ประเทศอาณานิคมต่าง ๆ ได้รับเอกราช ระยะหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนำมาเป็นข้ออ้างในการแยกตนเป็นรัฐเอกราช

“การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี” ไม่ได้หมายถึงการยกทุกอย่างให้ตามที่คนส่วนหนึ่งต้องการเพื่อให้เรื่องมันจบ ๆ กันไป การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีหมายถึงอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนไม่ถูกกระทบ การนำสันติสุขกลับคืนมาภายใต้อธิปไตยของไทย ประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมและเชื้อชาติอื่นในพื้นที่กลับมารักใคร่ปรองดองเหมือนพี่น้องเช่นในอดีต อันเป็นแบบอย่างอันดีของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และช่วยกันขจัดกลุ่มก่อความรุนแรง หรือพวกปลุกระดมให้คนไทยแตกแยกกันออกไป

ประเทศไทยมีการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนเข้าไปบริหารทั้งในองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) เทศบาล และจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนในระดับชาติ ซึ่งไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องเรียกร้องให้มีเขตการปกครองตนเองอีก ถึงเรียกร้องเราก็ไม่ทำ

หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพียงแต่ยึดถือนโยบายและแนวทางที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้วางไว้ ในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี คือ การเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยสันติสุข จะใช้เวลานานเท่าไรก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องรีบร้อน โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เป็นคนกลาง และให้หัวหน้าคณะของฝ่ายไทยอยู่ในระดับภูมิภาค เช่น แม่ทัพภาค 4 เป็นต้น เชื่อว่า แม้มีรัฐบาลใหม่ แต่นโยบายนี้น่าจะคงเดิมเพราะนายกรัฐมนตรีก็เป็นคนเดิม อีกทั้งวิธีนี้น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดที่จะไม่กระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ

แต่สิ่งที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ คือ การแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจตะวันตกที่จะใช้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามยุทธศาสตร์แบ่งแยกและปกครอง เพื่อให้ภูมิภาคนี้เกิดความวุ่นวายที่เขาจะถือโอกาสเข้าแทรกแซงต่อรองได้