posttoday

หมอวิชัยเจ้าของคอลัมน์ส่องสถานการณ์ขอนำเสนอ "40 ปีการสาธารณสุขมูลฐาน (จบ)"

02 กรกฎาคม 2562

กฎบัตรยังได้ ระบุว่า องค์กรและภาคประชาชนที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐานให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความเป็นประชาธิปไตยโปร่งใสและรับผิดชอบมากขึ้น

 กฎบัตรยังได้ ระบุว่า องค์กรและภาคประชาชนที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐานให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความเป็นประชาธิปไตยโปร่งใสและรับผิดชอบมากขึ้น

.................................

โดย นายวิชัย โชควิวัฒน

ต่อปัญหาเรื่องสงคราม ความรุนแรง ความขัดแย้งและภัยธรรมชาติ กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชนชี้ว่า “สงคราม ความรุนแรง ความขัดแย้ง และภัยธรรมชาติ สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ชุมชน และทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์. มันก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพกาย และจิตใจของสมาชิก โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก. การเพิ่มการจัดหาอาวุธและการค้าอาวุธระหว่างประเทศที่ก้าวร้าวและทุจริตคอรัปชัน มีผลบ่อนทำลายความมั่นคงของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ และกีดกั้นการจัดสรรทรัพยากรให้แก่ภาคสังคม” กฎบัตรฯ จึงเรียกร้องประชาชนทั่วโลกให้ดำเนินการต่างๆ ได้แก่

หนึ่ง สนับสนันการรณรงค์ และขบวนการเพื่อสันติภาพ และการลดอาวุธ

สอง สนับสนุนการรณรงค์ ต่อต้าน การรุกราน และการวิจัย การผลิต การทดสอบ และการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และอาวุธอื่นๆ รวมทั้งกับระเบิดทุกชนิด

สาม สนับสนุนการริเริ่มของประชาชนเพื่อบรรลุสันติภาพที่ยุติธรรม และถาวร โดยเฉพาะในประเทศที่มีประสบการณ์ของสงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สี่ ประณามการใช้ทหารเด็ก และการล่วงละเมิด ข่มขืน ทรมาน และฆ่าผู้หญิงและเด็ก

ห้า เรียกร้องให้ยุติ ครอบครอง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องมือทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์ที่ร้ายแรงที่สุด

หก ต่อต้านสิทธิทหารในการบรรเทาทุกข์ทางมนุษยธรรม

เจ็ด เรียกร้องการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้ทำงานอย่างประชาธิปไตย

แปด เรียกร้องให้สหประชาชาติและแต่ละประเทศยุติการลงโทษทุกชนิดที่ใช้เป็นเครื่องมือการรุกรานที่อาจทำลายสุขภาพและประชากรพลเรือน

เก้า ส่งเสริมการริเริ่มที่เป็นอิสระและมีประชาชนเป็นฐานเพื่อประกาศย่าน ชุมชน และเขตเมืองที่มีสันติภาพและเป็นเขตปลอดอาวุธ

สิบ สนับสนุนปฏิบัติการและการรณรงค์เพื่อป้องกันและลดพฤติกรรมรุกรานและรุนแรง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชาย และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

สิบเอ็ด สนับสนุนปฏิบัติการและการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติ และลดความทุกข์ยากที่ตามมาของมนุษย์

สำหรับภาคสุขภาพที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง กฎบัตรนี้เรียกร้องให้มีการสาธารณสุขมูลฐานที่ครอบคลุมทุกมิติ และถ้วนหน้า โดยไม่ขึ้นกับความสามารถในการจ่ายของประชาชน. บริการสุขภาพต้องเป็นประชาธิปไตยและรับผิดชอบโดยต้องมีทรัพยากรพอเพียง

กฎบัตรเรียกร้องประชาชนชาวโลกให้ดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้แก่

หนึ่ง ต่อต้านนโยบายทั้งระดับชาติ และนานาชาติที่มุ่งถ่ายโอนบริการสุขภาพให้ภาคเอกชน และเปลี่ยนสินค้าในท้องตลาด

สอง เรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริม จัดสรรงบประมาณ และจัดบริการสาธารณสุขมูลฐานที่ครอบคลุมทุกมิติ ให้สามารถแก้ปัญหาสุขภาพอย่างได้ผลที่สุด และจัดการให้บริการสุขภาพของรัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้ถ้วนหน้าและฟรี

สาม ผลักดันรัฐบาลให้รับ ดำเนินการ และบังคับใช้นโยบายแห่งชาติด้านยา

สี่ เรียกร้องให้รัฐบาลต่อต้านการถ่ายโอนบริการสุขภาพของรัฐให้เอกชน และประกันให้มีการควบคุมบริการการแพทย์เอกชน รวมทั้งบริการการแพทย์ขององค์กรการกุศล และองค์กรเอกชน

ห้า เรียกร้องให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนขององค์การอนามัยโลก ให้ตอบสนองต่อปัญหาท้าทายด้านสุขภาพในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนยากจน หลีกเลี่ยงการทำงานแนวดิ่ง ประกันการทำงานประสานภาคส่วนต่างๆ ให้องค์กรภาคประชาชนได้เข้าร่วมในสมัชชาอนามัยโลก และประกันอิสรภาพจากผลประโยชน์ของบรรษัทต่างๆ

หก ส่งเสริม สนับสนุน และให้มีการเข้าร่วมผูกพันในปฏิบัติการที่ส่งเสริมพลังของประชาชน และการตัดสินใจเรื่องสุขภาพทุกระดับ รวมทั้งเรื่องสิทธิผู้ป่วย และสิทธิผู้บริโภค

เจ็ด ส่งเสริม รับรอง และสนับสนุนระบบการเยียวยารักษาและผู้ประกอบวิชาชีพแบบดั้งเดิมและแบบองค์รวม และผสมผสานเข้าในการสาธารณสุขมูลฐาน

แปด เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพ เพื่อให้มุ่งเน้นการแก้ปัญหา และเน้นการปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจผลกระทบระดับโลกต่อชุมชนของพวกเขามากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้ทำงานกับชุมชน และเคารพในชุมชน และความหลากหลายต่างๆ

เก้า ลดความลึกลับในเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสาธารณสุข(รวมทั้งยา) และเรียกร้องให้ต้องตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน

สิบ เรียกร้องให้การวิจัยเรื่องสุขภาพ รวมทั้งการวิจัยทางพันธุ์กรรม และการพัฒนายา ตลอดจนเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ต้องดำเนินการในลักษณะการมีส่วนร่วม ยึดความจำเป็นพื้นฐาน และโดยสถาบันที่มีความรับผิดชอบ. ควรเป็นการวิจัยที่มุ่งประโยชน์ของประชาชนและการสาธารณสุข และเคารพในหลักจริยธรรมสากล

สิบเอ็ด สนับสนุนสิทธิของประชาชนในเรื่องการอนามัยเจริญพันธุ์ และการเลือกทางเพศด้วยตนเอง และต่อต้านมาตรการบังคับทั้งปวงในนโยบายประชากรและวางแผนครอบครัว. การสนับสนุนครอบคลุมสิทธิอย่างเต็มที่ในกฎหมายเรื่องการเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล

ประเด็นสุดท้าย เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในโลกที่สุขภาพดี กฎบัตรชี้ว่า “องค์กรและภาคประชาชนที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐานให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความเป็นประชาธิปไตยโปร่งใสและรับผิดชอบมากขึ้น เป็นเรื่องจำเป็นที่สิทธิของประชาชนในเรื่องสิทธิพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจะต้องได้รับการประกัน. ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้นในการส่งเสริมสุขภาพและสิทธิมนุษยชนให้เท่าเทียมมากขึ้น โดยให้กลุ่มและขบวนการภาคประชาสังคมในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งสื่อมวลชน มีบทบาทสำคัญในการประกันพลังของประชาชน และการควบคุมการพัฒนานโยบาย และการกำกับติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย นั้น

กฎบัตรฯ เรียกร้องประชาชนชาวโลกให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้แก่

หนึ่ง สร้างและพัฒนาองค์กรประชาชนให้เข้มแข็งเพื่อเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์และปฏิบัติการ

สอง ส่งเสริม สนับสนุน และให้มีการเข้าร่วมผูกพันในปฏิบัติการที่สนับสนุนการเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการของประชาชน ในการตัดสินใจของบริการสาธารณะต่างๆ ทุกระดับ

สาม เรียกร้องให้องค์กรของประชาชนมีตัวแทนในชมรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ

สี่ สนับสนุนความริเริ่มในท้องถิ่นในกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมผ่านการก่อตั้งเครือข่ายระดับโลกของการผนึกกำลังที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชน ดำเนินการโดยขบวนการสุขภาพของประชาชน (People’s Health Movement) โดยกลไกหนึ่งคือการจัดสมัชชาสุขภาพภาคประชาชน (People’s Health Assembly) เป้าหมายสำคัญคือการทำให้ “ความฝันแห่งอัลมา-อะตา” ปรากฏเป็นจริง