posttoday

กรองข่าวมาเล่าวันนี้ เก็บควันหลงประชุมอาเซียนมาเสนอในเรื่อง"นักการเมืองกับบ้านเมือง"

27 มิถุนายน 2562

นักการเมืองไทยต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องทางการเมืองและเรื่องของบ้านเมืองหากแยกไม่ออกก็จะเสียหาย  

นักการเมืองไทยต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องทางการเมืองและเรื่องของบ้านเมืองหากแยกไม่ออกก็จะเสียหาย

.......................

โดย ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

การประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่โรงแรมแอทธินี เมื่อวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังการประชุม “เรียบร้อย”ในที่นี้หมายถึงว่าไม่มีการก่อกวน หรือเหตุการณ์รุนแรงอย่างที่เกิดเมื่อปี 2552 จะพูดวาเราแก้ตัวได้สำเร็จก็อาจเร็วเกินไป ต้องรอดูการประชุมสุดยอดอีกครั้งในครึ่งหลังของปี

ต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะนายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีที่ฝากผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนที่ท่านจะอำลาจากตำแหน่งด้วยความสมัครใจหลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยกลับมายืนผงาดในเวทีโลกได้อีกครั้ง ขอบคุณข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่เหน็ดเหนื่อยในการเตรียมงานครั้งนี้มานานนับปี และต้องเหนื่อยตลอดปี 2562 เพราะยังมีการประชุมอีกหลายเวที รวมทั้งการประชุมสุดยอดอีกครั้งหนึ่งในครึ่งหลังของปีนี้ ขอบคุณฝ่ายงานความมั่นคงทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและทำให้การประชุมครั้งนี้ราบรื่น

ข้อขัดข้องหรือความไม่พร้อมบางประการสำหรับการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนจากเสียงบ่นของนักข่าวไทยและต่างประเทศซึ่งไม่ได้รับความสะดวกในการรายงานข่าวเท่าที่ควร ถือว่าเป็นบทเรียนที่กระทรวงต่างประเทศต้องรับไปแก้ไขปรับปรุงสำหรับการประชุมครั้งต่อไป

ข่าวคราวในต่างประเทศเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็มีน้อยมาก ข่าวในเมืองไทยก็ค่อนข้างจะเงียบซึ่งเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้เพราะสื่อมวลชนทุกแขนงไปสนใจและติดตามข่าวคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นสำคัญ นอกจากนั้น คนไทยแทบไม่รู้ว่าเรากำลังเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน เพราะตามถนนหนทางซึ่งเคยประดับประดาด้วยธงชาติประเทศสมาชิกอาเซียนเกือบทุกครั้งที่ผ่าน ครั้งนี้ก็แทบไม่มีให้เห็นเลย
ที่ขาดไม่ได้หลังการประชุมคือแกนนำการเมืองฝ่ายค้านที่ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็หาเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายกรัฐมนตรีไม่อินเตอร์บ้าง ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษบ้าง ทั้งที่ปัจจุบันผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมทั้งชาติมหาอำนาจนิยมพูดภาษาชาติของตัวเองมากกว่า โดยมีการแปลผ่านเฮดโฟนหรือแจกคำแปลไปพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารแต่อย่างใด

นักการเมืองไทยบางคนไม่พลาดที่จะฉวยโอกาสนี้แสดงภูมิปัญญาของตนเองเพื่อการหาเสียง แต่แทนที่จะเป็นผลดีกับตนเองและอาเซียน กลับเป็นการขยายขี้เท่อให้คนไทยด้วยกันเห็น นั่นก็คือข้อเสนอที่จะให้อาเซียนก้าวข้ามหัวใจของอาเซียนที่ประเทศสมาชิกจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันเพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือกันได้ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้พูดไม่ได้มีการศึกษาที่มาที่ไปของประเด็นอย่างจริงจังและลึกซึ้ง สมาชิกผู้ก่อตั้งห้าชาติได้ศึกษาปัญหานี้อย่างละเอียดแล้วจึงตัดสินใจร่วมกันที่จะเชียนไว้เป็นหลักการของอาเซียน

หลักการที่ว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ทำให้อาเซียนสามารถอยู่ร่วมกันได้มาจนถึงทุกวันนี้

สมาชิกทุกประเทศต่างมีปัญหาภายในของเขาเองซึ่งเขารู้สาเหตุของปัญหาดีที่สุด หากเขาต้องการให้อาเซียนช่วยเหลือสิ่งใด เขาก็จะขอมาเอง เพื่อนสมาชิกอื่นอาจให้คำแนะนำ หรืออย่างมากที่สุดก็ “แสดงความห่วงกังวล” แต่เราจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาและกิจการภายในของเพื่อนสมาชิก หากมีการแทรกแซงกันได้ อาเซียนคงพังทลายไปนานแล้ว

การไม่แทรกแซงกิจภารภายในของกันและกัน ไม่ได้หมายถึงประเทศสมาชิกจะไม่ช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ที่ผ่านมา เมื่อเพื่อนมีปัญหา เราก็จะให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยกันได้ แต่จะไม่ไปถึงจุดที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนสมาชิก อาเซียนผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่แทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนสมาชิกเป็นสำคัญ

คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจกับนักการเมืองของตัวเอง ที่แยกแยะไม่ออกว่าอะไรเป็นเรื่อง “การเมือง” อะไรเป็นเรื่องของ “บ้านเมือง” การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างบระเทศเช่นครั้งนี้ นี่เป็นเรื่องของ “บ้านเมือง” แต่ยังมีนักการเมืองบางคนฉวยโอกาสนี้กล่าวโจมตี ใส่ร้ายป้ายสี บางคนพูดทำนองไปฟ้องแขกที่ได้รับเชิญมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าภาพและเป็นตัวแทนของประเทศไทยเป็นคนไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ พอท่านมาจากการเลือกตั้งก็กล่าวหาว่ามาจากการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ บางคนใช้วาจาหยาบคายต่อผู้นำประเทศของตนเอง ลองคิดดูซิว่า ผู้นำประเทศอื่นที่ได้รับเชิญมาเขาจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเพียงใด ที่สำคัญเขาคงดูถูกนักการเมืองไทยที่เล่นกันโดยไม่รู้กาลเทศะ

ไม่ว่าจะโกรธเกลียดกันมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อผู้นำเป็นตัวแทนประเทศไปประชุมระหว่างประเทศ หรือประชุมในเวทีสากลใด ๆ ก็ตาม คนในประเทศแม้จะโกรธเกลียดผู้นำคนนั้นควรสงบปากสงบคำ เพราะนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนนั้นกำลังไปทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประเทศไทยและประชาชนคนไทย เปรียบประหนึ่งว่า เขากำลังขึ้นต่อยมวยเพื่อผลประโยชน์ เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของประเทศ ถ้าคนไทยคอยดึงแข้งดึงขานักมวย หรือโห่ฮาป่านักมวยของตนแล้ว นักมวยจะมีกำลังใจต่อยเพื่อเอาชัยชนะกลับมาให้ประเทศชาติได้อย่างไร ถ้าไม่เชียร์ก็ควรอยู่เฉย ๆ นี่คือ “สปิริต” ของกองเชียร์ เมื่อกลับมาค่อยว่ากันใหม่ ถึงเวลานั้น จะโกรธเกลียดด่าทอหรือเอาอะไรขว้างปากันก็ว่ากันไป

ผู้เขียนเคยแสดงความเห็นตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีปัญหาภายในประเทศมากในเรื่องคดีความต่าง ๆ แต่เมื่อคุณทักษิณไปประชุมต่างประเทศ เราต้องหยุดโจมตีเขาไว้ก่อน กลับมาแล้วค่อยซัดกันใหม่ เช่นเดียวกับกรณีคุณยิ่งลักษณ์ ที่ไปต่างประเทศแต่ละครั้งเล่นเอาคนไทยใจหายใจคว่ำเพราะไม่รู้ว่าไปคราวนี้จะ “ปล่อยไก่” อะไรอีกให้คนไทยอับอายขายหน้าไปทั้งประเทศ แต่เมื่อท่านไปทำงานในฐานะตัวแทนประเทศไทย ทุกฝ่ายต้องปล่อยให้เธอทำงานให้เต็มที่ พอกลับมาแล้วค่อยซัดกันใหม่

ในการประชุมที่เมืองไทยที่เราเป็นเจ้าภาพ นักการเมืองต้องหยุดโจมตีนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนของเราไว้ชั่วคราว ไม่ว่าจะคันปากมาเพียงใดเพราะนายกรัฐมนตรีกำลังทำงานในตัวแทนของประเทศชาติ พอเลิกประชุมและแขกเดินทางกลับ ค่อยด่ากันใหม่

นักการเมืองต้องแยกให้ออกว่า อะไรเป็นเรื่องการเมือง อะไรเป็นเรื่องของบ้านเมือง อย่าเอามาปะปนกัน ไม่เช่นนั้น ประเทศจะเสียหาย ประชาชนก็จะมองนักการเมืองต่ำตมที่ไม่เคยชูคอพ้นน้ำสักที