posttoday

ส่องสถานการณ์นำเสนอ เรื่อง "40 ปี การสาธารณสุขมูลฐาน" (26)

18 มิถุนายน 2562

หมอวิชัย ถ่ายทอดเรื่องราว กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชน กำหนดขอบเขตที่กว้างขึ้นไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม  

หมอวิชัย ถ่ายทอดเรื่องราว กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชน กำหนดขอบเขตที่กว้างขึ้นไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

******************

โดย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

ข้อเรียกร้องเรื่องที่สองในกฎบัตรสุขภาพภาคประชาชน คือ ให้ต่อสู้ปัญหาปัจจัยกำหนดสุขภาพในขอบเขตที่กว้างขึ้น คือ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

ปัญหาแรก ความท้าทายทางเศรษฐกิจ

“เศรษฐกิจมีอิทธิพลกำหนดต่อสุขภาพของประชาชน. นโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม สุขภาพและสุขภาวะ สามารถปรับปรุงสุขภาพของประชาชนได้เช่นเดียวกับเศรษฐกิจ”

“นโยบายทางการเมือง การคลัง การเกษตร และอุตสาหกรรม ที่มุ่งเพื่อความต้องการของทุนนิยม ที่กำหนดโดยรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศ จะผลักประชาชนออกไปจากชีวิต และการทำมาหาเลี้ยงชีพที่ปกติสุข. กระบวนการต่างๆ ของโลกาภิวัตน์ และลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้เพิ่มความไม่เสมอภาคระหว่างประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น. หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศที่ทรงอำนาจมากที่สุดกำลังใช้ทรัพยากร รวมทั้งการลงโทษทางเศรษฐกิจ และการแทรกแซงทางการทหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และขยายอิทธิพลของพวกเขา ซึ่งก่อผลเสียหายร้ายแรงแก่ชีวิตของประชาชน”

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชนเรียกร้องประชาชนทั่วโลกให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้แก่

หนึ่ง เรียกร้องให้แปรรูปองค์การการค้าโลกและระบบการค้าโลก เพื่อให้หยุดการละเมิดต่อสิทธิของประชาชนทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพ และให้เริ่มมุ่งก่อประโยชน์ให้แก่ซีกโลกใต้. เพื่อปกป้องการสาธารณสุข การแปรรูปดังกล่าวต้องปฏิรูประบอบทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เรื่องสิทธิบัตร และข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ข้อตกลงทริปส์)

สอง เรียกร้องให้ยกเลิกหนี้ของประเทศโลกที่สาม

สาม เรียกร้องให้มีการแปรรูปแบบถอนรากถอนโคนกับธนาคารโลก และไอเอมเอฟ เพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านี้ตอบสนองและส่งเสริมเชิงรุกเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา

สี่ เรียกร้องให้มีกฎระเบียบที่มีประสิทธิผลในการสร้างความมั่นใจว่าบรรดาบรรษัทข้ามชาติต่างๆ จะไม่สร้างผลลบต่อสุขภาพของประชาชน ไม่เอาเปรียบแรงงาน ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือล่วงละเมิดอธิปไตยของชาติ

ห้า สร้างความมั่นใจว่า ภาครัฐจะดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ปรับให้เข้ากับความจำเป็นของประชาชน และไม่เป็นไปตามที่ตลาดกำหนด เพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียม

หก เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิด้านการสาธารณสุขในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

เจ็ด เรียกร้องให้มีการควบคุมและเก็บภาษีการเก็งกำไรในตลาดทุนระหว่างประเทศ

แปด ยืนยันว่านโยบายเศรษฐกิจทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อสุขภาพ ความเท่าเทียม เพศสภาพ และการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องมีมาตรการบังคับทางกฎหมายให้มีการปฏิบัติตาม

เก้า ท้าทายต่อทฤษฎีที่เห็นความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง และทดแทนด้วยทางเลือกอื่นๆ ก่อให้เกิดสังคมที่เห็นความเป็นมนุษย์และยั่งยืน. ทฤษฎีทางเศรษฐกิจควรคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสำคัญพื้นฐานเรื่องความเท่าเทียมและสุขภาพ และเป็นประโยชน์ต่อแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง โดยเฉพาะคืองานที่ถูกมองข้ามของผู้หญิง

ปัญหาด้านสังคมและการเมือง กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชนชี้ว่า “นโยบายทางสังคมที่ครอบคลุมมีผลดีต่อชีวิตและการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชน  เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ และการถ่ายโอนให้เอกชนก่อให้เกิดผลคือ การทำลายชุมชน ครอบครัว และวัฒนธรรม”

“ผู้หญิงมีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงสายใยของสังคมที่ยั่งยืนในทุกที่ แต่ความต้องการอันจำเป็นของพวกเธอถูกมองข้ามและปฏิเสธ และสิทธิของพวกเธอ และตัวพวกเธอเองถูกละเมิด”

“สถาบันสาธารณะต่างๆ ถูกบ่อนเซาะ และอ่อนแอลง หน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานเหล่านี้ถูกถ่ายโอนให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะให้แก่บรรดาบรรษัทต่างๆ หรือให้แก่สถาบันของประเทศอื่นหรือสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งแทบจะไม่รับผิดชอบต่อประชาชน. ยิ่งกว่านั้น อำนาจของพรรคการเมืองและสหภาพแรงงานต่างๆ ถูกตัดทอนลง ขณะเดียวกันพลังอนุรักษ์และพวกคลั่งสิทธิกลับเพิ่มมากขึ้น  ประชาธิปไตยแบบมีส่วนรวมในองค์กรต่างๆ ทางการเมืองและโครงสร้างภาคประชาสังคมควรดำรงอยู่ต่อไป. มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดชอบ”

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชนเรียกร้องประชาชนทั่วโลกให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้แก่

หนึ่ง เรียกร้อง และสนับสนุนการพัฒนาและการดำเนินการ นโยบายทางสังคมที่ครอบคลุมทุกมิติโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

สอง สร้างความมั่นใจว่าหญิงและชายทั้งหมดมีสิทธิเสมอภาคในการทำงาน การประกอบสัมมาชีพ การมีสิทธิในการแสดงออก มีส่วนร่วมทางการเมือง มีทางเลือกในการปฏิบัติทางศาสนา การศึกษา และปลอดจากการถูกกระทำรุนแรง

สาม กดดันรัฐบาลให้บัญญัติและบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครอง ส่งเสริม สุขภาพทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญา รวมทั้งสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชายขอบ

สี่ เรียกร้องว่า การศึกษาและสุขภาพต้องเป็นระเบียบวาระทางการเมืองที่สำคัญสูงสุด. ในการนี้จะต้องเรียกร้องให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพ ฟรี และเป็นภาคบังคับแก่ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิง และเพื่อการศึกษา และการดูแลเด็กเล็กที่มีคุณภาพ

ห้า เรียกร้องว่า กิจกรรมของหน่วยงานรัฐ เช่น สถานดูแลเด็ก ระบบกระจายอำนาจ และการเคหะ ต้องเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของบุคคลและชุมชน

หก ประณามและตอบโต้นโยบายใดๆ ที่มีผลให้มีการบังคับย้ายถิ่นของประชาชนจากผืนดิน บ้าน หรือ ที่ทำงานของพวกเขา

เจ็ด ต่อต้านพลังพวกคลั่งสิทธิที่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะชีวิตของผู้หญิง เด็ก และชนกลุ่มน้อย

แปด ต่อต้านการท่องเที่ยวทางเพศ และการค้าผู้หญิงและเด็ก