posttoday

คมคิดออนไลน์ขอเสนอ เรื่อง"ในการคำนวณ ควรหากรณี ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงมีพอดี 150 คนก่อน"

15 มิถุนายน 2562

แม้กกต.คำนวณสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อผ่านพ้นไปแล้ว แต่อดีตกกต.โคทม อารียาก็ยังมีข้อโต้แย้งที่จะนำเสนอขบคิดร่วมกัน 

แม้กกต.คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อผ่านพ้นไปแล้ว แต่อดีตกกต.โคทม อารียาก็ยังมีข้อโต้แย้งที่จะนำเสนอขบคิดร่วมกัน 

000000000000000

โดย โคทม อารียา

กกต. ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครบทั้ง 500 คนแล้ว ความสนใจของสาธารณชนย่อมมุ่งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล แต่ผมยังค้างคาใจกับสูตรการคำนวณ ส.ส. ของ กกต. เพราะสงสัยอยู่ไม่วายว่า การจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ต่อไปขอใช้ตัวย่อ ส.ส. บ/ช) ให้แก่พรรคที่มีคะแนนเสียงน้อยกว่าโควต้านั้น (1 โควต้าเทียบเท่ากับ ส.ส. 1 คน) กกต. อาศัยอำนาจตามกฎหมายข้อใด ในที่นี้ ขอให้ผู้อ่านมีความอดทนบ้าง เพราะผมจะขอใช้สูตรคณิตศาสตร์ประกอบคำอธิบาย เพื่อจะได้ช่วยกันทำความเข้าใจกับระบบนี้เป็นการทั่วไปให้ดีขึ้น หรือเพื่อพิจารณาประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อไป

กกต. ประกาศว่า พรรคการเมือง 74 พรรค ได้รับคะแนนรวมกันเท่ากับ 35,561,550 คะแนน เมื่อเอาไปหารด้วยจำนวน ส.ส. พึงมี 500 คน จะได้โควต้าเท่ากับ 71,123 คะแนน มีพรรคการเมือง 16 พรรคที่ได้คะแนนเกินโควต้า และมีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส. พึงมีเบื้องต้น เท่ากับคะแนนที่พรรคได้รับหารด้วยโควต้าเป็นจำนวนเต็มก่อน เมื่อพิจารณาจากจำนวนเต็มจะพบว่า 16 พรรคนี้พึงมีจำนวน ส.ส.เบื้องต้นรวมกันเท่ากับ 477 คน และเขียนเป็นสมการได้ดังนี้

ส.ส. พึงมีเบื้องต้นรวมทุกพรรค = จำนวนเต็ม (= 477 คนในกรณีปัจจุบัน)

เศษทศนิยมของทั้ง 74 พรรค = 500 – จำนวนเต็ม (= 500 – 477 = 23 ในกรณีปัจจุบัน) (1)

ผมสงสัยว่า “เศษทั้งหมด” จะมีหน่วยนับเป็นคนได้หรือไม่ จึงไม่ใส่หน่วยในสมการ (1)

ม. 128 (3) ให้คำนวณ ส.ส. บ/ช ของพรรคหนึ่งพรรคใดดังนี้

ส.ส. บ/ช พึงมี = ส.ส. พึงมี – ส.ส. เขต (2)

สมการ (2) ใช้ได้เมื่อไม่มีพรรคใดได้ ส.ส. เขตมากกว่า ส.ส. พึงมี เรียกว่าไม่มี overhang ในกรณีที่ไม่มี overhang เมื่อใช้สมการ (2) คำนวณ ส.ส. บ/ช พึงมีของทุกพรรค จะได้

ส.ส. บ/ช พึงมี = จำนวนเต็ม – 350 (= 500 - เศษทั้งหมด - 350 = 127 คน) (3)

สังเกตได้ว่า กรณีสมมุติที่ไม่มี overhang เป็นกรณีที่ ส.ส. บ/ช เบื้องต้นยังน้อยกว่า 150 คน โดยยังขาดอยู่เท่ากับ “เศษทั้งหมด” (23 คนในกรณีนี้) ในกรณีไม่มี overhang ม. 128 (4) ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนมากกว่าโควต้าได้รับการจัดสรรก่อน แล้วให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร ส.ส. บ/ช เพิ่มอีกหนึ่งคน จนครบ 150 คน เราเรียกวิธีนี้ว่าการปัดเศษขึ้นนั่นเอง สังเกตว่าถ้าเศษทั้งหมด (23) มากกว่าจำนวนพรรคที่ได้รับจัดสรรก่อน (16 พรรค) การปัดเศษจำเป็นจะต้องจัดสรร ส.ส. บ/ช ให้แก่พรรคที่ 17 ฯลฯ ด้วย เพื่อจะได้ ส.ส. บ/ช ครบ 150 คน

กรณีมี overhang สังเกตจากสมการ (2) ได้ว่า พรรคใดที่มี overhang จะได้ ส.ส. บ/ช เป็นลบ ดังนั้น ม. 128 (5) จึงบัญญัติให้พรรคนั้นมี ส.ส. บ/ช เป็นศูนย์ เหมือนเอา overhang ไปลบออก เมื่อย้าย overhang ไปไว้อีกข้างของสมการ (2) จะได้

ส.ส. บ/ช พึงมี = ส.ส. พึงมี – ส.ส. เขต + overhang ของพรรค (4)

เมื่อใช้สมการ (3) และ (4) คำนวณ ส.ส. บ/ช พึงมีของทุกพรรคจะได้

ส.ส. บ/ช พึงมีรวม = จำนวนเต็ม - 350 + overhang รวม(= 127 + overhang รวม)

= (500 – เศษทั้งหมด) – 350 + overhang

= 150 - เศษทั้งหมด + overhang (คน) (5)

ในกรณีปัจจุบัน เศษทั้งหมดเท่ากับ 23 และ overhang เท่ากับ 26 คน (คิดเฉพาะจำนวนเต็ม การคำนวณโดยใช้เศษ อาจได้ overhang เท่ากับ 25 คน) และ ส.ส. บ/ช พึงมีรวม = 153 คน

ถ้าสมมุติว่าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เขตเพียง 133 คน โดยนำ ส.ส. เขตที่ลดลง 3 คนนี้ ไปกระจายให้พรรคอื่น โดยสมมุติผลคะแนนอื่น ๆ เหมือนเดิม ในกรณีนี้ เราทำให้ overhang เท่ากับ 23 คน หรือเท่ากับ เศษทั้งหมดพอดี จึงกล่าวเป็นการทั่วไปได้ว่า

เมื่อ เศษทั้งหมด = overhang; จะได้ ส.ส. บ/ช พึงมีรวม = 150 คน (6)

ขอเรียกกรณีนี้ว่า “ส.ส. บ/ช พึงมีพอดี” ไม่ต้องปัดเศษขึ้นโดยใช้ ม. 128 (6) และไม่ต้องใช้บัญญัติไตรยางค์เพื่อลด ส.ส. บ/ช ที่เกิน 150 คน ลงมาโดยใช้ ม. 128 (7) เมื่อเป็นกรณีพอดี ก็จัดสรร ส.ส. บ/ช ตามจำนวนเต็มที่แต่ละพรรคพึงมี ในกรณีพอดี จำนวนพรรคที่มี ส.ส. คือจำนวนพรรคที่มีคะแนนเสียงเท่ากับหรือมากกว่าโควต้า ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า ในกรณี ส.ส. บ/ช พอดี พรรคที่มี ส.ส. จะมีเพียง 16 พรรค กรณี overhang เปลี่ยนไปเล็กน้อย (เช่น เปลี่ยนมาเป็นกรณีปัจจุบัน) ย่อมไม่เป็นเหตุให้จำนวนพรรคที่มี ส.ส. กระโดดจาก 16 พรรค ไปเป็น 26 พรรคตามสูตรของ กกต.

อันที่จริง กกต. ควรหากรณี ส.ส. บ/ช พอดีก่อน จึงจะบอกได้ว่าจะใช้ ม. 128 (6) หรือ ม. 128 (7) และเมื่อใช้ ม. 128 (7) ก็ต้องยอมรับว่าเป็นกรณี ส.ส. บ/ช เกินเล็กน้อย และจำนวนพรรคที่มี ส.ส. ต้องอยู่ประมาณ 16 พรรค และบัญญัติไตรยางค์ที่ใช้ต้องปรับจำนวน ส.ส. ที่เกิน (พิจารณา จำนวนเต็มก่อน) จาก 153 คนเป็น 150 คน โดยใช้ตัวคูณ 150 ÷ 153 ไม่ใช่ใช้ 150 ÷ (150 + overhang) เป็นตัวคูณ (ตามสูตร กกต.) ซึ่งจะกดตัวเลขจำนวนเต็มลงมามาก เหมือนเป็นกรณีไม่มี overhang การทำเช่นนี้เท่ากับว่า กกต. เปลี่ยนกรณี ส.ส. บ/ช เกินเล็กน้อย เป็นกรณี ส.ส.บ/ช ขาดไปประมาณเท่ากับ “เศษทั้งหมด” แล้ว กกต. ก็ดึง ส.ส. บ/ช ที่สมนัยกับคะแนนเต็มตามโควต้าจากหลายพรรค ไปจัดสรรให้แก่พรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าโควต้า ทั้งนี้ กกต. บอกว่าทำตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องตอบคำถามด้วยว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงใด

จริงอยู่ กรณีสมมุติที่ overhang ต่ำกว่ากรณี ส.ส. บ/ช พอดี จะเป็นกรณี ส.ส. บ/ช ยังขาดอยู่ และถ้ายังขาดอยู่มากพอสมควร ก็จำเป็นต้องจัดสรร ส.ส. โดยวิธีปัดเศษ ตาม ม. 128 (6) ให้แก่พรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าโควต้าได้ ทั้งนี้ เมื่อ ส.ส. บ/ช ยังขาดอยู่ ก็ไม่มี “ผู้เสียหาย” เพราะไม่มีการดึง ส.ส. บ/ช พึงมีจากพรรคใด มีแต่จะเพิ่มให้ อีกทั้ง ม. 128 (6) ยังบัญญัติว่า “ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน” ซึ่งอาจใช้อ้างอิงได้ ต่างจาก ม. 128 (5) และ (7) ที่ตีความได้ว่า ห้ามจัดสรร ส.ส. บ/ช แก่พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าโควต้า

อันที่จริง ความเห็นของผมกับของ กกต. แตกต่างกันตั้งแต่การตีความ ม. 128 (1) ซึ่งเขียนว่า “ในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง” กกต. เลยอ้างว่าการคำนวณ ส.ส. บ/ช พึงมีให้รวมเศษทศนิยมไปด้วย จึงตีความว่า ส.ส. บ/ช พึงมีเท่ากับ ส.ส. บ/ช ตามจำนวนเต็ม + เศษทั้งหมด ทำให้กลายเป็นกรณี ส.ส. บ/ช เกินในทุกกรณี (เท่ากับว่าเขียน ม. 128 (6) ไปเสียเปล่า) แต่ผมตีความว่า ในกรณีที่ต้องการจำนวนเต็ม ก็ใช้จำนวนเต็มที่ไม่มีเศษได้ อนึ่ง กรณีเป็นการหาตัวคูณทางบัญญัติไตรยางค์เพื่อนำไปปรับอัตราส่วน นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการมีเศษมากหรือน้อยของบรรดาพรรคการเมือง ดังนั้น ผมจึงขอตีความว่า เราใช้เศษทศนิยมสี่ตำแหน่งเพื่อการคำนวณระหว่างทาง เช่น เพื่อการปัดเศษ เป็นต้น

สรุปก็คือ กกต. พึงหากรณี ส.ส. บ/ช พอดีให้ชัดเจนก่อน แล้วจึงแจ้งได้ว่า จะใช้ ม. 128 (6) หรือ (7) มิใช่ข้ามไปใช้ ม. 128 (7) โดยตีความว่าเป็นกรณี ส.ส. บ/ช เกิน เสมอไป กรณี ส.ส. บ/ช พอดีนั้น เป็นหมุดหมายว่าจำนวนพรรคที่มี ส.ส. จะมีประมาณกี่พรรค แล้วจึงมาตีความการคำนวณตัวคูณของ ม.128 (7) ให้สอดคล้องกันกับตรรกและลายลักษณ์อักษร และหากตีความตามที่ผมเสนอในที่นี้ ผลพวงทางการเมืองก็คือ พรรคที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จะมี ส.ส. เพียง 247 คนกระมัง