posttoday

คมคิดออนไลน์วันนี้ หมอวิชัย ขอนำเสนอ 40 ปีการสาธารณสุข(25)

11 มิถุนายน 2562

นับเนื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั่วโลกขบวนการสุขภาพภาคประชาชนมีผลอย่างชัดแจ้ง

นับเนื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั่วโลกขบวนการสุขภาพภาคประชาชนมีผลอย่างชัดแจ้ง

*************

โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

การประชุมที่แอสทานาครั้งนี้ “ขบวนการสุขภาพภาคประชาชน” (People’s Health Movement) ได้มีการเผยแพร่ “กฎบัตรเพื่อสุขภาพภาคประชาชน” (People’s Charter For Health) ในที่ประชุมมีเนื้อหาสนับสนุนปฏิญญาอัลมา-อะตา โดยมีเนื้อหาจำนวนมากนอกเหนือจากปฏิญญาแอสทานา จึงสมควรรับทราบว่า “เสียง” ของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสุขภาพ มีเนื้อหาอย่างไรบ้าง

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชน เริ่มต้นด้วยคำปรารภดังนี้

“สุขภาพเป็นประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เรื่องหนึ่ง และเหนืออื่นใดเป็นสิทธิมนุษยชน. ความไม่เสมอภาค ความยากจน การเอารัดเอาเปรียบ ความรุนแรง และความยุติธรรม คือ รากเหง้าของการเสื่อมสุขภาพและความตายของคนยากจน และประชาชนชายขอบ. สุขภาพดีถ้วนหน้าหมายความว่า (1) ผู้มีผลประโยชน์ครอบงำจะต้องถูกท้าทาย (2) โลกาภิวัตน์จะต้องถูกต่อต้าน และ (3) ลำดับความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก. กฎบัตรฉบับนี้สร้างขึ้นจากทัศนวิสัยของประชาชนที่เสียงของพวกเขาแทบไม่มีใครได้ยินมาก่อนเลย. กฎบัตรนี้เร่งเร้าให้ประชาชนพัฒนาคำตอบของพวกเขาเอง และเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น รัฐบาลของประเทศต่างๆ องค์การ และบรรษัทระหว่างประเทศ”

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชนได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า

“ความเท่าเทียม การพัฒนาที่ยั่งยืนและเคารพต่อระบบนิเวศและสันติภาพ เป็นหัวใจของวิสัยทัศน์ของเราที่จะได้เห็นโลกที่ดีกว่าเดิม — โลกที่มีชีวิตที่สุขภาพดีถ้วนหน้าเป็นเรื่องจริง โลกที่เคารพ ชื่นชม และ สรรเสริญทุกชีวิต และทุกความหลากหลาย โลกที่เปิดทางให้ดอกไม้แห่งอัจฉริยภาพ และความสามารถของผู้คนได้เติมคุณค่าให้แก่กันและกัน โลกที่เสียงของประชาชนนำไปสู่การตัดสินใจที่กำหนดชีวิตของพวกเรา. โลกมีทรัพยากรที่มากเกินพอเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์นี้”

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชนได้เสนอภาพวิกฤตสุขภาพโดยยกคำกล่าวหนึ่งจากอเมริกากลางว่า “ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความตาย สร้างความโกรธแค้นให้แก่พวกเราทุกวัน. ไม่เพียงเพราะมีประชาชนเจ็บป่วย หรือเพราะมีคนตาย. เราโกรธเพราะความเจ็บป่วยและความตายจำนวนมากมีต้นตอมาจากนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจที่ครอบงำพวกเรา”

กฎบัตรฯ ได้สาธยายถึงวิกฤตสุขภาพว่า

“ช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีผลอย่างชัดแจ้งต่อสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพและบริการทางสังคมอื่นๆ ของประชาชน”

“แม้จะมีความมั่งคั่งมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความยากจนและอดอยากยังคงเพิ่มขึ้น. ช่องว่างระหว่างชาติที่ร่ำรวยและยากจนถ่างกว้างขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาความไม่เสมอภาคภายในชาติต่างๆ ระหว่างชนชั้นทางสังคม ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง และระหว่างผู้เยาว์กับผู้สูงอายุ”

“ประชากรส่วนใหญ่ในโลกยังคงเข้าไม่ถึงอาหาร การศึกษา น้ำดื่มที่ปลอดภัย การสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย ที่ดินและทรัพยากร การจ้างงานและบริการสุขภาพ. ยังคงมีการเลือกปฏิบัติอยู่ทั่วไป. มันมีผลต่อทั้งการทำให้เกิดโรคและการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ”

“ทรัพยากรธรรมชาติในโลกกำลังลดลงในอัตราที่น่าตระหนก. ผลของการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมคุกคามสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะคนยากจน. มีการก่อตัวของความขัดแย้งเพิ่มขึ้นขณะที่อาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงยังคงเป็นภัยคุกคามอันเลวร้าย”

“ทรัพยากรของโลกกำลังเข้าไปอยู่ในมือของคนไม่กี่คนที่มุ่งหากำไรสูงสุดมากขึ้นทุกที. นโยบายเสรีนิยมใหม่ทางการเมืองและเศรษฐกิจถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลที่ทรงอำนาจไม่กี่ประเทศ และโดยสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารโลก ไอเอมเอฟ และองค์การการค้าโลก. นโยบายเหล่านี้ ผนวกกับกิจกรรมที่ไร้กฎเกณฑ์ของบรรษัทข้ามชาติ มีผลร้ายแรงต่อชีวิต การทำมาหาเลี้ยงชีพ สุขภาพ และสุขภาวะของประชาชนทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้”

“บริการสาธารณะ ไม่สามารถตอบสนองความจำเป็นต่างๆ ของประชาชน เพราะมันเสื่อมโทรมลงเนื่องจากรัฐบาลตัดงบประมาณด้านสังคมลง. บริการสุขภาพเข้าถึงได้น้อยลง กระจายอย่างไม่เท่าเทียมและไม่เหมาะสมมากขึ้น”

“นโยบายถ่ายโอนให้เอกชน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นและบ่อนเซาะหลักการสำคัญเรื่องความเท่าเทียม. การคงอยู่ของโรคที่ป้องกันได้ การอุบัติซ้ำของโรคอย่างวัณโรคและมาลาเรีย และการระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างเชื้อเอชไอวี / เอดส์ คือ เครื่องเตือนใจที่ชัดแจ้งว่าโลกขาดความยึดมั่นต่อหลักการเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรม”

หลักการแห่งกฎบัตรสุขภาพภาคประชาชนกำหนดว่า

หนึ่ง การบรรลุถึงสุขภาพและสุขภาวะในระดับสูงสุดเท่าที่จะพึงบรรลุได้เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องสีผิว ภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ศาสนา เพศสภาพ อายุ ความสามารถ ทัศนคติเรื่องเพศ (Sexual orientaition) หรือ ชนชั้น

สอง หลักการต่างๆ ของการสาธารณสุขมูลฐานที่ครอบคลุมและถ้วนหน้า ที่ได้ประกาศกำหนดไว้ในปฏิญญาอัลมา-อะตา พ.ศ. 2521 ควรเป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพ. บัดนี้มีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะต้องมีการเข้าร่วมที่เท่าเทียม และระหว่างภาคส่วนต่างๆ เรื่องสุขภาพและบริการสุขภาพ

สาม ภาครัฐมีความรับผิดชอบพื้นฐานที่จะต้องสร้างความมั่นใจเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และบริการทางสังคมอื่นๆ ที่ได้มาตรฐาน ตามความจำเป็นของประชาชนโดยไม่ขึ้นกับความสามารถในการจ่ายของประชาชน

สี่ การมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์กรภาคประชาชนเป็นส่วนสำคัญต่อการวางแผน ดำเนินการ และประเมินผลนโยบายและแผนงานด้านสุขภาพและสังคมทั้งหมด

ห้า สุขภาพถูกกำหนดโดยการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และลักษณะกายภาพของสิ่งแวดล้อม และควรมีลำดับความสำคัญสูงสุดในการกำหนดนโยบายของทั้งท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติ โดยพิจารณาควบคู่ไปกับเรื่องการพัฒนาที่เท่าเทียม และยั่งยืน

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชน เรียกร้องว่า “เพื่อต่อสู้กับวิกฤตสุขภาพโลก เราจำเป็นต้องดำเนินการในทุกระดับ — ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน ประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก — และในทุกภาคส่วน. โดยเรียกร้องให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป”

เรื่องแรก สุขภาพในฐานะสิทธิมนุษยชน

“สุขภาพ คือ ภาพสะท้อนการมีพันธะของสังคมต่อเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรม. สุขภาพ และสิทธิมนุษยชนควรมีความสำคัญเหนือกว่าเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง”

กฎบัตรสุขภาพภาคประชาชน เรียกร้องให้ประชาชนทั่วโลก ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้แก่

ข้อแรก สนับสนุนทุกความพยายามเพื่อให้เกิดสิทธิเรื่องสุขภาพ

ข้อสอง เรียกร้องให้รัฐบาล และองค์การระหว่างประเทศปรับปรุง ดำเนินการ และบังคับให้เป็นไปตามนโยบาย โดยเคารพต่อสิทธิเรื่องสุขภาพ

ข้อสาม สร้างกระบวนการที่มีฐานการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เพื่อกดดันรัฐบาลให้ผนวกเรื่องสุขภาพ และสิทธิมนุษยชนเข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของประเทศ

ข้อสี่ ต่อสู้กับระบบที่หาประโยชน์จากความจำเป็นด้านสุขภาพเพื่อการค้ากำไร