posttoday

คอลัมน์ซอยสวนพลู ขอวินิจฉัย "โรคเบื่อ คสช. ร้ายแรงอย่างไร"

26 พฤษภาคม 2562

“โรคเบื่อผู้นำ” เป็นความขัดแย้งทางการเมืองในระดับเบื้องต้น ถ้าปล่อยให้ลุกลามต่อไปอาจจะกลายเป็น “มะเร็งการเมือง”หรือความขัดแย้งทางการเมืองในขั้นที่รุนแรงที่สุดต่อไปก็ได้

“โรคเบื่อผู้นำ” เป็นความขัดแย้งทางการเมืองในระดับเบื้องต้น ถ้าปล่อยให้ลุกลามต่อไปอาจจะกลายเป็น “มะเร็งการเมือง”หรือความขัดแย้งทางการเมืองในขั้นที่รุนแรงที่สุดต่อไปก็ได้

************

โดยทวี สุรฤทธิกุล 

“โรคเบื่อผู้นำ” เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง

“โรคเบื่อผู้นำ”เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาอย่างหนึ่งในทางการเมือง ในทางรัฐศาสตร์มีการเรียนการสอนกันมาว่า โรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความขัดแย้งทางการเมือง”(Political Conflict)ที่เกิดจากความไม่พอใจของผู้ใต้ปกครองต่อผู้ปกครอง ที่เป็นธรรมชาติของระบบการเมืองโดยทั่วไป และเกิดมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มก่อตัวเป็นสังคม โดยสังคมในระดับเล็กที่สุดคือ “ครอบครัว”นั้น ก็มีภาวะของความขัดแย้งอยู่ในสังคมมาตั้งแต่แรกเกิด เช่น การที่เด็กร้องไห้โยเยเรียกร้องความสนใจ หรือการที่ลูกๆ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เป็นต้น พอมาเป็นสังคมชุมชน หมู่บ้าน จนถึงระดับประเทศชาติ ความขัดแย้งในสังคมเหล่านั้นก็มีเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่เราอาจจะเรียกความขัดแย้งในทุกสังคมนี้ได้ว่าเป็น “อนิจจังแห่งสังคม” เช่นเดียวกันกับที่เราเรียกการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ว่า เป็น “อนิจจังของชีวิต”

สาเหตุของความขัดแย้งในทางการเมืองก็ต้องย้อนไปศึกษาในผลงานของฌอง ฌาร์ค รุซโซ ปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเมื่อต้นศตวรรษที่ ๑๘ ที่กล่าวว่ามนุษย์เป็นสัตว์เสรี แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันก็เหมือนถูกพันธการ คือต้องมาถูกผูกมัดอยู่ด้วยกฏเกณฑ์ทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี จารีตทางการปกครอง รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ดังนั้นเพื่อแสวงหาเสรีหรือความอิสระ มนุษย์จึงพยายามดิ้นรนต่อสู้ ซึ่งถ้าผู้ปกครองตอบสนองได้ดี สังคมการเมืองก็จะมีเสถียรภาพราบรื่น แต่ถ้าผู้ปกครองตอบสนองได้ไม่เป็นที่พอใจ สังคมการเมืองก็จะมีแต่ความขัดแย้ง มนุษย์จึงต้องมาหาทางตกลงร่วมกัน โดยการทำสัญญาร่วมกันที่เรียกว่า Social Contract หรือ “สัญญาประชาคม”

อันเป็นที่มาของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองด้วยระบบ “พันธะสัญญา”ที่ทั้งฝ่ายผู้ปกครองและฝ่ายผู้ใต้ปกครองต้องมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมการเมืองนั้นให้ได้ให้มากที่สุด เพราะแท้จริงแล้วความขัดแย้งก็ไม่ได้หมดไปจากสังคมการเมือง เพียงแต่สามารถควบคุมและจัดการได้ ด้วยการสร้างระบบขึ้นมา ซึ่งต่อมานักกฎหมายชาติเดียวกันที่ชื่อมองเตสกิเออร์ ก็ได้ขยายความว่านี่คือระบบ “นิติรัฐ” ซึ่งก็คือระบบการเมืองที่ปกครองด้วยกฎหมายนั่นเอง

ถ้าเราศึกษาการเมืองไทยด้วยทฤษฎีข้างต้น ก็พอจะมองได้ว่าความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในการเมืองไทยทุกวันนี้ เป็นเรื่อง “จิ๊บๆ”เพราะเรายังเป็น “นิติรัฐ”คือ คสช.นั้นแม้จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ก็พยายามใช้กฎหมายอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ได้ชื่อว่ากำลังทำการปกครอง “ด้วยกฎหมาย”แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ คสช.เกิด “บ้าอำนาจ”คือใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือละเมิดแทรกแซงการใช้กฎหมาย ภาษาชาวบ้านก็คือ “เบ่ง”ใช้อิทธิพลนอกเหนือกฎหมาย เมื่อนั้นนั่นแหละที่จะเป็น “จุดจบ”ของ คสช. เพราะผู้ใต้ปกครองก็จะไม่เคารพกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน อย่างที่ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรียุคทุนสามานย์ ที่บ้าอำนาจละเมิดกฎหมาย กระทำทุจริตคอร์รัปชั่น (กระทั่งเหิมเกริมคิดอาจเอื้อมถึงเบื้องสูง ซึ่งนั่นก็คือการละเมิด “กฎหมายใหญ่”ของสังคมไทย ที่เรียกว่า “ความจงรักภักดี”)อันนำมาซึ่งความหายนะของครอบครัวสกุลนี้

อย่างไรก็ตาม “โรคเบื่อผู้นำ”ที่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองในระดับเบื้องต้น ถ้าปล่อยให้ลุกลามไปก็อาจจะกลายเป็น “มะเร็งการเมือง”หรือความขัดแย้งทางการเมืองในขั้นที่รุนแรงที่สุดต่อไปก็ได้ ดังที่เราได้เห็น “โรคเบื่อคณะราษฎร”ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ “โรคเบื่อทหาร”ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร “โรคเบื่อป๋า”และ “โรคเบื่อ รสช.”ในยุคยี่สิบสามสิบกว่าปีมานี้ กระทั่งหลังสุดก็คือ “โรคเบื่อสกุลชิน”ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ“ผู้นำ”ที่คิดหาทางลง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จบ “ไม่ค่อยสวย”เว้นแต่บางท่านที่รู้จังหวะและหาทางลงได้อย่างปลอดภัย แต่กระนั้นก็สร้างความบอบช้ำให้กับสังคมไทยอยู่มากพอสมควร ดังจะเห็นได้จากความล้มลุกคลุกคลานและยังไปไม่ถึงไหนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย

สงครามการเมืองไทยที่ผ่านมา เมื่อตอนก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นการต่อสู้เพื่อที่จะ “ไม่เอานักการเมือง(บางประเภท)” แต่ต่อมาผู้นำในฝ่ายรัฐประหารนั่นเองกลับหันไปเอาด้วยกับ “นักการเมืองบางประเภท”ดังกล่าว จึงทำให้ผลการเลือกตั้งใน วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ สะท้อนภาพความขัดแย้งนี้ขึ้นอมาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองส่วนหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย”แม้ว่าในฝ่ายนี้จะมี “นักการเมืองบางประเภท”ร่วมอยู่ด้วยก็ตามที แต่จากการที่ผู้คนในฟากฝ่ายนี้ได้สร้างวาทกรรม “ไม่เอา คสช. –ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ”ขึ้นมา ก็ทำให้กระแสการเมืองในด้านที่ต่อต้าน คสช. คือทหาร และนักการเมืองในฝ่ายที่สนับสนุนทหารนั้น กลายเป็น “เป้าใหญ่”ขึ้นมาทันที

“ปรากฏการณ์เป้าใหญ่”นี่เองที่เป็นอันตรายสำหรับผู้นำที่ครองอำนาจอยู่ ดังเช่นที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยเป็นเป้าใหญ่ของการที่ไม่เอา “พวกชังเจ้า”จอมพลถนอม กิตติขจร เคยเป็นเป้าใหญ่ของการไม่เอา“ทรราชย์”หรือ รสช.เคยเป็นเป้าใหญ่ของการไม่เอา “ผู้ตระบัดสัตย์”และนี่ คสช.ก็กำลังเป็นเป้าใหญ่ของ “การไม่เอาผู้สืบทอดอำนาจ”

ปรากฏการณ์นี้กำลังขยายตัวท่ามกลาง “กระแสบน”คือสื่อหลักและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย และ “กระแสล่าง”คือสื่อโซเชียลมีเดียและการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลับ ซึ่งก็แน่นอนว่ามีแนวโน้มมุ่งโจมตีไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่ง “การเมืองในระบบ”คือการเมืองที่เกิดจากการเลือกตั้งยังเต็มไปด้วยภาวะความวุ่นวายสับสนอยู่เช่นนี้ ก็ยิ่งจะเพิ่มความเบื่อหน่ายนี้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่สุด “การเมืองนอกระบบ”ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในที่สุด เพียงแต่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชิงลงมือ “เข้าจัดการ”สถานการณ์นี้ก่อน ดูเหมือนว่าฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐคือ คสช.นั้น “ได้เปรียบ”อยู่มาก จึงเป็นไปได้ว่า คสช.อาจจะถือเอาสถานการณ์นี้มาเป็นข้ออ้าง เพื่อ “จัดการอำนาจ”เสียใหม่ โดยไม่ต้องอาศัยองค์กรอิสระที่กำลัง “มึน”กับการจัดการคดีความต่างๆ ของฝ่ายที่ไม่เอาทหาร ที่จะทำให้ดูเหมือน คสช.เข้าแทรกแซงระบบนิติรัฐ และอาจจะ “ช้าเกินแกง”คือไม่ทันการณ์ที่จะขัดขวางการเติบโตของ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

แต่ คสช.ก็อย่าลืมว่าคนพวกนี้เชื่อว่า “ตายสิบ เกิดแสน” นะขอรับ