posttoday

หมอดูรัฐศาสตร์ : (๖) ชะตากรรมระบบรัฐสภาไทย

19 พฤษภาคม 2562

“ความเป็นแกนนำ”ของพรรคพลังประชารัฐถ้าจะเกิดมีขึ้นอย่างแท้จริง ก็ต้องพิจารณาด้วย “ชัยชนะ” ในการควบคุมการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

“ความเป็นแกนนำ”ของพรรคพลังประชารัฐถ้าจะเกิดมีขึ้นอย่างแท้จริง ก็ต้องพิจารณาด้วย “ชัยชนะ” ในการควบคุมการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

***********

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

รู้ว่าอำนาจคือหลุมดำ แต่เวรกรรมยังอยากเข้า

บทความนี้เขียนในช่วงที่นักการเมืองในฝ่ายที่อยากจะเป็นรัฐบาลกำลัง “ฟัด” กันอย่างอุตลุด เพื่อแย่งชิงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาล ในขณะที่นักการเมืองในฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็กำลัง “รุมยำ”กกต.ในเรื่องการประกาศรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ดูทีท่าว่าจะเป็นเรื่องยาว และอาจจะต้องมีคนติดคุก และในช่วงนี้เช่นกันที่กำลังจะมีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร (ถ้าเปิดได้)ซึ่งก็จะทำให้ได้ทราบถึงการจับขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างชัดเจน แต่ที่น่าดูน่าชมที่สุดก็คือ พรรคที่ว่าเป็นแกนนำนั้นจะเป็น “แกนนำ”จริงหรือไม่

จากข่าวสารที่ปรากฏ เชื่อกันว่าพรรคพลังประชารัฐนี้คือ “แกนนำ”ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยจะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้ตั้งเป็นแคนดิเดตไว้ โดยจะมีพรรคอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยอีกหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคเล็กๆ ที่มี ส.ส. ๑ - ๓ คน (อาจจะเพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีที่ไป โดนบีบ หรือ “อยาก” จะเป็นอยู่แล้ว) แต่พรรคระดับรองๆ คือพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แม้ในขณะนี้จะดูเหมือนว่ายัง “ดีดดิ้น” เล่นตัวอยู่ แต่ด้วย “มนตร์เสน่ห์”แห่งตำแหน่งในรัฐบาล(ถ้าเรียกร้องได้ตามต้องการ) ก็คงจะมาเข้าร่วมในที่สุด

อย่างไรก็ตาม “ความเป็นแกนนำ”ของพรรคพลังประชารัฐถ้าจะเกิดมีขึ้นอย่างแท้จริง ก็ต้องพิจารณาด้วย “ชัยชนะ” ในการควบคุมการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก โดยพิจารณาใน ๒ ส่วน คือ ส่วนแรก ส.ส.คนใดจากพรรคการเมืองใดได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และอีกส่วนหนึ่ง มี ส.ส.จำนวนเท่าใด จากพรรคใด มาลงคะแนนให้บ้าง แล้วเราก็จะวิเคราะห์ได้ว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจริงหรือไม่

คือถ้าพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำที่แท้จริงแล้ว ผู้ที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ควรที่จะเป็น ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากการปกครองในระบอบรัฐสภา ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นตำแหน่งของพรรคการเมืองเสียงข้างมากที่เป็นผู้นำรัฐบาล เพื่อช่วยควบคุมการทำงานในสภาให้แก่รัฐบาล อันจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพราบรื่น และดูแลการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ถ้า “เกมพลิก”คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไปตกแก่ ส.ส.จากพรรคการเมืองในระดับรองๆ (หรือแม้กระทั่งแก่พรรคเล็กๆ เช่น ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่นายอุทัย พิมพ์ใจชนม์ หัวหน้าพรรคก้าวหน้า ซึ่งมี ส.ส.แค่ ๓ คน แต่ก็ได้รับคะแนนจาก ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ) นั่นก็จะแสดงว่าพรรคพลังประชารัฐจำต้องยอมให้พรรคที่มี ส.ส.น้อยกว่าได้ตำแหน่งนี้ไป เพื่อให้พรรคนั้นๆ อยู่ร่วมในรัฐบาล หรือไม่ก็เป็นการแลกเปลี่ยนกับตำแหน่งในรัฐบาล ที่พรรคในระดับรองๆ นั้นอาจจะไม่ได้ตำแหน่งในการะทรวงที่ต้องการ ทั้งนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว ตามรัฐธรรมนูญตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็มีฐานะเทียบเท่านายกรัฐมนตรี เพราะเป็นหัวหน้าของ ๑ ใน ๓ ส่วนของอำนาจอธิปไตย คือนายกรัฐมนตรีในฝ่ายบริหาร ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฝ่ายนิติบัญญัติ และประธานศาลฎีกาในฝ่ายตุลาการ จึงถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงมาก (โดยมีสายสะพายถึงชั้นปฐมจุลจอมเกล้าเท่าเทียมกัน)

หรือถ้าเกิด “เกมช็อคโลก”คือประธานสภาผู้แทนราษฎรกลายเป็น ส.ส.ในฝ่ายที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ซึ่งในขณะนี้ก็มีความพยายามที่จะจับมือกันของพรรคการเมืองในฝ่ายที่ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐบางพรรค เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศจะปิดสวิชท์ ส.ว.(คือไม่ให้เสียงที่ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดผลสำเร็จ) ก็อาจจะมีการรวมเสียงกันลองท้าทายกับฝ่ายที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล เพราะเสียงในสภาขณะนี้ยังเกาะกลุ่มกันไม่ชัดเจน จึงยังไม่มีความมั่นคงว่าบางกลุ่มบางพรรคจะไปเข้าด้วยกับฝ่ายใด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเป็น “เกมขนหัวลุก” อย่างแน่นอน

ถ้าการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรมีปัญหา ก็มีโอกาสเป็นไปได้อย่างมากว่า การรวมขั้วกันของพรรคการเมืองต่างๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะมีปัญหา คือ “จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”นั่นก็คือในการลงคะแนนที่จะรับรองผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะมีปัญหาด้วย สภาพการณ์อย่างนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “เดดล็อค” หรือ “ขังตาย”คือทำอะไรไม่ได้ ไปไม่เป็น และพบจุดจบ ซึ่งหลายคนก็เป็นห่วงว่าแล้วจะทำอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป อย่างที่เรียกว่า “ขนหัวลุก” นั่นเอง

ผู้เขียนก็อยู่ในจำนวนหนึ่งของคนที่ “ขนหัวลุก”นั้นด้วย แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้ไป “สนทนาธรรม”กับเพื่อนคอการเมืองคนหนึ่ง เขาให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า “เราเป็นพุทธศาสนิกชน อะไรจะเกิดมันต้องเกิด”โดยเขาเชื่อว่าการเมืองไทยไม่มีวันเดดล็อค เดี๋ยวมันก็ต้องมีที่ไป มีทางออก และแก้ไขปัญหามันได้เรื่อยๆ อาจจะดีขึ้นหรือเลวลง ก็ขึ้นอยู่กับ “เวรกรรมของประเทศ” ที่คนไทยได้สร้างร่วมกันมา ซึ่งเขาเชื่อว่า ประเทศไทยมี “กรรมดี” มากกว่า “กรรมเลว”สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่รุนแรง หลายครั้งที่เราเกือบจะถึงทางตันหรืออยู่ในภาวะวิกฤติ เราก็พากันหลุดพ้น และก้าวต่อไปได้ใหม่เสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้น บางครั้งก็ดีขึ้น บางครั้งก็เลวลง นั่นก็คือการเมือง แต่ชีวิตผู้คนนั้นยังเดินหน้าต่อไป ชีวิตยังคงเวียนว่ายอยู่ในการเกิด แก่ เจ็บตาย ฉันใด การเมืองซึ่งก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอยู่เรื่อยๆ ฉันนั้น

การเมืองยังดีกว่าชีวิตมากนัก ชีวิตนั้นเลือกเกิดไม่ได้ ใครจะเป็นพ่อเป็นแม่เราก็เลือกไม่ได้ แต่การเมืองเรายังเลือกผู้ปกครองได้ นั่นก็คือเรายังเลือกที่จะมีอนาคตอย่างไรได้ด้วย

แค่ทำใจให้ว่าง อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เอวังก็มีด้วยประการะฉะนี้